กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจ กวดวิชา

กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจ กวดวิชา

1 ต.ค. 2018
กรณีศึกษา โมเดลธุรกิจ กวดวิชา / โดย ลงทุนแมน
เราเคยสงสัยไหมว่า..
สถาบันกวดวิชาที่เด็กนิยมเรียนกันมีรายได้เท่าไหร่?
จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในปี 2560 กลุ่มธุรกิจสถาบันกวดวิชามีรายได้รวมกันประมาณ 2,653 ล้านบาท
ทั้งหมดนี้บริษัทที่มีรายได้สูงสุดคือ “We by The Brain”
สถาบันนี้มีการสอนนักเรียนมัธยมต้น สำหรับสอบเข้าโรงเรียนชื่อดัง
นักเรียนมัธยมปลาย สำหรับติวสอบเข้ามหาวิทยาลัย
เมื่อลองดูรายได้รวมย้อนหลังของสถาบัน We by The Brain พบว่า
ปี 2559 รายได้รวม 363 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้รวม 497 ล้านบาท
โดยสาขาของ We by The Brain มีทั้งหมด 53 สาขาทั่วประเทศ
แปลว่า รายได้ต่อสาขาของ We by The Brain คือ 9.4 ล้านบาท
ถ้าเราลองคิดต่อ
ถ้าให้คอร์สเรียนเฉลี่ยคอร์สละ 3,000 บาท แปลว่าใน 1 ปี จะมีนักเรียนที่เรียนกับ We by The Brain ทั้งหมด 166,000 คอร์ส
เมื่อกล่าวถึงตรงนี้ก็ต้องยอมรับกันว่า สถาบันกวดวิชานี้มีลูกค้าคือเด็กนักเรียนเป็นแสนคน
แล้วมีสถาบันกวดวิชาชื่อดังที่ไหนอีกบ้าง?
ถ้าพูดถึงสถาบันกวดวิชาที่เด็กสายวิทย์ หรือคนที่อยากเข้าวิศวกรรมศาสตร์ นึกถึงเป็นที่แรกๆ ก็คงจะหนีไม่พ้น “OnDemand”
OnDemand เป็นสถาบันกวดวิชาที่เน้นสายวิทย์-คณิต ของทั้งประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคณิตศาสตร์
ผู้ก่อตั้งสถาบันแห่งนี้คือ คุณสุธี อัสววิมล หรือที่เด็กๆ เรียกกันว่า พี่โหน่ง
ซึ่งปัจจุบัน คุณโหน่ง เป็นทั้งอาจารย์สอนฟิสิกส์และผู้บริหารของ OnDemand
คอนเซ็ปต์ของ OnDemand คือ เราสามารถเลือกที่จะเรียนได้โดยไม่ต้องเริ่มจากบทเรียนแรกเสมอไป
ที่น่าสนใจคือ OnDemand มีระบบสำหรับการเรียนรู้ บนหน้าจอคอมพิวเตอร์ แห่งแรก ซึ่งถือว่าเป็นการเรียนรู้รูปแบบใหม่
เมื่อลองดูรายได้ย้อนหลังของบริษัท ออนดีมานด์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด พบว่า
ปี 2559 รายได้ 370 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 480 ล้านบาท
ปัจจุบัน OnDemand มีทั้งหมด 52 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งบางสาขาที่อยู่ต่างจังหวัดเป็นการเปิดสาขาร่วมกับสถาบันกวดวิชาอีกแห่ง คือ Enconcept
แปลว่าเฉลี่ยแล้ว OnDemand มีรายได้กว่า 9.2 ล้านบาทต่อสาขา
และ อีกหนึ่งสถาบันกวดวิชาที่น่าสนใจอีกแห่งนั่นก็คือ “Enconcept”
Enconcept เป็นสถาบันกวดวิชาที่มีชื่อเสียงด้านภาษาอังกฤษ
