ใครเป็นเจ้าของแบรนด์ Balenciaga?

ใครเป็นเจ้าของแบรนด์ Balenciaga?

10 ต.ค. 2018
ใครเป็นเจ้าของแบรนด์ Balenciaga? / โดย ลงทุนแมน
ถ้าเราชอบเสื้อ Balenciaga ตัวละเป็นหมื่น
อยากรู้ไหมว่า ใครเป็นเจ้าของแบรนด์ Balenciaga?
และรู้ไหมว่า เจ้าของแบรนด์นี้เป็นเจ้าของเดียวกับ
Gucci, Yves Saint Laurent, Bottega Veneta
คนที่เป็นเจ้าของแบรนด์เหล่านี้ก็คือบริษัท Kering..
Kering เป็นบริษัทจากประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งในปี 1963 โดย François Pinault
เริ่มแรก Kering ไม่ได้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์หรูเหมือนในปัจจุบัน
บริษัทมีชื่อเดิมว่า Établissements Pinault และดำเนินธุรกิจซื้อขายไม้ และวัสดุก่อสร้าง
ที่น่าสนใจคือ เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทเติบโตด้วยกลยุทธ์การควบรวมกับบริษัทอื่น จนสามารถเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ
โดยในปี 1991 บริษัทได้เข้าซื้อกิจการค้าปลีก Conforama และเปลี่ยนชื่อเป็น Pinault-Printemps-Redoute (PPR) ในปี 1994
แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของบริษัทคือ การเข้าธุรกิจแบรนด์หรู..
บริษัทเริ่มก้าวเข้าสู่ธุรกิจแบรนด์หรูในปี 1994 ด้วยการเข้าซื้อหุ้นของ Gucci
ตามมาด้วย Yves Saint Laurent, Bottega Veneta และ Balenciaga รวมถึงแบรนด์อื่นๆ
โดยปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของมากกว่า 10 แบรนด์ แยกออกเป็น 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์
กลุ่มแบรนด์หรู ประกอบด้วย Gucci, Bottega Veneta, Yves Saint Laurent, Alexander McQueen, Balenciaga, Boucheron, Brioni, Christopher Kane, Pomellato, Qeelin, Sowind, Stella McCartney และ Ulysse Nardin
กลุ่มกีฬาและไลฟ์สไตล์ ประกอบด้วย PUMA และ Volcom
กลุ่มแว่นตา ซึ่งผลิตแว่นตาให้กับแบรนด์ต่างๆ ในเครือของ Kering
ในปี 2013 บริษัทก็เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “Kering”
ซึ่งออกเสียงคล้ายกับคำว่า “Caring” ส่วนคำว่า “Ker” มีความหมายว่าบ้าน
ชื่อ Kering จึงสื่อถึงความใส่ใจในทุกแบรนด์ที่อยู่ภายใต้บ้านหลังนี้ และยังต้องการส่งความใส่ใจนี้ต่อไปยังลูกค้าทุกคน
แม้ว่า Kering จะเป็นเจ้าของแบรนด์หรูจำนวนมาก แต่บริษัทก็ยังรักษาเอกลักษณ์เดิมของแต่ละแบรนด์ไว้
โดย Kering จะเข้าไปสนับสนุนใน 3 ด้านหลักๆ คือ
การขยายเข้าสู่ตลาดใหม่
การเพิ่มศักยภาพการเติบโตของแบรนด์
การพัฒนาเครือข่ายช่องทางการจัดจำหน่าย และการขายผ่าน E-commerce
ที่น่าสนใจคือ Kering มีศูนย์พัฒนาผลิตภัณฑ์เพียง 2 แห่งเท่านั้น
นั่นก็คือศูนย์สำหรับพัฒนาเครื่องแต่งกายทั่วไป และศูนย์พัฒนาเครื่องหนัง
การทำเช่นนี้ก็เพื่อลดขั้นตอนของการผลิต สำหรับแบรนด์ที่อาจจะไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก
นอกจากนั้นในปี 2013 Kering ได้เข้าซื้อบริษัท France Croco ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตหนังสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อใช้เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับแบรนด์ในเครือ
แล้ว Kering เมื่อเทียบกับบริษัทที่เป็นเจ้าตลาดแบรนด์หรูของโลกเป็นอย่างไร
คู่แข่งที่สำคัญของ Kering ก็คือ LVMH
LVMH เป็นบริษัทจากฝรั่งเศสเช่นเดียวกับ Kering ก่อตั้งในปี 1987
โดยบริษัทเริ่มต้นจากการรวมธุรกิจแบรนด์หรู Louis Vuitton และธุรกิจแอลกอฮอล์ Moët Hennessy โดย LVMH มีแบรนด์อื่นในเครือ เช่น Dior, Fendi, Marc Jacobs, Rimowa, Kenzo
รายได้และกำไรของ Kering
ปี 2015 รายได้ 432,971 ล้านบาท กำไร 26,014 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 462,910 ล้านบาท กำไร 30,424 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 578,516 ล้านบาท กำไร 66,755 ล้านบาท
