กรณีศึกษา KTC ใหญ่กว่า TMB

กรณีศึกษา KTC ใหญ่กว่า TMB

24 เม.ย. 2019
กรณีศึกษา KTC ใหญ่กว่า TMB / โดย ลงทุนแมน
เดือนธันวาคม ปี 2015
KTC มีมูลค่าบริษัท 25,203 ล้านบาท
TMB มีมูลค่าบริษัท 105,874 ล้านบาท
เดือนเมษายน ปี 2019
KTC มีมูลค่าบริษัท 102,488 ล้านบาท
TMB มีมูลค่าบริษัท 90,334 ล้านบาท
หมายความว่า วันนี้ KTC บริษัทที่ทำแค่ธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลได้แซงหน้า TMB ที่ทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ครบวงจรไปเรียบร้อยแล้ว
ทำไมเรื่องแบบนี้ถึงเกิดขึ้นได้ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ทำธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล
โดยโครงสร้างรายได้ของ KTC นั้นมาจากรายได้ธุรกิจบัตรเครดิต 58% รายได้ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล 40% และธุรกิจอื่นๆ 2%
ที่ผ่านมาธุรกิจบัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลของ KTC นั้นเติบโตตามอุตสาหกรรมโดยรวม
จำนวนบัตรเครดิตของทั้งอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับของ KTC
ปี 2017 ทั้งอุตสาหกรรม 20.3 ล้านใบ ของ KTC 2.2 ล้านใบ
ปี 2018 ทั้งอุตสาหกรรม 22.1 ล้านใบ ของ KTC 2.4 ล้านใบ
cr.money2know
ในขณะที่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ
โดยโครงสร้างรายได้ของ TMB นั้นมาจากรายได้ดอกเบี้ย 74% รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ 21% และรายได้อื่นๆ 5%
เมื่อดูขนาดสินทรัพย์ของบริษัทแล้วพบว่า
TMB มีสินทรัพย์รวม 892,224 ล้านบาท
KTC มีสินทรัพย์รวม 76,174 ล้านบาท
TMB มีสินทรัพย์มากกว่า KTC เกือบ 12 เท่า
แต่ทำไมตอนนี้ TMB มีมูลค่าน้อยกว่า KTC?
คำตอบก็คือ ตลาดไม่ได้มองที่ขนาดของสินทรัพย์ แต่มองที่ความสามารถในการทำกำไร
เรื่องแรก การยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอน ทำให้รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งลดลง
รายได้จากค่าธรรมเนียม และบริการของระบบธนาคารพาณิชย์
ปี 2017 ทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ 150,000 ล้านบาท ของ TMB 13,533 ล้านบาท
ปี 2018 ทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ 142,000 ล้านบาท ของ TMB 10,168 ล้านบาท
รวมถึงการเกิดขึ้นของคู่แข่งรายใหม่ๆ โดยเฉพาะผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ที่เข้ามาให้บริการทางการเงินมากขึ้น
และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยใช้การทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์มากขึ้น
พอเรื่องเป็นแบบนี้ก็ทำให้สาขาของธนาคารหลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากคนไปใช้บริการน้อย
อีกทั้ง สาขาที่เปิดและพนักงาน หมายถึง ต้นทุนการดำเนินงานที่มากกว่า
ในขณะเดียวกัน
ธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จะมีสาขาและพนักงานน้อยกว่ามาก
อีกเรื่องคือการขอสินเชื่อของบุคคลรายย่อย
จากสมัยก่อนที่ผู้กู้ต้องไปกู้ยืมหนี้นอกระบบ
แต่สมัยนี้ผู้กู้มีเพียงสลิปเงินเดือนก็สามารถกู้สินเชื่อได้ โดยไม่ต้องมีอะไรค้ำประกัน
ธุรกิจบัตรเครดิตและธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล จึงเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา
ผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 1/2019
TMB รายได้ 8,517 ล้านบาท กำไร 1,579 ล้านบาท
KTC รายได้ 5,574 ล้านบาท กำไร 1,589 ล้านบาท
อัตรากำไรของ TMB นั้นอยู่ที่ 18.5% ขณะที่ของ KTC สูงถึง 28.5%
ซึ่งต้องยอมรับว่า ถึงแม้ว่า TMB จะปล่อยสินเชื่อมากกว่า KTC หลายเท่า
แต่ดอกเบี้ยที่ได้จากสินเชื่อของ KTC มีอัตราที่สูงกว่ามาก
และที่ต่างกันก็คือ ต้นทุนค่าดำเนินการ
เพราะ KTC ไม่จำเป็นต้องมีสาขาและจำนวนพนักงานมากเหมือนธนาคาร
ซึ่งการมีสาขามาก หมายถึง ต้นทุนในการดำเนินการที่สูงตามไปด้วย
ใครจะไปคิดว่า วันนี้กำไรของ TMB ที่ทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ครบวงจรกลับมีกำไรน้อยกว่า KTC ซึ่งทำธุรกิจแคบกว่า เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เรื่องนี้อาจสะท้อนให้เราเห็นถึง..
ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราอาจไม่จำเป็นต้องทำอะไรหลายอย่าง
แต่ขอให้ทำเฉพาะอย่าง ที่เราถนัดและเชี่ยวชาญ
ก็อาจทำให้เราประสบความสำเร็จ ไม่แพ้คนที่มีครบทุกอย่างได้เช่นกัน..
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน KTC มีมูลค่ามากถึงเกือบ 40% ของธนาคารกรุงไทยที่เป็นบริษัทแม่ทั้งธนาคาร..
----------------------
ติดตามเรื่องหลากหลาย จากผู้เขียนเก่งๆในแอป blockdit
นอกจากนั้น เรายังเขียนเองได้ และสามารถสร้างรายได้ในนี้
โหลดแอปได้ที่ http://www.blockdit.com
Tag: KTCTMB
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.