กรณีศึกษา การแยกขยะ ของญี่ปุ่น ประเทศที่ใช้พลาสติกเยอะ แต่บ้านเมืองยังสะอาด

กรณีศึกษา การแยกขยะ ของญี่ปุ่น ประเทศที่ใช้พลาสติกเยอะ แต่บ้านเมืองยังสะอาด

กรณีศึกษา การแยกขยะ ของญี่ปุ่น ประเทศที่ใช้พลาสติกเยอะ แต่บ้านเมืองยังสะอาด /โดย ลงทุนแมน
ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่หลายคนให้การยอมรับในเรื่องของความสะอาด เพราะไม่ว่าจะมองไปทางไหน ถนนหนทาง บ้านเรือน ก็ดูมีระเบียบ และสะอาดตา
ทั้ง ๆ ที่ญี่ปุ่นนั้นมีประชากรที่หนาแน่นกว่าหลาย ๆ ประเทศ และการใช้พลาสติก ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าประเทศอื่น ๆ
แล้วญี่ปุ่นทำได้อย่างไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
นอกจากความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคนในประเทศแล้ว
นี่อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเดียว ที่ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จ
แต่ยังมีอีกปัจจัยที่สำคัญคือ รากฐานและแนวทางในการจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่รัฐบาลเป็นผู้วางไว้
เริ่มมาจาก ภาคครัวเรือนกันก่อน
หากใครที่เคยอยู่อาศัยในประเทศญี่ปุ่น อาจจะเคยสัมผัสกฎระเบียบต่าง ๆ ในด้านการทิ้งขยะ
หากเทียบกับเมืองไทย หลายคนจะรวบรวมขยะแห้ง ขยะเปียก ทั้งหมดรวมกันแล้วทิ้งไป
แต่ในญี่ปุ่นนั้น การที่เราจะทิ้งขยะ เราจะต้องทำการแยกขยะทั้งหมดอย่างน้อย 4 ประเภทเสียก่อน
แล้วแบ่งใส่ถุงตามที่รัฐจัดให้ ซึ่งการแบ่งก็ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของแต่ละเทศบาล
ตัวอย่างเช่น ในเมือง Beppu
- ถุงสีเขียว เป็นขยะเผาได้ เช่น เศษอาหาร สินค้าประเภทหนัง
- ถุงโปร่งใส สำหรับขยะที่เผาไม่ได้ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก พวกสินค้าโลหะต่าง ๆ ขวดที่รีไซเคิลไม่ได้
- ถุงสีชมพู เป็นพวกขยะรีไซเคิล เช่น ขวดน้ำ PET กระป๋องน้ำดื่ม
- ถุงกึ่งโปร่งใส สำหรับพวกกระดาษ เสื้อผ้า
โดยทางเทศบาล จะแจกปฏิทินว่าจะมาเก็บขยะประเภทไหนวันไหน
หากใครที่ทิ้งผิดวัน หรือแยกขยะไม่ถูกต้อง ขยะก็จะไม่ถูกเก็บไป และต้องนำกลับไปแยกใหม่ แล้วรอมาเก็บรอบถัดไปแทน
และที่ละเอียดไปกว่านั้น คือ นอกจากจะต้องแยกให้ถูกต้องแล้ว ขยะรีไซเคิลต่าง ๆ ก็ต้องมีการทำความสะอาดให้เรียบร้อยก่อนนำไปทิ้งด้วย เช่น ขวดน้ำ กระป๋องน้ำ ต้องล้าง นำฝาขวดและห่วงออก กล่องนม กล่องกระดาษ ก็ต้องตัดพับให้เรียบร้อย
ส่วนภาคอุตสาหกรรม
รัฐบาลก็มีการออกกฎให้ผู้ที่ผลิตของเสียนั้น มีหน้าที่กำจัดของเสียที่ตัวเองก่อขึ้น โดยอาจกำจัดเอง หรือว่าจ้างผู้อื่นมากำจัดได้ และขั้นตอนการกำจัดของเสียทั้งหมด จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่กำหนด
เรื่องทั้งหมดนี้ เมื่อมีการแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ก็ทำให้ง่ายต่อการนำไปรีไซเคิล
โดยในปี 2023 ญี่ปุ่นมีอัตราการรีไซเคิลของพลาสติก PET สูงถึง 85% ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในโลก
ในขณะที่อัตราการรีไซเคิลขยะทั้งหมดในญี่ปุ่น จะอยู่ที่ประมาณ 20%
แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันญี่ปุ่นก็ยังถือว่าประสบปัญหาด้านปริมาณขยะพลาสติกอยู่ไม่น้อย โดยชาวญี่ปุ่น มีอัตราการสร้างขยะพลาสติกต่อหัวเฉลี่ยอยู่ที่ 37 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