โดยการสอนของที่นี่มีความโดดเด่น เรื่องการปรับหลักสูตรแบบเป็นเนื้อเพลง เพื่อให้นักเรียนเข้าใจและสนุกขึ้น
สถาบันแห่งนี้ก่อตั้งโดย คุณธเนศ เอื้ออภิธร กับ ครูพี่แนน คุณอริสรา ธนาปกิจ
เมื่อดูรายได้ของ บริษัท เอ็นคอนเซ็ปท์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด พบว่า
ปี 2559 รายได้ 273 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 336 ล้านบาท
ปัจจุบัน Enconcept มีทั้งหมด 36 สาขาทั่วประเทศ
ถ้าลองคำนวณรายได้ของ Enconcept ต่อสาขาจะได้เท่ากับ 9.3 ล้านบาท
สุดท้ายสถาบันที่ทุกคนคงเคยได้ยินชื่อ นั่นก็คือ “เคมี อ.อุ๊”
ด้วยชื่อของสถาบัน ก็ชัดเจนว่าที่นี่ เด่นทางด้านวิชา เคมี ของทั้งมัธยมศึกษาตอนต้น และ มัธยมศึกษาตอนปลาย
ด้วยหลักการสอนของ นางอุไรวรรณ ศิวะกุล หรือ อาจารย์อุ๊ ที่จัดหมวดหมู่การสอนที่ทำให้เด็กๆ เข้าใจได้ง่าย
เมื่อดูจากรายได้ของ บริษัท วรรณสรณ์ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด พบว่า
ปี 2559 รายได้ 343 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 389 ล้านบาท
อ.อุ๊ ยังมีการร่วมมือกับสถาบันกวดวิชาอื่นๆ เช่น ฟิสิกส์ ของ อ.ประกิตเผ่า, สังคม ของ อ.ปิง (ดาว้องก์), คณิตศาสตร์ อ.อรรณพ, คณิตศาสตร์ ซุปเค, ไบโอบีม เป็นต้น
ทุกสถาบันจะใช้สถานที่ร่วมกันในการเปิดคลาสเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มาที่เดียวสามารถเรียนได้ครบทุกวิชา
ซึ่งปัจจุบัน เคมี อ.อุ๊ มีทั้งหมด 30 สาขา แปลว่า เคมี อ.อุ๊ มีรายได้เฉลี่ย 13 ล้านบาทต่อสาขา..
เมื่ออ่านถึงตรงนี้เราได้เห็นอะไรบ้าง?
เรื่องทั้งหมดนี้สะท้อนให้เราได้เห็นหลายเรื่อง..
แม้ธุรกิจบนโลกออนไลน์จะเข้ามา disrupt ในหลายอาชีพ
ธุรกิจสถาบันกวดวิชานี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ถูก disrupt แต่ตรงกันข้าม ธุรกิจนี้กลับกำลังเฟื่องฟู
ถ้าถามว่านักเรียน เรียนกวดวิชาไปเพื่ออะไร หนึ่งในคำตอบของหลายคนก็คือ เพื่อทำข้อสอบ เข้าโรงเรียน และมหาวิทยาลัยชื่อดัง
ตราบใดที่นักเรียนยังไม่มั่นใจว่าโรงเรียนจะสอนให้ทำข้อสอบเข้าโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัยชื่อดังได้ สถาบันกวดวิชาก็ยังจะมีบทบาทที่สำคัญคู่กับนักเรียนไทยต่อไป
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิด ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
โรงเรียนสอนให้นักเรียนทำข้อสอบได้ไม่ดีพอ?
สถาบันกวดวิชามีวิธีการสอนที่ดีมาก?
ค่านิยมของนักเรียนที่ต้องเรียนกวดวิชา?
หรือเป็นปัญหาที่ระบบการคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าโรงเรียน หรือ มหาวิทยาลัยชื่อดัง?
