กรณีศึกษา ธุรกิจรับจ้างผลิต สร้างแบรนด์ตัวเอง แม้ไม่มีแบรนด์สินค้า

กรณีศึกษา ธุรกิจรับจ้างผลิต สร้างแบรนด์ตัวเอง แม้ไม่มีแบรนด์สินค้า

กรณีศึกษา ธุรกิจรับจ้างผลิต สร้างแบรนด์ตัวเอง แม้ไม่มีแบรนด์สินค้า /โดย ลงทุนแมน
ธุรกิจรับจ้างผลิต หรือ OEM ที่เราเห็นกัน มีจุดเด่นคือ ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดต่ำ เพราะลูกค้าของธุรกิจ คือแบรนด์ต่าง ๆ ไม่ใช่ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคขั้นสุดท้าย
จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนโฆษณา ทำแคมเปญการตลาด เพื่อโน้มน้าวผู้บริโภคโดยตรง
แต่ถึงอย่างนั้น การรับจ้างผลิตก็ยังจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ของตัวเองเช่นกัน
คำว่าสร้างแบรนด์ ไม่ได้แปลว่า ธุรกิจรับจ้างผลิตต้องปั้นแบรนด์สินค้าของตัวเองขึ้นมาขายเอง เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักมากขึ้น
แต่แปลว่า เป็นการสร้างชื่อเสียงแบรนด์ให้กับตัวเอง
หรือพูดอีกอย่างคือ ทำให้ลูกค้า (แบรนด์ต่าง ๆ) ที่จ่ายเงินให้เรา รู้จักว่าเราคือใคร และเก่งด้านไหน
และถ้าลูกค้าอยากจ้างผลิตอะไร
ก็จะต้องนึกถึงธุรกิจรับจ้างผลิตนั้น ๆ เป็นเจ้าแรก เสมือนมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกธุรกิจรับจ้างผลิต ที่จะสามารถทำแบบนี้ได้ และถ้าทำได้ ก็ต้องใช้เวลานานพอสมควร
แล้วธุรกิจรับจ้างผลิต ต้องเป็นแบบไหน ถึงทำแบบนี้ได้ ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าให้สรุปว่า ธุรกิจรับจ้างผลิตแบบไหน ที่สร้างแบรนด์
ตัวเองด้วยการไม่มีสินค้าได้ อย่างน้อยต้องเป็นแบบ
1 ใน 3 ข้อนี้ด้วยกัน
- ธุรกิจมีความซับซ้อนสูง
- ธุรกิจมีการประหยัดต่อขนาด
- ธุรกิจมีความเชี่ยวชาญมายาวนาน
เริ่มกันที่ ธุรกิจต้องมีความซับซ้อนสูง
หนึ่งในธุรกิจรับจ้างผลิตที่มีขั้นตอนซับซ้อนสูง คงต้องมีชื่อ TSMC จากไต้หวันอย่างแน่นอน เพราะปัจจุบัน บริษัทนี้เป็นเบอร์ 1 แห่งวงการรับจ้างผลิตชิปให้บริษัททั่วโลก
ไม่ว่าจะเป็น Apple, AMD, NVIDIA, Intel, Microsoft, Amazon, Alphabet ต่างก็เป็นลูกค้าของ TSMC ทั้งหมด
ถ้าถามว่า แล้วทำไมบริษัทระดับโลกพวกนี้ ถึงไม่เปลี่ยนไปใช้บริการจากบริษัทรับจ้างผลิตชิป เบอร์รองลงมาทั้งหมดแทน เช่น Samsung, GlobalFoundries หรือ UMC
คำตอบก็เพราะว่า ด้วยตัวสินค้าอย่างชิปที่ต้องใช้ความซับซ้อนในการผลิตสูง บริษัทระดับโลกเหล่านี้ จึงให้ความสำคัญกับคุณภาพ มากกว่าราคาที่แข่งกันว่าใครถูกกว่า
การจะเปลี่ยนบริษัทรับจ้างผลิตชิปไปเรื่อย ๆ เลยไม่คุ้มกับการมานั่งปวดหัวว่า คุณภาพชิปที่ออกมา จะตรงตามความต้องการของตัวเองหรือไม่
แต่ TSMC สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้เหนือกว่าบริษัทรับจ้างผลิตอื่น ๆ ทั้งเรื่องคุณภาพ และมีออปชันให้เลือกมากมาย ตั้งแต่การผลิตชิปขนาด 16 นาโนเมตร ไปจนถึง 3 นาโนเมตร