รายได้และกำไรของ LVMH
ปี 2015 รายได้ 1,333,000 ล้านบาท กำไร 246,873 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 1,405,361 ล้านบาท กำไร 262,608 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 1,593,590 ล้านบาท กำไร 309,964 ล้านบาท
จากตัวเลข LVMH มีรายได้มากกว่า Kering อยู่พอสมควร
แต่นั่นก็เพราะว่า LVMH เป็นเจ้าของหลายกลุ่มธุรกิจนอกเหนือจากแบรนด์หรู เช่น ธุรกิจแอลกอฮอล์ และธุรกิจร้านเครื่องสำอาง
ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะส่วนของรายได้แฟชั่นและเครื่องหนังรวมกับนาฬิกาและเครื่องประดับของ LVMH อาจจะช่วยให้เห็นภาพมากขึ้น
ปี 2015 รายได้ 585,953 ล้านบาท กำไร 147,151 ล้านบาท
ปี 2016 รายได้ 607,108 ล้านบาท กำไร 165,616 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 720,509 ล้านบาท กำไร 202,469 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่ารายได้เฉพาะส่วนนี้อาจจะไม่แตกต่างกันมากนัก
ในด้านของมูลค่าแบรนด์ที่ถือครอง
แบรนด์หลักของ Kering คือ Gucci ส่วน LVMH คือ Louis Vuitton
Louis Vuitton มีมูลค่า 1,086,220 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นแบรนด์หรูที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก
ส่วน Gucci อยู่ในอันดับที่ 3 โดยมีมูลค่า 481,672 ล้านบาท
ในด้านของลักษณะการดำเนินธุรกิจ
LVMH เลือกที่จะไม่ทิ้งธุรกิจเริ่มแรกนั่นก็คือแอลกอฮอล์
และยังขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ เช่น เครื่องสำอางและร้านค้าปลีก
ต่างกับ Kering ที่ทิ้งธุรกิจเดิมและมุ่งเน้นทางด้านแบรนด์หรูเพียงอย่างเดียว
นอกจากนั้น Kering ยังเริ่มซื้อแบรนด์ในกลุ่มกีฬาและไลฟ์สไตล์มากขึ้น อย่าง PUMA และ Volcom เพื่อจับกลุ่มตลาดที่กว้างขึ้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทั้ง 2 บริษัทนี้มีความเหมือนกันก็คือ การรักษาเอกลักษณ์ของแต่ละแบรนด์ที่ควบรวมเข้ามา
เพราะสิ่งที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าของแบรนด์หรูคงไม่ใช่เรื่องคุณภาพของสินค้าเพียงอย่างเดียว
แต่เพราะแบรนด์หรูเหล่านี้มีเรื่องราวของตัวเองที่ทำให้สินค้าต่างจากสินค้าทั่วไป
และนี่ก็คงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมสินค้าของ Balenciaga จึงมีรูปแบบต่างจาก Gucci อย่างชัดเจน แม้ว่าทั้ง 2 แบรนด์นี้อยู่ภายใต้บริษัท Kering เช่นเดียวกัน
หรือแม้กระทั่ง Bottega Veneta ที่อยู่ในบริษัทนี้ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่ได้เหมือนแบรนด์อื่น
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
บริษัท Kering จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Euronext Paris
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว บริษัทนี้ราคาหุ้นละ 46 ยูโร หรือ ประมาณ 1,700 บาท
ตอนนี้หุ้นของบริษัทนี้มีมูลค่า 460 ยูโร
แปลว่าใน 10 ปี ที่ผ่านมา บริษัทนี้มีมูลค่าเพิ่ม 10 เท่า เลยทีเดียว
พอเห็นแบบนี้
หุ้นที่เป็นเจ้าของ Balenciaga อาจจะน่าสนใจไม่แพ้เสื้อ Balenciaga เหมือนกันนะ..
----------------------
สนใจเรื่องหุ้น ติดตามลงทุนแมน ได้ที่แอปพลิเคชัน "blockdit" โหลดได้ที่ blockdit.com
ความคิดดีๆ เกิดขึ้นที่บล็อกดิต..
.
หนังสือลงทุนแมนไว้อ่านยามว่าง เล่ม 1.0-6.0 ซื้อได้ที่ลิงก์นี้ lazada.co.th/shop/longtunman
.
อินสตาแกรม ไว้ดูภาพสวยๆ instagram.com/longtunman
.
ทวิตเตอร์กระชับฉับไว twitter.com/longtunman
.
ไลน์ส่งข้อความตรงวันละครั้ง line.me/R/ti/p/%40longtunman
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.