ทำไมธุรกิจ Startup ต้องเริ่มจากการขาดทุน?

ทำไมธุรกิจ Startup ต้องเริ่มจากการขาดทุน?

5 ม.ค. 2019
ทำไมธุรกิจ Startup ต้องเริ่มจากการขาดทุน? / โดย ลงทุนแมน
บริษัท Startup ที่จดทะเบียนในประเทศไทย
ปี 2017
Shopee ขาดทุน 1,400 ล้านบาท
Grab ขาดทุน 990 ล้านบาท
Lazada ขาดทุน 570 ล้านบาท
แล้วทำไมทั้ง 3 บริษัทถึงยอมที่จะขาดทุน ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
จริงๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับธุรกิจ Startup ในช่วงแรก
รู้หรือไม่ว่า..
Facebook ขาดทุน 4 ปีติดต่อกัน
Twitter ขาดทุน 12 ปีติดต่อกัน
Amazon ขาดทุน 14 ปีติดต่อกัน
หลังจากนั้น บริษัทสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้อย่างแข็งแกร่งจาก ปัจจัยสำคัญที่ชื่อว่า
“จำนวนผู้ใช้งาน” ซึ่งในบางครั้ง ก็คือ “ตัวเรา” นั่นเอง..
แล้ว ตัวเรา สำคัญขนาดไหนกับธุรกิจเหล่านี้?
ปัจจุบันมนุษย์เราเต็มไปด้วยความต้องการที่แตกต่าง
ธุรกิจ Startup จึงเกิดขึ้นเพื่อมาเติมเต็มช่องว่างที่เกิดขึ้น
เราต้องการซื้อของแบบไม่ต้องไปห้าง.. E-commerce เข้ามาเติมเต็ม
เราต้องการเรียกแท็กซี่ให้มารับเราถึงที่.. Ride-hailing เข้ามาเติมเต็ม
เราต้องการรู้เรื่องเพื่อนโดยที่เราไม่ต้องไปเจอเพื่อน.. Social media เข้ามาเติมเต็ม
และบริษัทไหนที่สามารถดึง ผู้ใช้งาน ให้อยู่ในระบบได้มากกว่า
ถึงแม้ว่าจะทำกำไรในช่วงแรกไม่ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทนั้นจะสามารถใช้ข้อได้เปรียบของผู้ใช้งานในการสร้างรายได้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ จากบริษัท Facebook
ปี 2007 Facebook มีผู้ใช้งาน 50 ล้านคน
รายได้ 8,900 ล้านบาท ขาดทุน 1,800 ล้านบาท
คิดเป็นอัตราส่วนรายได้ต่อจำนวนผู้ใช้งานคือ 178 บาท
ปี 2017 Facebook มีผู้ใช้งาน 2,000 ล้านคน
รายได้ 1,330,000 ล้านบาท กำไร 522,000 ล้านบาท
คิดเป็นอัตราส่วนรายได้ต่อจำนวนผู้ใช้งาน 665 บาทต่อคน..
จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า รายได้ของบริษัทสามารถเติบโตได้มากกว่าค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ Facebook ในปี 2017 มีอัตรากำไรสุทธิสูงถึง 39%
Google รับรายได้จากโฆษณา
Amazon รับรายได้จากค่าธรรมเนียม ค่าขายสินค้า
ส่วน Netflix และ Spotify รับรายได้จากระบบสมาชิก
โดยทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับเรา หรือจำนวนผู้ใช้งานในระบบนั่นเอง
แล้วในประเทศไทย Shopee, Grab และ Lazada ที่ขาดทุนอยู่ตอนนี้
มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างไร?
ในปีนี้ Grab ประกาศซื้อกิจการ Uber ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงการจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทชั้นนำในหลายประเทศ
และที่เกี่ยวกับเราโดยตรงก็น่าจะเป็นการปรับโครงสร้างด้านรายได้โดยเริ่มลดจำนวนโปรโมชัน และเพิ่มราคาค่าโดยสาร
ในทำนองเดียวกัน Shopee ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมรูดบัตรเครดิต-เดบิต 1.5% ของยอดขาย
เรื่องนี้ก็อาจจะแปลความหมายได้ว่า Grab และ Shopee อาจจะพอใจกับจำนวนผู้ใช้งานในระบบ และกำลังจะเริ่มที่จะหารายได้
หรือในอีกมุมหนึ่งก็คือ บริษัทแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากเกินไปจนต้องหาโมเดลทำกำไร ในขณะที่ยังอยู่ในระหว่างการดึงผู้ใช้งานเข้ามาอยู่ในระบบ
สิ่งที่น่าสนใจของ Startup คือ แหล่งเงินทุนที่ไม่ได้มาจากเงินกู้ธนาคาร แต่เป็นการระดมทุนจากนักลงทุนซึ่งปราศจากดอกเบี้ยเงินกู้ แต่มาพร้อมความคาดหวังในการเติบโตแบบก้าวกระโดด..
หมายความว่าหากบริษัท Startup มีแนวโน้มการเติบโตไม่มากตามตัวเลขที่คาดไว้ ก็อาจจะส่งผลให้นักลงทุนไม่เชื่อมั่นอีกต่อไป
ดังนั้นสิ่งที่บริษัท Startup เหล่านี้ต้องทำ ไม่ใช่การทำกำไร แต่คือตัวเลขผู้ใช้งาน..
เรื่องนี้เราอาจสรุปได้ว่าบริษัท Startup วางแผน และตั้งใจที่จะขาดทุนตั้งแต่วันแรกเพื่อดึงเราไปอยู่ในนั้นนั่นเอง..
ปิดท้ายด้วยตัวเลขที่น่าสนใจในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่เต็มไปด้วยบริษัท Startup
ในทุกๆ 100 บริษัท Startup จะมีเพียง 50 บริษัท ที่จะอยู่รอดได้ถึงปีที่ 5
และจะมีเพียง 30 บริษัทที่จะอยู่รอดได้ถึง 10 ปี..
----------------------
อ่านเรื่องธุรกิจ ธุรกิจสตาร์ตอัป ในอินโดนีเซียได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5c25a1e7db4820094c04c31a
ติดตามเรื่องราวบริษัทชั้นนำของโลก ได้ที่เพจลงทุนแมน ในแอปพลิเคชัน blockdit โหลดฟรี blockdit.com
----------------------
References
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
-Yahoo Finance
-https://www.entrepreneur.com/article/288769
Tag: startup
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.