อธิบายคำว่า GDP แบบเข้าใจง่ายๆ

อธิบายคำว่า GDP แบบเข้าใจง่ายๆ

26 ต.ค. 2018
อธิบายคำว่า GDP แบบเข้าใจง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
เราจะวัดมูลค่าของเศรษฐกิจทั้งระบบอย่างไร?
เวลาที่เราเห็นข่าวเศรษฐกิจ เราอาจจะได้เห็นคำว่า GDP ผ่านตาอยู่บ้าง
GDP จริงๆ แล้วย่อมาจาก Gross Domestic Product ซึ่งแปลว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม
แล้ว ผลิตภัณฑ์มวลรวม คืออะไร? สามารถคำนวณมาได้อย่างไร?
ลงทุนแมนจะยกตัวอย่างง่ายๆ ดังนี้
ถ้าเราเดินเข้าร้านอาหาร และซื้อข้าวหนึ่งจาน เงินที่เราจ่ายไปก็จะถูกรวมเข้าไปในมูลค่าของ GDP
เมื่อเจ้าของร้านอาหารจ่ายเงินเดือนให้พนักงานเสิร์ฟก็จะรวมอยู่ใน GDP
มูลค่าของโต๊ะ เก้าอี้ ที่เจ้าของร้านอาหารจ่ายเงินเพื่อลงทุนเปิดร้านก็รวมอยู่ใน GDP เช่นกัน
เราอาจจะสามารถสรุปง่ายๆ ว่า GDP คือมูลค่าที่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมดของประเทศนั้นสร้างขึ้นมาได้
แต่เนื่องจากในระบบเศรษฐกิจมีการผลิตสินค้าและบริการจำนวนมหาศาล
การที่จะคำนวณจากสินค้าทีละชิ้นคงเป็นเรื่องยากเกินไป
จึงมีการคำนวณ GDP จากเงินที่ถูกนำไปใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจแทน ซึ่งวิธีนี้ได้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด
มูลค่าของ GDP ประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก
ส่วนแรกมาจากการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค ซึ่งก็คือกิจกรรมการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของเรานั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิง หรือ ออกไปรับประทานอาหาร
ส่วนที่ 2 มาจากการลงทุน ทั้งจากภาคธุรกิจที่ลงทุนในเครื่องจักร ที่ดิน อาคาร หรือระบบเทคโนโลยี รวมถึงการลงทุนของคนทั่วไป เช่น การซื้อบ้านหรือที่อยู่อาศัย
ส่วนที่ 3 จากการใช้จ่ายของภาครัฐ
และส่วนที่ 4 จากมูลค่าส่งออกสุทธิ โดยคำนวณมาจากมูลค่าการส่งออกของประเทศลบด้วยมูลค่าการนำเข้า
สำหรับ GDP ของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านล้านบาทในปี 2017
ส่วนประเทศที่มี GDP มากที่สุดในโลกก็คือสหรัฐอเมริกา โดยมีมูลค่าประมาณ 633 ล้านล้านบาท
แต่การดูที่ตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียวอาจจะทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์อะไรได้มากนัก
เราจึงต้องดูอัตราการเติบโตของ GDP ประกอบด้วย โดยคำนวณมาจากเปอร์เซ็นต์การเปลี่ยนแปลงของ GDP ในแต่ละช่วงเวลา
การทำเช่นนี้ก็เปรียบเทียบได้กับการตรวจสุขภาพของระบบเศรษฐกิจ
หากเศรษฐกิจสุขภาพดี อัตราการเติบโตของ GDP ก็จะเป็นบวก
แต่ถ้าเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาลงหรือถดถอย อัตราการเติบโตของ GDP ก็จะเป็นลบ
แต่ GDP ก็อาจไม่ได้สะท้อนผลจากเศรษฐกิจในทุกๆ ด้าน
ยังมีทั้งด้านความสุข คุณภาพชีวิต หรือการก่อมลภาวะที่ไม่ได้สะท้อนอยู่ในตัวเลขของ GDP
เนื่องจากบางประเทศที่มีรายได้สูง ก็อาจต้องแลกมาด้วยความเครียดจากการทำงานหนักของประชาชน
ระยะหลังๆ จึงมีหลายองค์กรที่พยายามเสนอตัวชี้วัดใหม่ๆ ขึ้นมาใช้ เช่น GNH (Gross National Happiness) หรือความสุขมวลรวม ที่ประเทศภูฏานใช้เป็นตัวชี้วัด
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน GDP ก็ยังเป็นตัวชี้วัดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่ทั่วโลกใช้กันมากที่สุดอยู่ดี
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
สหรัฐอเมริกาครองอันดับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดมาตั้งแต่ช่วงปี 1920 หากวัดจากมูลค่าของ GDP
ส่วนอันดับ 2 คือประเทศจีน ด้วยมูลค่า GDP ประมาณ 400 ล้านล้านบาท
จริงๆ แล้วหากมองย้อนกลับไปในอดีต เศรษฐกิจของจีนเพิ่งเริ่มขยายตัวอย่างมากในช่วงปี 2000 และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ในปี 2008
ซึ่งหากพิจารณาถึงอัตราการเติบโตต่อปีของ GDP ในปัจจุบันระหว่างสหรัฐอเมริกา กับ จีน
ในปี 2017 สหรัฐอเมริกามีอัตราการเติบโตต่อปีของ GDP 2.9%
ส่วนจีนมีอัตราการเติบโตต่อปี 6.7%
และถ้าหาก 2 ประเทศนี้ยังเติบโตในระดับเดิมต่อไปเรื่อยๆ
GDP ของประเทศจีนก็จะสามารถแซงสหรัฐอเมริกา และครองอันดับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดได้ในปี 2030 และนี่จะเป็นครั้งแรกในรอบร้อยกว่าปี ที่สหรัฐอเมริกาจะเสียแชมป์ประเทศที่มี GDP มากสุดในโลก
ซึ่งถ้านับดูแล้ว ก็อีกแค่ 12 ปีเท่านั้น..
----------------------
<ad> ถ้าเข้าใจเรื่อง GDP แล้ว อยากเข้าใจเรื่อง Facebook ด้วย ต้องอ่านหนังสือเล่มนี้ ‘ใช้ Facebook ถูกวิธี ยอดขายดีขึ้น 100 เท่า’ โดย "DIGITAL TIPS" อ่านแล้วจะเข้าใจพี่มาร์คขึ้นอีกหลายเท่า ยิงแอดได้ปังๆ กว่าที่เคย อ่านสนุก เข้าใจง่าย แถมมีวีดีโอในเล่มแจกให้ไว้ไปทำตามกันได้
สามารถซื้อได้แล้วตามร้านหนังสือชั้นนำ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ราคาเพียง 249 บาทเท่านั้น
Tag: GDP
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.