คำตอบของแต่ละคนคงแตกต่างกัน
แต่ถ้าวิเคราะห์ในแง่ของธุรกิจแล้ว มีเรื่องที่น่าสนใจ
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นช่องว่างทำให้เกิดธุรกิจขนาดใหญ่
สถาบันกวดวิชาได้กลายเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่หลายคนอาจไม่นึกถึง
เมื่อก่อนเราอาจคิดว่าสถาบันกวดวิชา จะมีเจ้าของที่เป็นคนสอนคนเดียว
ห้องเรียนกวดวิชา 1 ห้อง อย่างมากก็จุนักเรียนได้ 200 คน
แต่ปรากฏว่าสถาบันกวดวิชาเหล่านี้ รู้จักการใช้เทคโนโลยีในการถ่ายทอดสด บันทึกวิดีโอ และทำให้การสอนแต่ละครั้งเข้าถึงนักเรียนจำนวนมากๆ ได้พร้อมกันในคราวเดียว
การทำซ้ำได้ (repeatable) ทำให้ขยายขนาดได้ (scalable) จนเป็นธุรกิจขนาดใหญ่
จากนักเรียนหลักร้อยคน ก็เลยกลายเป็นนักเรียนหลักแสนคน
ทำให้โมเดลธุรกิจทุกวันนี้ของสถาบันกวดวิชา เป็นเหมือนลักษณะแฟรนไชส์
เดิมที่เราอาจคิดว่าสถาบันกวดวิชาคงมีได้อย่างมากไม่กี่สาขา ก็ได้กลายเป็นสถาบันที่มี 50 สาขาทั่วประเทศ
จนทำให้สถาบันกวดวิชาบางแห่งมีรายได้มากกว่าโรงเรียนชื่อดังเสียอีก..
ถ้าให้โรงเรียนชื่อดัง ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 6 มีจำนวน 12 ชั้นเรียน
1 ชั้นเรียนมี 10 ห้อง ห้องละ 50 คน
เท่ากับว่าโรงเรียนนั้นจะมีนักเรียนทั้งหมด 6,000 คน
ถ้าให้ค่าเทอมปีละ 30,000 บาท
รายได้ของโรงเรียนชื่อดังทั้งหมดจะมีมูลค่าประมาณ 180 ล้านบาท
ทั้งนี้อาจจะมีค่าแรกเข้า หรือ แป๊ะเจี๊ยะที่เก็บเพิ่มเติม
แต่เมื่อรวมกันแล้วก็น่าจะยังห่างไกล จากรายได้ 400 ล้านบาทของสถาบันกวดวิชาเหล่านี้
เรื่องนี้ก็เป็นเพราะ ขนาดของตลาดที่ต่างกัน สถาบันกวดวิชามีลูกค้าคือนักเรียนเป็น 100,000 คนทั่วประเทศ ต่างจากโรงเรียนชื่อดังที่มีจำกัด ที่ 6,000 คน
สิ่งที่โรงเรียนชื่อดังพอจะทำได้ ก็คือการขยายสาขาของโรงเรียน
นั่นก็เป็นสาเหตุที่โรงเรียนชื่อดัง ใช้ชื่อเดิม แต่มีชื่อทำเลต่อท้ายกับชื่อนั้นอีกหลายที่
แต่ปัญหาของโรงเรียนก็คือ การขยายสาขาแต่ละครั้งนั้น ใช้เงินจำนวนมาก
ต้องซื้อที่ดิน สร้างโรงอาหาร โรงยิม ห้องเรียน จ้างบุคลากรมากมาย
ต่างจากสถาบันกวดวิชาที่สามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่เช่าที่ มีระบบการถ่ายทอด และบันทึกวิดีโอ
ก็น่าติดตามว่า
ในอนาคตธุรกิจสถาบันกวดวิชาจะเติบโตได้มากอีกแค่ไหน
และก็น่าคิดว่าที่ผ่านมา การศึกษาของประเทศไทยได้ถูกวางแผนมาอย่างไรถึงมีวันนี้
วันที่สถาบันกวดวิชา มีรายได้มากกว่า โรงเรียนชื่อดัง เสียอีก..
----------------------
ยังมีกรณีศึกษาอื่นๆ อีกมากมายที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดฟรีที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.