สาเหตุหนึ่งมาจากวัฒนธรรมความประณีตของคนญี่ปุ่น ที่ก็ส่งผลมายังเรื่องการบรรจุหีบห่อ ที่เน้นความสะอาด ความสวยงาม และมีหลายชั้น เช่น การห่อผลไม้หรือขนม ด้วยพลาสติกหลายชั้น
รวมถึงญี่ปุ่นนิยมขายสินค้าแบบแพ็กเล็ก เพื่อสะดวกในการพกพา และบริโภคทีละน้อย เช่น การแบ่งห่อขนมเล็ก ๆ ในถุงใหญ่ ซึ่งการแบ่งเป็นห่อเล็ก ๆ เหล่านี้สร้างพลาสติกปริมาณมากขึ้น
และพฤติกรรมการซื้อแบบสะดวกซื้อ โดยญี่ปุ่นมีร้านสะดวกซื้อ หนาแน่นที่สุดในโลก การซื้ออาหารพร้อมทานเป็นเรื่องปกติ และอาหารเหล่านี้บรรจุด้วยพลาสติกหลายชั้น เช่น กล่องห่อข้าว, ซองซอส, ช้อนส้อมพลาสติก
แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีระบบการแยกขยะและรีไซเคิลที่เข้มงวด แต่การบริโภคพลาสติกต่อหัวยังคงอยู่ในระดับสูง และไม่มีกำลังพอที่จะกำจัดขยะได้ทั้งหมด ด้วยปัญหาโรงงานรีไซเคิลที่มีอยู่อย่างจำกัด และพื้นที่ฝังกลบที่ไม่เพียงพอ
ทำให้ขยะพลาสติกบางส่วนนั้นถูกจำหน่ายให้กับประเทศอื่น เช่น ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างประเทศไทยด้วยเช่นกัน
โดยในปี 2024 ญี่ปุ่นส่งออกขยะพลาสติก ประมาณ 683,000 ตัน มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศเยอรมนี
ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาที่ญี่ปุ่นกำลังเร่งแก้ไขอยู่
และรัฐบาลญี่ปุ่น ได้ตั้งเป้าลดการใช้พลาสติกลง 25% ภายในปี 2030 รวมถึงการส่งเสริมการใช้วัสดุทดแทน และการลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว​
นอกจากนี้ ในช่วงหลัง ๆ มานี้ ญี่ปุ่นได้ส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก หลั่งไหลเข้ามาในประเทศ ซึ่งก็ตามมาด้วยปัญหาการทิ้งขยะไม่ถูกที่ ตามถนนและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงการไม่แยกประเภทของขยะ
เรื่องนี้ก็เป็นอีกความท้าทายหนึ่ง ที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องจัดการและรณรงค์อีกทาง
แต่หากพูดถึงเรื่องของการแยกขยะ การตระหนักถึงการรีไซเคิลของคนในชาติ เมื่อเทียบกับปริมาณขยะที่ก่อขึ้นแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ญี่ปุ่นมีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ต้องอาศัยความร่วมมือ ตั้งแต่ภาครัฐ จากจังหวัด เทศบาล อุตสาหกรรม และที่สำคัญที่สุดคือ ประชาชนในประเทศ
ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย และการปลูกฝังจิตสำนึกในเรื่องนี้ มาตั้งแต่ภาคครัวเรือน ก็ช่วยหล่อหลอมให้ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีความสะอาด และเป็นระเบียบมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก..
รู้หรือไม่
ในโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพนั้น ญี่ปุ่นได้ช่วยลดปริมาณขยะที่จะเกิดขึ้น ด้วยการนำโลหะรีไซเคิลมาใช้ในการผลิตเหรียญรางวัลทั้งหมด
โดยประชาชนสามารถช่วยบริจาคชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตามจุดรับบริจาคทั่วประเทศ..
╔═══════════╗
ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2025 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon