กรณีศึกษา ธุรกิจข้อมูลวิชาการ ELSEVIER

กรณีศึกษา ธุรกิจข้อมูลวิชาการ ELSEVIER

10 เม.ย. 2019
กรณีศึกษา ธุรกิจข้อมูลวิชาการ ELSEVIER / โดย ลงทุนแมน
วิทยานิพนธ์ถือเป็นงานชิ้นสำคัญ
ในชีวิตนักศึกษาหลายๆ คน
บางคนทำเพื่อที่จะจบการศึกษา
บางคนทำเพื่อที่จะเป็นผลงานไปใช้ในการศึกษาต่อ
ซึ่งแหล่งอ้างอิงข้อมูลของการทำวิทยาพนธ์นี้
ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานวิจัยที่เคยทำมาแล้วในอดีต
ฐานข้อมูลทางวิชาการจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญ
แต่รู้ไหมว่าบริษัทผู้ให้บริการฐานข้อมูลนี้
มีรายได้ดีขนาดไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ปัจจุบันผู้ให้บริการฐานข้อมูลทางวิชาการ มีอยู่หลายบริษัททั่วโลก
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกฐานข้อมูลทางวิชาการจะได้รับการยอมรับ
เพราะว่างานวิจัยที่ถูกส่งมาจากทั่วโลกเพื่อตีพิมพ์
มีทั้งคุณภาพดีน่าเชื่อถือ จนไปถึงงานวิจัยที่ไม่มีคุณภาพ
ซึ่งฐานข้อมูลไหนถูกนำไปใช้อ้างอิงบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นฐานข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือในที่สุด
และหนึ่งในฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ใหญ่สุดในโลกขณะนี้ก็คือของบริษัท Elsevier
Elsevier เป็นหนึ่งในฐานข้อมูลทางวิชาการที่สำคัญ
ตั้งแต่การค้นคว้าหาข้อมูล ไปจนถึงการตีพิมพ์งานวิจัยใหม่ๆ เพื่อแบ่งปันความรู้
ตัวอย่างเช่น วารสาร The Lancet และ เว็บไซต์ ScienceDirect
แต่แน่นอนว่า ฐานข้อมูลนี้ไม่ได้เปิดให้ใช้บริการฟรี
ถ้าผู้ใช้ไม่ได้เป็นสมาชิก จะต้องเสียเงินโหลดงานวิจัยที่ตีพิมพ์สูงถึงชิ้นละหลายพันบาท
นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่ต้องตีพิมพ์งานวิจัยของตนเองเพื่อเผยแพร่ลงฐานข้อมูลนี้
ก็ไม่ได้ลงฟรีๆ แต่จะต้องจ่ายเงินพร้อมกับผ่านการตรวจสอบอีกหลายขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยทั่วโลกก็ยอมที่จะจ่ายเงินสูงถึงประมาณ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 310 ล้านบาทต่อปีเพื่อที่จะให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลนี้ได้
ที่น่าสนใจก็คือ Elsevier มีการปรับราคาสมาชิกตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากเป็นที่ได้รับการยอมรับมากสุดเปรียบเสมือนการผูกขาด
จนทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ University of California (UC) มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกตัดสินใจยกเลิกการต่อสมาชิกในปีนี้
ซึ่งก่อนหน้าที่จะยกเลิกสัญญา ทาง UC ได้มีการเจรจากับ Elsevier ถึงการเปิดให้เข้าใช้ฐานข้อมูลนี้ได้อย่างอิสระ
เนื่องจากทาง UC มองว่าทุกคนควรมีอิสระที่จะเข้าถึงความรู้และงานวิจัยใหม่ๆ ได้ง่าย
ผลปรากฏว่า การเจรจาระหว่าง UC และ Elsevier กลับล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
อย่างไรก็ตาม UC ไม่ได้เป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ยกเลิกการต่อสัญญากับ Elsevier
ก่อนหน้านี้ยังมีมหาวิทยาลัยอื่นๆ อีกจำนวนมากที่ได้ทยอยยกเลิกการต่อสมาชิกเช่นกัน
ปัจจุบัน UC มีสัดส่วนของงานวิชาการเกือบ 10% ของผลงานที่ตีพิมพ์ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา
แล้ว Elsevier เป็นของใคร?
Elsevier เป็นหนึ่งในบริษัทย่อยของ RELX Group ผู้ให้บริการเผยแพร่เนื้อหาทางวิทยาศาสตร์เทคนิคและการแพทย์ รวมไปถึงตำราทางกฎหมาย บริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ และจัดนิทรรศการ
บริษัท RELX จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน (FTSE)
ปี 2016 รายได้ 290,000 ล้านบาท กำไร 48,800 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 310,000 ล้านบาท กำไร 69,800 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 315,000 ล้านบาท กำไร 59,800 ล้านบาท
มูลค่าบริษัทอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท ใหญ่พอๆ กับ ปตท. บริษัทที่ใหญ่สุดในประเทศไทย
ท้ายที่สุด ไม่ว่าการเจรจาระหว่างมหาวิทยาลัยกับ Elsevier จะเป็นอย่างไร
ข้อได้เปรียบของ Elsevier ก็ยังคงเป็นฐานข้อมูลทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยทั่วโลกต้องการ
ใครจะไปคิดว่าธุรกิจฐานข้อมูลทางวิชาการ จะสามารถสร้างมูลค่าได้ขนาดนี้
“มีวิชาเหมือนมีทรัพย์อยู่นับแสน”
คำสุภาษิตนี้อาจใช้ไม่ได้แล้ว
เพราะต้องเปลี่ยนใหม่ว่า มีวิชาเหมือนมีทรัพย์นับ “ล้านล้าน”..
----------------------
วิทยานิพนธ์มีความสำคัญกับนักศึกษามาก ถึงขนาดที่อาจารย์จ้างทหารไปช่วยลูกศิษย์จากสงคราม เพื่อให้กลับมาทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ อ่านเรื่องนี้ได้ที่
https://www.blockdit.com/articles/5c176f39a8124a15b786f391
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆ หลายท่าน ในแอป blockdit โหลดได้ที่ http://www.blockdit.com
สั่งซื้อหนังสือลงทุนแมน 9.0 ได้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/90-i293980783-s493954943.html
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.