จอห์น โบเกิล ต้นตำรับกองทุนอิงดัชนี

จอห์น โบเกิล ต้นตำรับกองทุนอิงดัชนี

24 ส.ค. 2018
จอห์น โบเกิล ต้นตำรับกองทุนอิงดัชนี / โดย ลงทุนแมน
จอห์น โบเกิล คือ 1 ใน 4 สุดยอดนักลงทุนที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในศตวรรษที่ 20
ร่วมกับ วอเร็น บัฟเฟตต์ ปีเตอร์ ลินช์ และจอร์จ โซรอส
แต่หลายคนอาจจะคุ้นกับชื่อสามคนแรกมากกว่า
จอห์น โบเกิล เขาเป็นใคร
วันนี้ลงทุนแมนจะมาเล่าให้ฟัง
จอห์น โบเกิล เป็นนักลงทุนชาวอเมริกัน เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 1929
โดย 1 ปีให้หลังจากที่เขาเกิดมา ก็เกิดวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก
เหตุการณ์นั้นทำให้ครอบครัวเขาสูญเสียมรดกทั้งหมด พ่อของโบเกิลติดแอลกอฮอล์อย่างหนัก จนนำไปสู่การหย่าร้างกับแม่ของเขา
อย่างไรก็ตาม แม้ครอบครัวจะแตกแยก แต่ในด้านการเรียน เขากลับทำได้อย่างโดดเด่น
เขาเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง ได้รับทุนเรียนจนจบปริญญาสาขาเศรษฐศาสตร์และการลงทุนจาก Princeton University และ University of Pennsylvania
หลังเรียนจบในปี 1951 เขาเริ่มอาชีพด้านการลงทุนตอนอายุ 22 ปี ที่กองทุน Wellington ซึ่งที่นี่แม้เขาจะเป็นเด็กใหม่ แต่ทักษะ ความรู้ในด้านการลงทุน ถือว่าไม่ธรรมดา ทำให้ผู้จัดการกองทุนที่นี่ถึงกับบอกว่า “เด็กคนนี้รู้จักธุรกิจบริหารจัดการกองทุนมากกว่าที่พวกเราทำเสียอีก”
4 ปีต่อมาโบเกิลได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ซึ่งเขาก็ได้รับโอกาสวิเคราะห์บริษัทหลายแห่งให้แก่กองทุน และแน่นอนว่า ความยอดเยี่ยมของเขาทำให้เขาได้รับการยอมรับมากขึ้นไปอีก
จนสุดท้าย เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นถึง CEO ของบริษัท ในปี 1970
เรื่องทุกอย่างดูสวยหรู แต่จริงๆแล้วในชีวิตเราก็ต้องมีวันแย่ๆ เช่นกัน
ไม่เว้นแม้แต่คุณโบเกิล
ต่อมาคุณโบเกิลถูกไล่ออกเพราะเขาทำให้บริษัทเสียหายอย่างหนักจากการตัดสินใจควบรวมกิจการที่ผิดพลาด
โบเกิล บอกว่า “ความผิดพลาดครั้งนี้แม้จะเป็นสิ่งที่น่าอับอายและแก้ตัวไม่ได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง มันกลับช่วยให้ตัวเขาได้เรียนรู้มากมาย จนทำให้เขาสามารถสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าในอนาคต”
ในปี 1975 เขาได้ก่อตั้งบริษัทจัดการลงทุน แวนการ์ด ซึ่งนับจนถึงวันนี้กองทุนนี้มีอายุกว่า 43 ปี
บริษัทนี้มีทรัพย์สินในการบริหารจัดการกว่า 168 ล้านล้านบาท นับเป็นบริษัทจัดการกองทุนรวมที่ใหญ่ที่สุดลำดับ 2 ของโลก ใหญ่กว่ามูลค่าหลักทรัพย์ของตลาดหุ้นไทยทั้งตลาดที่ 17 ล้านล้านบาทเกือบ 10 เท่า
หนึ่งในสิ่งที่ทำให้โบเกิลเป็นที่รู้จักในแวดวงการลงทุนนั่นก็คือ การตั้งกองทุนแบบ Passive ที่อ้างอิงดัชนีที่ชื่อว่า แวนการ์ด S&P 500 ซึ่งถือเป็นกองทุนอิงดัชนีกองแรกในประวัติศาสตร์ที่ออกขายให้กับประชาชนทั่วไป
ปีแรกที่เปิดขายนั้น มูลค่าสินทรัพย์กองทุนนี้เท่ากับ 363 ล้านบาท แต่ในปี 1999 มูลค่าดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึง 3.3 ล้านล้านบาท การที่กองทุนอิงดัชนีได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง ทำให้ชื่อของโบเกิลเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จนกลายเป็นหนึ่งในตำนานของการลงทุนมาจนถึงทุกวันนี้
หลายคนอาจจะสงสัยว่า กองทุนอิงดัชนีคืออะไร..ถ้าให้ลงทุนแมนอธิบายง่ายๆ ก็คือ
กองทุนอิงดัชนีเป็นกองทุนที่ผู้จัดการกองทุนพยายามบริหารผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิงให้มากที่สุด
อย่างในประเทศไทยก็จะมีกองทุนรวมดัชนีที่ชื่อว่า SET 50 หรือ SET 100 ที่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ 50 หรือ 100 ตัวแรกในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น PTT, KBANK, CPALL, SCC และ AOT เป็นต้น
หรืออย่างกรณีของแวนการ์ด S&P 500 ก็ใช้ดัชนี S&P 500 อ้างอิง ซึ่งเป็นการลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ 500 ตัวในตลาดหุ้นอเมริกา หุ้นที่เรารู้จัก เช่น Facebook, Amazon, Apple, McDonald’s และ Starbucks เป็นต้น
ข้อดีของกองทุนรวมประเภทนี้ก็คือ ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุนที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้ในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนของกองทุนประเภทนี้ทำได้ดีกว่า กองทุนหลายแห่งที่เก็บค่าธรรมเนียมแพงกว่า
ถึงขนาดในงานประชุมบริษัท Berkshire Hathaway วอเร็น บัฟเฟตต์ ได้กล่าวถึงโบเกิลไว้ว่า โบเกิลน่าจะเป็นคนที่สร้างประโยชน์ให้แก่นักลงทุนชาวอเมริกันมากกว่าทุกคน
ปัจจุบัน โบเกิล มีทรัพย์สินประมาณ 2,640 ล้านบาท โดยระหว่างที่เขาทำงานที่แวนการ์ดนั้น เขาได้บริจาคเงินเดือนของเขาครึ่งหนึ่งให้แก่การกุศลและสถาบันการศึกษาต่างๆ ด้วย
โบเกิล มีปัญหาด้านสุขภาพโดยเฉพาะโรคหัวใจ ทำให้ในปี 1999 เขาได้ลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทของแวนการ์ด อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้เขาจะไม่ได้ทำงานแบบเดิมแล้ว แต่เชื่อว่า ต้นแบบกองทุนอิงดัชนีที่เขาคิดค้นขึ้นมานั้น จะอยู่คู่กับโลกการลงทุนไปอีกนาน..
----------------------
ติดตามเรื่องราวน่าสนใจอื่นๆ แบบเรียลไทม์ได้ที่แอปพลิเคชันลงทุนแมน โหลดฟรีทั้ง iOS และ android blockdit.com/app
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-5.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.