กรณีศึกษา แบรนด์ Supreme

กรณีศึกษา แบรนด์ Supreme

6 มิ.ย. 2018
กรณีศึกษา แบรนด์ Supreme / โดย ลงทุนแมน
ถ้าให้บอกชื่อแบรนด์ที่สะดุดตา
แบรนด์ชื่อว่า Supreme น่าจะเป็นหนึ่งในนั้น
ทำไมแบรนด์ Supreme ถึงเกิดขึ้นมาได้
และมีชื่อเสียงได้ขนาดนี้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เมื่อปลายปีที่แล้ว
Supreme ได้ขายหุ้นจำนวน 50% ให้กับ The Carlyle Group ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนสัญชาติอเมริกันในมูลค่าสูงถึง 16,000 ล้านบาท
แปลว่า มูลค่ากิจการของ Supreme ถูกตีราคาสูงถึง 32,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
แม้ว่าตอนนี้แบรนด์ Supreme จะถูกให้มูลค่าที่สูงขนาดนี้
แต่รู้หรือไม่ว่าจุดเริ่มต้นของแบรนด์นี้ กลับมาจากจุดเริ่มต้นที่แสนธรรมดา
James Jebbia เป็นชาวอังกฤษที่มีชีวิตในวัยเด็กไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่
พ่อของเขาทำงานเป็นทหารของกองทัพอากาศ ส่วนแม่ของเขาเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ
ทั้งสองคนหย่ากันตอน James อายุเพียง 10 ขวบเท่านั้น
พออายุได้ 19 ปี James เข้ามาหางานทำที่ประเทศสหรัฐอเมริกา
เนื่องด้วยที่เขาเป็นคนที่ชื่นชอบเรื่องการออกแบบเสื้อผ้าอยู่แล้ว
เขาจึงได้งานเป็นพนักงานร้านเสื้อผ้าชื่อ “Parachute” ในย่าน SoHo
พอเก็บเงินไปได้สักพัก เขาก็เริ่มรู้สึกว่าอยากมีร้านขายเสื้อผ้าเป็นของตัวเอง
ในปี 1989 ร้าน Union NYC ของเขาจึงได้ถูกตั้งขึ้นบนถนน Spring Street
ลักษณะธุรกิจของร้านคือ การนำเสื้อผ้าแบรนด์จากอังกฤษอย่าง Duffer of St. George และ Fred Perry มาวางขาย รวมถึงแบรนด์ Streetwear ที่ได้รับความนิยมสูงอย่าง Stüssy
จากการนำเข้าเสื้อผ้าครั้งนี้ ทำให้เขาได้รู้จักกับ Shawn Stussy ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ Stüssy
ภายหลัง James ได้ขายร้าน Union NYC และไปช่วยดูแลสาขาของร้าน Stüssy ที่มาเปิดสาขาที่อเมริกา
เมื่อเวลาผ่านไป เขาก็เริ่มรู้สึกว่าแบรนด์ Stüssy อาจจะอยู่ได้ไม่นาน
และแล้ววันหนึ่ง เขาก็ได้บังเอิญพบห้องเช่าราคาถูก
เรื่องนี้ทำให้เขาเกิดความคิดที่จะเปิดร้านเสื้อผ้าของตัวเองอีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เขาจะออกแบบเสื้อผ้าเอง
และด้วยความที่เขาคลุกคลีอยู่กับเสื้อผ้าแนว Streetwear มาก่อนจึงสังเกตเห็นว่า
แม้จะมีสินค้าเกี่ยวกับสเก็ตบอร์ดที่มีคุณภาพมากมายแต่กลับไม่มีเสื้อเนื้อผ้าดีๆ ดีไซน์เท่ๆ แบบที่เขาเห็นในนิตยสารของอังกฤษ
เสื้อผ้าที่เขาออกแบบในครั้งนี้จึงอยู่ในกลุ่มนี้เป็นหลัก
นอกจากนั้นร้านของเขายังออกแบบเพื่อพยายามทำให้เป็นแหล่งชุมนุมของคนเล่นสเก็ต
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ
ประตูหน้าร้าน Supreme จะกว้างและบริเวณกลางร้านเป็นลานโล่งให้สามารถเล่นสเก็ตเข้ามาในร้านได้
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่เคยมีใครคิดจะทำมาก่อนและเป็นที่ถูกใจของนักเล่นสเก็ตเป็นอย่างมาก
