เงินปันผล คืออะไร แบบเข้าใจง่ายๆ

เงินปันผล คืออะไร แบบเข้าใจง่ายๆ

23 มี.ค. 2019
เงินปันผล คืออะไร แบบเข้าใจง่ายๆ / โดย ลงทุนแมน
“ถ้าคุณยังหาทางทำเงิน ตอนคุณนอนหลับไม่ได้ คุณต้องทำงานไปจนตาย”
ประโยคสั้นๆ ที่ Warren Buffett เคยกล่าวไว้
แต่ประโยคนี้แฝงด้วยข้อคิด
ซึ่งเป็นแก่นของหลักการลงทุน
การลงทุนที่ทุกคนใฝ่ฝันก็คือ การครอบครองทรัพย์สินอะไรบางอย่าง ที่มันจะสามารถผลิตเงินให้เราใช้ไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ทำอะไรเลย..
และสินทรัพย์ที่นักลงทุนชอบครอบครองก็คือ หุ้นของบริษัทต่างๆ
เพราะหุ้นบริษัทต่างๆ จะผลิต “เงินปันผล” ให้เราใช้ไปเรื่อยๆ ได้..
แล้วเงินปันผล มีรายละเอียดเป็นอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
สมมติ บริษัท A ทำกำไรในรอบปีได้ 1,000 ล้านบาท
บริษัทนี้มีหุ้นจำนวน 100 ล้านหุ้น
หมายความว่า บริษัท A มีกำไรต่อหุ้น หุ้นละ 10 บาท
ถ้าบริษัทมีนโยบายจ่ายปันผล 50% ของกำไรสุทธิ
ดังนั้น บริษัท A จะจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 5 บาท
ถ้าราคาหุ้นบริษัท A อยู่ที่ 100 บาท
หมายความว่า ถ้าเราซื้อหุ้นนี้ไป
เราจะได้ผลตอบแทนจากเงินปันผล หรือเรียกว่า Dividend Yield เท่ากับ 5%
ถ้าบริษัท A จ่ายเงินปันผลหลังรอบระยะเวลาบัญชี เราจะเรียกว่า “เงินปันผลตามปกติ”
แต่ถ้าบริษัท A จ่ายเงินปันผลนอกรอบระยะเวลาบัญชี เราจะเรียกว่า “เงินปันผลระหว่างกาล”
ในบางครั้ง แม้บริษัทขาดทุนในปีนั้น ก็สามารถจ่ายเงินปันผลได้ โดยใช้กำไรสะสมมาจ่าย แต่ถ้าบริษัทยังขาดทุนสะสมอยู่จะยังจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นไม่ได้
ปกติแล้ว เมื่อบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประกาศจ่ายเงินปันผล จะระบุวันที่นักลงทุนไม่ได้สิทธิรับเงินปันผลด้วย นั่นคือ การขึ้นเครื่องหมาย XD หรือย่อมาจาก Excluding Dividend
XD คืออะไร?
ตัวอย่างเช่น ถ้า บริษัท A ประกาศขึ้นเครื่องหมาย XD วันที่ 15 มีนาคม
ถ้าเราซื้อหุ้นวันที่ 14 มีนาคม เรายังมีสิทธิได้รับเงินปันผล
แต่ถ้าซื้อตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม เป็นต้นไป เราจะไม่มีสิทธิรับเงินปันผลในครั้งนี้
เงินปันผลยังมีสิทธิในการเครดิตภาษีได้อีกด้วย
เนื่องจาก เงินปันผลที่จ่ายให้ผู้ถือหุ้นนั้นมาจากกำไรสุทธิของบริษัทที่ถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคลไปแล้ว
ต่อมาเมื่อผู้ถือหุ้นได้รับเงินปันผล จะมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย อีก 10%
ซึ่งอย่างกรณีของหุ้น A นั้น แทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้เงินปันผลหุ้นละ 5 บาท กลับได้เงินปันผลหุ้นละ 4.50 บาทเพราะถูกหัก ณ ที่จ่าย 10%
สรุปแล้ว เงินก้อนเดิมกลับมีการเสียภาษีถึง 2 ชั้น
ชั้นแรกคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ชั้นสองคือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นสามารถเสียภาษีเพียงชั้นเดียว โดยใช้เครดิตภาษีเงินปันผลได้
แต่สำหรับคนที่มีฐานภาษีเงินได้สูง อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เครดิตภาษีเงินปันผล
และสำหรับบริษัทที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี (BOI) ทำให้กำไรของบริษัทไม่ได้ถูกหักภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ถือหุ้นก็จะไม่สามารถใช้เครดิตภาษีเงินปันผลได้
มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ
ปัจจุบัน ตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ของไทยมาในปี ค.ศ. 1975
ตลาดหลักทรัพย์ให้ผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ย 4.29%
โดยปีที่ให้ผลตอบแทนเงินปันผลสูงสุดคือปี 1981 ที่ 9.51%
และปีที่ให้ผลตอบแทนเงินปันผลต่ำสุดคือปี 1999 ที่ 0.86%
ปกติแล้ว นักลงทุนส่วนใหญ่จะชอบเงินปันผล จึงอยากให้บริษัทจ่ายเงินปันผลออกมาให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม บางกรณีแทนที่บริษัทจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น ถ้าบริษัทสามารถนำกำไรดังกล่าวมาลงทุนขยายกิจการของบริษัท จนประสบความสำเร็จ ก็จะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้นได้ สุดท้ายผู้ถือหุ้นก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน
Berkshire Hathaway เป็นตัวอย่างของบริษัทที่ไม่จ่ายเงินปันผล แต่สามารถนำเงินไปใช้ในการลงทุนต่อยอดขยายกิจการของบริษัทได้เป็นอย่างดี
ซึ่งถ้าเราลงทุนในหุ้น Berkshire Hathaway ในปี 1965 ซึ่งเป็นเวลาใกล้ๆ กับที่ Warren Buffett เริ่มเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท เงินลงทุน 10,000 บาท ของเราในวันนั้น จะเพิ่มเป็น 240 ล้านบาทในปี 2017
สุดท้ายแล้ว เรื่องเงินปันผลเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับวิชาการลงทุน
ถ้าใครอ่านจบแล้ว เข้าใจเรื่องนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาเรื่องอื่นที่เกี่ยวข้อง
ในวันข้างหน้า
ถ้ามีใครแนะนำหุ้นตัวไหนให้ฟัง
ลองถามกลับไปว่า
เงินปันผลของบริษัทนี้เป็นเท่าไร
แล้วถ้าบริษัทไม่ปันผล บริษัทเอาเงินกำไรไปทำอะไร..
----------------------
Private Fund และ Trust คืออะไร อ่านได้ที่นี่
https://www.blockdit.com/articles/5c90dc0cfb963f0f6c9277f8
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.