แถมยังประกาศว่า ในปี 2025 สามารถผลิตชิปขนาด 2 นาโนเมตร ที่มีความซับซ้อนและคุณภาพสูงมากขึ้น ตามขนาดชิปประมวลผลที่เล็กลงเรื่อย ๆ
พอเป็นแบบนี้ ถ้าเราเป็น CEO ของบริษัทระดับโลก
หนึ่งในชื่อแบรนด์แรก ที่เรานึกถึงเมื่อต้องการจ้างผลิตชิปคุณภาพได้แบบนี้ ก็คงหนีไม่พ้น TSMC
TSMC จึงเป็นบริษัทที่มีแบรนดิงแข็งแกร่งมาก ๆ แม้จะไม่มีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองเลยก็ตาม..
นอกจากความซับซ้อนของการผลิตแล้ว
ธุรกิจรับจ้างผลิตที่มีการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ก็สามารถสร้างแบรนด์ด้วยการไม่มีสินค้าของตัวเองได้เช่นกัน
โดยการประหยัดต่อขนาดที่ว่านี้ จะเกิดขึ้นเมื่อธุรกิจนั้นมีออร์เดอร์เข้ามาจำนวนมาก จนกดต้นทุนการผลิตต่อหน่วยให้ต่ำลงได้
ทั้งจากต้นทุนคงที่ ที่ต่ำลง เช่น ค่าเช่า ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักร-โรงงาน
คนงานหรือต้นทุนผันแปร อย่างวัตถุดิบและสาธารณูปโภคต่าง ๆ
จนบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการผลิตเยอะอยู่แล้ว ก็จะนึกถึงธุรกิจนี้เป็นเจ้าแรก เพราะสามารถผลิตสินค้าด้วยต้นทุนที่ดีที่สุดให้พวกเขาได้
ตัวอย่างเช่น Shenzhou International Group Holdings Limited ธุรกิจรับจ้างผลิตเสื้อผ้าของจีน ที่เริ่มต้นผลิตเสื้อผ้าให้แบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Uniqlo
ก่อนที่แบรนด์ชื่อดังเจ้าอื่นทั้ง Nike, Adidas, Puma, Lululemon ก็เลือกมาใช้บริการจ้างผลิตกับบริษัทนี้
โดยเหตุผลหลัก ก็มาจากการที่ธุรกิจสามารถคุมต้นทุนการผลิตได้ดี เพราะทำได้ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมทั้งการไปตั้งโรงงานเพิ่มเติมในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ
ซึ่งไม่ใช่แค่แบรนด์เสื้อผ้าพวกนี้ที่ได้ประโยชน์ฝั่งเดียว
แต่ Shenzhou International ก็ได้ประโยชน์จากออร์เดอร์ที่เข้ามาเยอะมาก จนทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง เป็นวงจรส่งเสริมกันแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
และบางครั้งการที่ตัวสินค้าเอง มีการใช้วัตถุดิบที่เหมือนกัน แม้จะเป็นออร์เดอร์จากคนละแบรนด์ เช่น เส้นใยเสื้อผ้า หรือสีย้อมผ้า และหมึกสำหรับสกรีนลายบนเสื้อ
ก็ทำให้โรงงานสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบที่ใช้เหมือน ๆ กัน มาสต๊อกไว้ได้จำนวนมาก และทำให้มีต้นทุนวัตถุดิบถูกลง จากยอดซื้อขนาดใหญ่นั่นเอง
เมื่อต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ถูกลง
การที่ผู้ว่าจ้าง จะเปลี่ยนใจไปหาผู้ผลิตรายอื่น จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่ายนัก
และอีกธุรกิจรับจ้างผลิต ที่สร้างแบรนด์ตัวเองด้วยการไม่มีสินค้าได้ นั่นคือ ธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญมานาน
แม้ข้อนี้ อาจจะมีบางมุมคล้ายกับธุรกิจที่มีความซับซ้อนสูง แต่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ก็คือระยะเวลาที่สั่งสมชื่อเสียงและฝีมือมาอย่างยาวนาน จนได้รับการยอมรับในอุตสาหกรรม
