Airbnb และ Uber ต้นแบบของ Sharing Economy

Airbnb และ Uber ต้นแบบของ Sharing Economy

29 มิ.ย. 2019
Airbnb และ Uber ต้นแบบของ Sharing Economy / โดย ลงทุนแมน
ถ้าเรามีสินทรัพย์ เช่น ที่พัก หรือ รถยนต์
ซึ่งแน่นอนว่า บางครั้งเราไม่ได้ใช้ตลอดเวลา
และเราต้องการนำสินทรัพย์เหล่านี้ไปสร้างรายได้
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ก็มีผู้ที่ต้องการใช้สินทรัพย์ดังกล่าวเป็นบางเวลาเช่นกัน
เมื่อเป็นแบบนี้จึงเกิดแนวคิดที่เรียกว่า Sharing Economy
แล้วสิ่งนี้เป็นแนวโน้มที่สำคัญอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Sharing Economy เกิดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1978 ซึ่งเป็นแนวคิดสังคมเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน ซึ่งเกิดจากความคิดที่ว่า ผู้ที่มีทรัพยากรบางอย่างต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินทรัพย์ในรูปแบบของค่าเช่าหรือค่าบริการ
แต่แนวคิดนี้ถูกกระตุ้นให้เป็นจริงขึ้นมา เมื่อมีเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อผู้คนทั่วโลกเกิดขึ้น
ในปี 2014 มูลค่า Sharing Economy ทั่วโลกเท่ากับ 480,000 ล้านบาท
และมูลค่าดังกล่าวคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10.7 ล้านล้านบาทในปี 2025
ทุกคนทราบดีว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกมีจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต เพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต
ปี 2005 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 1.0 พันล้านคน คิดเป็น 15% ของประชากรทั้งโลกที่ 6.5 พันล้านคน
ปี 2017 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 3.6 พันล้านคน คิดเป็น 49% ของประชากรทั้งโลกที่ 7.4 พันล้านคน
ขณะที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตคาดว่าจะเพิ่มเป็น 7.5 พันล้านคน หรือกว่า 88% ของประชากรทั้งโลกที่ 8.5 พันล้านคน
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ตัวกลางที่เป็นแพลตฟอร์มจึงเกิดขึ้น เพื่อจับคู่ความต้องการของผู้มีทรัพยากร และผู้ใช้ทรัพยากรมาเจอกัน
Cr.Bmtoolbox

แล้วธุรกิจอะไรบ้างที่มีบทบาทใน Sharing Economy?
ถ้าพูดถึงระดับโลกแล้ว ก็น่าจะนึกถึง 2 บริษัทใหญ่ก็คือ Airbnb และ Uber ซึ่งเป็นตัวแทนของ บ้าน และ รถยนต์
Airbnb เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการแบ่งปันที่พักซึ่งได้รับความนิยมทั่วโลก โดยใช้แนวคิด Sharing Economy เพื่อสร้างธุรกิจสำหรับใครที่มีห้องว่างแล้วต้องการให้คนมาเช่า ในแง่ของผู้บริโภค การเช่าห้องว่างก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการไปพักในโรงแรม
Cr. dealsforest
ตั้งแต่ที่ Airbnb ก่อตั้งเมื่อปี 2008 มีผู้มาใช้บริการกว่า 400 ล้านคน มีที่พักสำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวเกือบ 100,000 เมืองใน 191 ประเทศทั่วโลก
ปี 2017 Airbnb มีรายได้ 83,200 ล้านบาท กำไร 2,900 ล้านบาท
ขณะที่ Uber เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการแบ่งปันการใช้รถยนต์ ระหว่างผู้มีรถยนต์ และผู้ต้องการใช้รถยนต์ เป็นลักษณะของการแบ่งเวลาในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ (Timeshare) ซึ่งอยู่ภายใต้แนวคิดของ Sharing Economy
Uber ก่อตั้งเมื่อปี 2009 ปัจจุบัน ให้บริการกว่า 600 เมือง ใน 65 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ใช้บริการกว่า 110 ล้านคน
ปี 2018 Uber มีรายได้ 362,000 ล้านบาท ขาดทุน 57,600 ล้านบาท แม้จะยังขาดทุน แต่ Uber จงใจให้ขาดทุนเพื่อขยายขนาดของธุรกิจ โดย Uber คาดการณ์ว่าจะค่อยๆ กลับมาทำกำไรได้
จะเห็นว่าทั้ง Airbnb และ Uber เริ่มต้นธุรกิจด้วยการที่ไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพยากรเอง เพียงแต่ใช้รูปแบบการแบ่งปันทรัพยากรกันระหว่างผู้บริโภค และเจ้าของสินทรัพย์ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่ม
แต่ 2 เรื่องนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของสิ่งที่เรียกว่า Sharing Economy
ซึ่งเชื่อว่า คงไม่สิ้นสุดเพียงแค่ธุรกิจ บ้าน และ รถยนต์
ในอนาคตเราจะได้เห็นแนวคิดนี้ ไปใช้กับทุกเรื่องในชีวิตเรา
ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม ที่เราไม่จำเป็นต้องมีเครื่องเกมราคาแพงอยู่ที่บ้าน แต่เป็นการเช่าเครื่องเล่นเกมที่อยู่บน อินเทอร์เน็ต โดยจ่ายค่าเช่าเล็กน้อยเป็นรายเดือนเพื่อแลกกับการเล่นเกมชื่อดังมากมาย
หรือแม้แต่เรื่องที่เราคิดไม่ถึงอย่างร้านอาหาร..
ในอนาคตร้านอาหารชื่อดัง อาจไม่จำเป็นต้องมีครัวเป็นของตัวเองในการขยายสาขา แต่ใช้ Cloud Kitchen ที่เป็นครัวส่วนกลางร่วมกับคนอื่นในการปรุงอาหาร เชื่อมต่อกับบริการส่งอาหารถึงบ้าน เพื่อให้เข้าถึงผู้คนทั่วประเทศ
Cr.Medium
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้น และเชื่อได้ว่ามันจะเป็นแค่จุดเริ่มต้นของอีกหลายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.