Subscription โมเดลธุรกิจที่กำลังมาแรง

Subscription โมเดลธุรกิจที่กำลังมาแรง

8 ก.พ. 2019
Subscription โมเดลธุรกิจที่กำลังมาแรง / โดย ลงทุนแมน
“ในแต่ละเดือนเราหมดไปกับค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง”
ถ้าเป็นในสมัยก่อน อย่างน้อยทุกเดือน
เราน่าจะต้องหมดไปกับค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
แต่ตอนนี้ค่าใช้จ่ายที่เป็นรายเดือนของเรากำลังจะเปลี่ยนไป
จากระบบโมเดลธุรกิจยอดนิยมที่มีชื่อว่า “Subscription”
เรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Subscription คืออะไร?
Subscription แปลตรงตัวก็คือการสมัครสมาชิก
ซึ่งเมื่อฟังดูแล้วก็อาจจะไม่ค่อยแปลกใหม่สักเท่าไหร่
เพราะว่าปกติเราก็มีการทำบัตรสมาชิกตามร้านอาหารหรือบริการอื่นๆ เป็นประจำอยู่แล้ว
เพื่อที่จะสามารถนำมาเป็นส่วนลดในราคาพิเศษเวลาที่เราใช้บริการ
แต่สำหรับโมเดล Subscription ที่พูดถึงกันทุกวันนี้
กลับไม่ได้หมายถึงรูปแบบของการสมัครสมาชิกเพื่อรับสิทธิพิเศษอีกต่อไป
เพราะในโมเดลนี้ ถ้าเราไม่จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนก็จะไม่สามารถใช้บริการได้
ตัวอย่างของโมเดลธุรกิจ Subscription ที่ชัดเจนที่สุดก็คงเป็นบนแพลตฟอร์มต่างๆ บนโลกออนไลน์
Netflix หนึ่งในแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในขณะนี้
เวลาที่ใช้บริการ Netflix เราไม่ได้จ่ายเงินเพียงแค่ครั้งเดียวและรับชมได้ตลอดไป
แต่ Netflix เก็บเงินเราทุกๆ เดือน แม้ว่าบางเดือนเราจะดูหรือไม่ดูก็ตาม
Adobe โปรแกรมสำหรับคนที่ทำงานเกี่ยวกับกราฟิกน่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี
ในสมัยก่อนการซื้อโปรแกรม Photoshop หรือ Illustrator เราจะจ่ายเงินเพียงแค่ครั้งเดียวเพื่อที่จะได้รับ Serial Number ในการใช้งานโปรแกรมอย่างเต็มรูปแบบ
แต่ตอนนี้ทุกโปรแกรมของ Adobe ได้เปลี่ยนมาใช้เป็นระบบ Subscription ซึ่งผู้ที่จะใช้งานโปรแกรมจำเป็นจะต้องจ่ายเงินในทุกๆ เดือน
หรือแม้แต่ Microsoft Office ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็เปลี่ยนเป็นระบบ Subscription แล้วเช่นกัน
แล้วโมเดล Subscription จะจำกัดแค่เฉพาะในธุรกิจที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์หรือไม่?
ถ้าใครคิดแบบนั้นอาจจะผิด..
เพราะตอนนี้โมเดล Subscription ก็อยู่ในธุรกิจแบบออฟไลน์ด้วยเช่นกัน
ธุรกิจกาแฟ
Nescafé เป็นแบรนด์กาแฟชื่อดังของบริษัท Nestlé ที่ครองตลาดกาแฟมาอย่างยาวนาน
แต่ด้วยเวลาที่ผ่านไป คู่แข่งในอุตสาหกรรมกาแฟได้เพิ่มขึ้นอย่างมากทำให้อนาคตของ Nescafé เริ่มที่จะไม่ค่อยสดใสเท่าไรนัก
Nestlé จึงแก้ปัญหาการแข่งขันนี้ด้วยการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคไปดื่มกาแฟเจ้าอื่นด้วยการออกผลิตภัณฑ์เครื่องชงกาแฟแบบแคปซูลซึ่งเครื่องนี้จะสามารถใช้ได้เฉพาะกับแคปซูลของ Nescafé เท่านั้น
และสิ่งที่ตามมาก็คือ Nestlé ออกโมเดลธุรกิจ Subscription ขึ้นมาเพื่อเป็นการยืนยันว่าลูกค้าจะไม่หนีไปไหนภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งทำให้ลูกค้าต้องสั่งกาแฟตามที่บริษัทกำหนด
ธุรกิจรถยนต์
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Toyota ได้เปิดตัวบริษัท Kinto เพื่อประกอบธุรกิจรถยนต์ในรูปแบบ Subscription
บริษัทจะอนุญาตให้ผู้ใช้เลือกรถยนต์ของ Toyota มา 1 คันเพื่อใช้งานตลอดระยะเวลา 3 ปี
โดยเริ่มตั้งแต่ราคา 13,000 บาทไปจนถึง 28,000 บาทต่อเดือนขึ้นอยู่กับขนาดของรถที่เช่า
และคะแนนความปลอดภัยในการขับรถของผู้ใช้อีกด้วย
ใครจะไปคิดว่าการซื้อรถก็มี Subscription
ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์
IKEA ผู้ประกอบการธุรกิจเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ของโลก ประกาศที่จะนำโมเดล Subscription เข้ามาในธุรกิจของตัวเองเพื่อที่จะยืดอายุการใช้งานของสินค้าตัวเองให้นานขึ้น
จากเดิมผู้ใช้ไม่อยากเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ เพราะมีเฟอร์นิเจอร์เดิมอยู่แล้ว
โมเดล Subscription จะทำให้ผู้ใช้สามารถนำเฟอร์นิเจอร์อันเดิมมาเปลี่ยนเพื่อเลือกชิ้นใหม่ไปแทน
และทาง IKEA ก็จะนำเฟอร์นิเจอร์นั้นมาตกแต่งใหม่เพื่อที่จะนำไปให้ลูกค้าคนอื่นใช้ต่อไป
มาถึงตรงนี้แล้ว เราจะเห็นว่าไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหนก็ตาม บริษัทจำนวนมากกำลังพยายามที่จะสร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบ Subscription ขึ้นมาด้วยจุดประสงค์ที่แตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตาม จุดประสงค์หนึ่งที่ทุกบริษัทให้ความสำคัญก็น่าจะเป็นเรื่องของ รายได้ที่เกิดขึ้นประจำ (Recurring Income)
สมมติถ้าเราซื้อโซฟาจาก IKEA บริษัทก็จะได้รับเงินเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น
แต่ถ้าเป็นระบบ Subscription จะทำให้ IKEA เก็บเงินจากเราได้อย่างสม่ำเสมอในทุกๆ เดือน
ทั้งหมดนี้จึงทำให้เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าโมเดล Subscription จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ในอนาคตเราอาจจะไม่ค่อยได้ยินคำว่า สินค้าลดราคา อีกต่อไป
แต่กลับกลายเป็นคำว่า สมัครสมาชิกวันนี้ได้ราคาพิเศษแทน..
----------------------
Netflix เป็นอีกหนึ่งธุรกิจ Subscription ที่เราคุ้นเคย โมเดลธุรกิจนี้มีผลกระทบอย่างไร อ่านเรื่องนี้ได้ที่ https://www.blockdit.com/articles/5c010bba421c0c19a2581105
โหลดแอป blockdit ได้ที่ blockdit.com
สั่งหนังสือลงทุนแมน เล่ม 8 ได้ที่
Lazada https://s.lazada.co.th/s.RpFk
Shopee http://bit.ly/2HVWiqj
----------------------
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.