ภายในเวลาไม่นานชื่อเสียงของร้าน Supreme ได้แพร่ออกไปอย่างรวดเร็วในหมู่นักเล่นสเก็ต
และเติบโตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
จนน่าจะถือได้ว่า ตอนนี้ถ้าพูดถึงแบรนด์เสื้อผ้าแนว Streetwear ชื่อของ Supreme น่าจะต้องเป็นหนึ่งในนั้น
นอกจากนั้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา Supreme ได้มีการจับมือกับแบรนด์ต่างๆ เพื่อสร้างดีไซน์ใหม่ๆ ออกมา
และเพิ่มมูลค่าได้อย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น Vans, Nike SB, Spitfire เป็นต้น
ทีนี้เราลองมาดูตัวอย่างการจับมือกันระหว่าง Supreme และ Louis Vuitton ว่าสามารถเพิ่มมูลค่าได้ขนาดไหน
Louis Vuitton trunk ซึ่งเป็นกระเป๋าเดินทางขนาดใหญ่ขายอยู่ที่ราคา 450,000 บาท
พอมาเป็นดีไซน์ที่ร่วมกับ Supreme
Supreme x Louis Vuitton trunk ถูกตั้งราคาเริ่มต้นอยู่ที่ 2,200,000 บาท ราคาเพิ่มขึ้นถึง 389 %
และในงานประมูล Supreme x Louis Vuitton trunk ถูกขายไปในราคา 3,300,000 บาท
เพราะอะไร Supreme ถึงเพิ่มมูลค่าได้ขนาดนี้ ?
มีหลายๆ ความเห็นได้บอกว่า อาจจะเนื่องจากการที่แบรนด์ Supreme มีความเป็น Street ที่มีความเฉพาะตัวสูง และสินค้าที่ออกมามีจำนวนจำกัดทุกครั้ง ที่มีการจับมือกันระหว่าง Brand ต่างๆ กับ Supreme
เมื่อเป็นของหายากและเป็นแบรนด์เนมชื่อดัง ราคาจึงปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทุกวันนี้ เราจะเห็นว่าธุรกิจเสื้อผ้าเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก
แต่ James ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะว่ามีไอเดียที่แตกต่างออกไป
เรื่องนี้ทำให้คิดได้ว่า
ถ้าเรายังเลือกที่จะทำอะไรเหมือนเดิมๆ เราอาจจะปิดโอกาสที่จะได้เห็นมุมมองใหม่
และมุมมองใหม่อาจจะเป็นตัวนำพาความสำเร็จในอนาคต
การคิดให้สินค้าตัวเองมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร เป็นเรื่องที่ทำให้ทุกคนออกจากทางตันได้
ถึงแม้ว่าเราจะเริ่มจากไม่มีอะไร ก็ไม่เป็นไร
แบรนด์ Supreme ก็เป็นเช่นนั้น
มีเรื่องที่น่าสนใจคือ แบรนด์ Supreme เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นเสื้อผ้าสำหรับคนเล่นสเก็ต
แต่ James Jebbia เจ้าของแบรนด์ Supreme กลับเล่นสเก็ตไม่เป็น..
----------------------
<ad> นอกจากแฟชั่น Street ดีไซน์หรูแล้ว ลองมาดูเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์หรูมีคุณภาพกันบ้าง
ขอแนะนำ 'งานไม้ ที่เป็นได้มากกว่าเฟอร์นิเจอร์'
อุด-ทะ-ยาน [ut-tha-yan] เฟอร์นิเจอร์งานไม้ของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น 'Wood Slab Enthusiasts' หรือ 'ผู้ที่รักในงานไม้แผ่นเดียว' โดยให้ความสําคัญและคุณค่าของการคงรูปทรงธรรมชาติ ผสมผสานกับการออกแบบที่ทันสมัย
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Tel: 09-242424-71 / Line ID: @utthayandesign / FB & IG: Utthayan / Website: www.utthayan.com
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.