กรณีศึกษา รองเท้า Bata ในประเทศไทย

กรณีศึกษา รองเท้า Bata ในประเทศไทย

19 มิ.ย. 2019
กรณีศึกษา รองเท้า Bata ในประเทศไทย / โดย ลงทุนแมน
สมัยก่อนนักเรียนทุกคน ต้องรู้จักบาจา
เพราะเป็นรองเท้ายี่ห้อดัง ที่ใครๆ ก็อยากใส่
แต่รู้ไหมว่า บาจา หรือ Bata ในภาษาอังกฤษ
ในตอนนี้ รองเท้านักเรียน คิดเป็นสัดส่วนแค่ 4% ของรายได้ทั้งหมด
Bata มีแนวคิดอย่างไร ในโลกที่เปลี่ยนไป
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ถ้าทุกคนคิดว่า Bata เป็นแบรนด์ไทย จริงๆ แล้ว ไม่ใช่..
เรื่องนี้ต้องเล่าย้อนไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437
ที่ประเทศเชโกสโลวะเกีย หรือสาธารณรัฐเช็กในปัจจุบัน
คุณโทมัส บาจา (Tomáš Baťa) กับพี่น้องของเขา
ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตรองเท้าชื่อ T. & A. Baťa Shoe Company
แต่พอเริ่มกิจการได้ไม่นาน บริษัทก็ประสบปัญหาทางการเงิน
ในตอนแรก ธุรกิจรองเท้าของบาจา ใช้วัสดุที่เป็นหนัง ต่อมาบริษัทจึงมาเน้นใช้วัสดุผ้าใบแทนเพื่อลดต้นทุน
แต่สิ่งนี้กลับทำให้สินค้าของบริษัทได้รับความนิยม
พอธุรกิจเริ่มมีการเติบโต ต่อมาก็มีการนำระบบสายพานการผลิตเข้ามาใช้ เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า
หลังจากนั้นบริษัทก็พบกับอุปสรรคต่างๆ ทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1, สงครามโลกครั้งที่ 2 และวิกฤตเศรษฐกิจอยู่หลายครั้ง
แต่ก็ผ่านพ้นมาได้ ด้วยกลยุทธ์การลดราคาสินค้า และลดค่าจ้างแรงงานลง โดยชดเชยด้วยสวัสดิการพนักงานแทน เช่น ให้เสื้อผ้า และอาหาร
แต่ฟ้าหลังฝนย่อมสดใสเสมอ
เมื่อผ่านพ้นวิกฤตมาได้ ยอดขายของบริษัทก็เติบโต
ด้วยวิสัยทัศน์ “เราจะผลิตรองเท้าให้คนทั้งโลกได้สวมใส่”
บริษัทให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจออกไปต่างประเทศทั้งในยุโรป แอฟริกาเหนือ สหรัฐอเมริกา และเอเชีย
ปัจจุบันบริษัทจึงมีร้านค้าปลีกตั้งอยู่กว่า 70 ประเทศทั่วโลก
Cr. allaboutthatbass
กลับมาที่ประเทศไทย
Bata ได้เข้ามาในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2472 หรือ 90 ปีที่แล้ว
จึงไม่แปลกใจที่เราคนไทยจะคุ้นเคยกับแบรนด์นี้มาอย่างยาวนาน
สินค้าที่ทำให้คนไทยรู้จักแบรนด์นี้เป็นอย่างดีก็คือ รองเท้านักเรียน
แต่จริงๆ แล้ว บริษัทยังมีผลิตภัณฑ์อื่น เช่น รองเท้าแฟชั่นของผู้หญิง รองเท้าทำงานของผู้ชาย และรองเท้าออกกำลังกาย
โดยยึดคอนเซ็ปต์รองเท้าต้องสวมใส่สบาย ทนทาน และราคาไม่แพง
น่าสนใจว่า เมื่อไปดูสัดส่วนยอดขาย รองเท้านักเรียนไม่ใช่แหล่งรายได้หลักของบริษัท
ซึ่งตอนนี้คิดเป็นเพียง 4% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้น
บริษัท บาจา (ประเทศไทย) จำกัด
ปี 2559 รายได้ 2,509 ล้านบาท กำไร 122 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 2,444 ล้านบาท กำไร 71 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 2,370 ล้านบาท กำไร 146 ล้านบาท
ใครจะไปคิดว่าแบรนด์ Bata สามารถสร้างยอดขายได้หลักพันล้านบาท
แต่โจทย์สำคัญของแบรนด์นี้ก็เป็นอย่างที่ทุกคนรู้กัน
หลายคนต่างรู้สึกว่าแบรนด์รองเท้า Bata เป็นแบรนด์เก่าแก่ ใส่แล้วไม่เท่
นอกจากต้องแข่งกับผู้เล่นรายใหญ่แล้ว ยังมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เข้ามา พร้อมกับนวัตกรรมมากมาย
จึงสะท้อนออกมาที่ยอดขายของบริษัทที่ทรงตัว
คงต้องติดตามกันต่อไปว่า Bata จะรักษาภาพลักษณ์แบรนด์ให้ดูทันสมัยได้อย่างไร
Cr. Bata Thailand Facebook Page
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ บริษัท บาจา (ประเทศไทย) จำกัด เคยเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 แต่ได้มีการเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ในปี พ.ศ. 2553
----------------------
อ่านลงทุนแมนสนุกขึ้น
อ่านในแอป blockdit
โหลดที่ http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Bata_(company)
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.