ตัวอย่างเช่น Foxconn ธุรกิจรับจ้างผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับแบรนด์ดัง เช่น Apple, Sony, Xiaomi
แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ Foxconn ต้องสั่งสมความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์คุณภาพสูง มาเป็นระยะเวลานาน ก่อนที่แบรนด์ระดับโลกอย่าง HP, Dell และ IBM จะเชื่อมั่น และกล้ามาใช้บริการ
จนในที่สุด Foxconn ก็ได้ลูกค้ารายใหญ่อย่าง Apple
เพื่อรับจ้างผลิตสินค้าให้ และยังมีบริษัทอื่น ๆ เช่น Sony, Xiaomi
ความสำเร็จที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าก็ไม่ได้มาง่าย ๆ เพราะ Foxconn เองก็ใช้เวลานานถึง 10 กว่าปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท เพื่อดึงดูดบริษัทระดับโลกให้เข้ามาจ้างผลิต
ซึ่งปัจจุบัน Foxconn อยู่ในวงการมากว่า 50 ปีแล้ว และเป็นบริษัทกระดูกสันหลังให้กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก โดยที่คนทั่วไปอาจไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า มีบริษัทนี้อยู่เบื้องหลังอุปกรณ์ที่เราใช้กัน
แต่สำหรับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกแล้ว ต่างรู้จัก Foxconn กันเป็นอย่างดี ด้วยชื่อเสียงแบรนด์รับจ้างผลิตสินค้าคุณภาพ แม้ไม่มีสินค้าแบรนด์ตัวเองสักชิ้นเลยก็ตาม
แล้วปีที่ผ่านมา ผลประกอบการของธุรกิจรับจ้างผลิต
ที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นอย่างไรบ้าง ?
TSMC
รายได้ 2,285,000 ล้านบาท
กำไร 900,300 ล้านบาท
อัตรากำไรสุทธิ 39%
Shenzhou International
รายได้ 119,200 ล้านบาท
กำไร 21,800 ล้านบาท
อัตรากำไรสุทธิ 18%
Foxconn
รายได้ 6,513,500 ล้านบาท
กำไร 150,200 ล้านบาท
อัตรากำไรสุทธิ 2%
แม้ทั้งสามบริษัทนี้ จะเป็นธุรกิจรับจ้างผลิตที่ไม่มีแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองเลย แต่ก็สามารถกวาดรายได้เป็นหลักแสนล้านบาท หลักล้านล้านบาทได้
ข้อคิดจากเรื่องนี้ เราคงเห็นแล้วว่า แม้ธุรกิจรับจ้างผลิต ดูไม่น่าสนใจ เพราะแค่รับจ้างผลิตโดยไม่มีแบรนด์สินค้า ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือบริการของตัวเองได้เลย
แถมบางครั้ง อาจทำกำไรต่อหน่วยได้น้อยกว่าการสร้างแบรนด์ แล้วไปทำการตลาด และขายด้วยตัวเอง
แต่จริง ๆ แล้ว ธุรกิจรับจ้างผลิต ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเองได้ ด้วยการหาจุดเด่นและความเชี่ยวชาญให้เจอ
ถ้าทำได้ ลูกค้าที่เป็นเจ้าของแบรนด์ ก็จะวิ่งเข้าหาเราเอง และมีสินค้าของเรา วางขายอยู่ตามท้องตลาด โดยที่เราอาจแทบไม่ต้องทำการตลาดอะไรเลย..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
Reference
-https://historytimelines.co/timeline/foxconn

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon