วิกฤติ อาร์เจนตินา ที่กำลังจะเหมือน เวเนซุเอลา

วิกฤติ อาร์เจนตินา ที่กำลังจะเหมือน เวเนซุเอลา

13 ส.ค. 2019
วิกฤติ อาร์เจนตินา ที่กำลังจะเหมือน เวเนซุเอลา / ลงทุนแมน
ถ้าเราเอาเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ไปแลกกับ เปโซอาร์เจนตินา
ปี 2014 จะแลกได้ 8.3 เปโซอาร์เจนตินา
ปี 2019 จะแลกได้ 53 เปโซอาร์เจนตินา
ในระยะเวลา 5 ปี ค่าเงินเปโซอาร์เจนตินาอ่อนตัวลงกว่า 6 เท่า
โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา
ค่าเงินเปโซอาร์เจนตินา อ่อนลง 15% ภายในวันเดียว
และตลาดหุ้นตก 35% ภายในวันเดียว
เกิดอะไรขึ้นกับที่นี่ ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เราไปทำความเข้าใจกับรากฐานปัญหาทางด้านเศรษฐกิจของอาร์เจนตินากันก่อน
ปัญหาของที่นี่เกิดมาจากการใช้นโยบายของรัฐที่ผิดวิธี
จุดเริ่มต้นของนโยบายนี้ต้องย้อนกลับไปในปี 1916 โดยนาย Hipólito Yrigoyen ซึ่งทำให้เขาประสบความสำเร็จและได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศ
และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้นำรัฐบาลหลายคนในยุคต่อมาใช้แนวทางแบบเดียวกับเขา จนทำให้ชาวอาร์เจนตินาเสพติดนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายการอุดหนุนราคาสินค้า โดยเฉพาะด้านพลังงาน
ซึ่งแน่นอนว่านโยบายดังกล่าวทำให้ประเทศประสบกับภาวะขาดดุลการคลังมานานหลายปี
ปี 2018 รัฐบาลของอาร์เจนตินามีงบประมาณขาดดุลเท่ากับ 589,000 ล้านบาท
ที่น่าสนใจคือ ตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา อาร์เจนตินามีงบประมาณขาดดุลมาตลอด
ลองมาดูตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของอาร์เจนตินา
มูลค่า GDP
ปี 2017 มูลค่า GDP เท่ากับ 19.9 ล้านล้านบาท
ปี 2018 มูลค่า GDP เท่ากับ 16.1 ล้านล้านบาท
อัตราการว่างงาน
ปี 2017 อัตราการว่างงาน 8.35%
ปี 2018 อัตราการว่างงาน 9.48%
อัตราเงินเฟ้อ
ปี 2017 อัตราเงินเฟ้อ 25.7%
ปี 2018 อัตราเงินเฟ้อ 34.3%
ดูจากตัวเลขทางเศรษฐกิจเหล่านี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เศรษฐกิจของที่นี่กำลังมีปัญหา
อัตราเงินเฟ้อที่สูง ทำให้ธนาคารกลางของอาร์เจนตินาไม่มีทางเลือก จึงต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นมา
ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยของอาร์เจนตินานั้นอยู่สูงกว่า 60%
ทั้งนี้ ก็เพื่อดึงดูดเม็ดเงินให้เข้าสู่ประเทศมากขึ้น ทั้งยังเพื่อไม่ให้ค่าเงินเปโซอาร์เจนตินาอ่อนค่าลงมากเกินไป
การอ่อนค่าของเงินในประเทศ ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพง จนนำไปสู่เงินเฟ้อ วนเวียนกันเป็นวัฏจักรแบบนี้
ระหว่างเดียวกันรัฐบาลอาร์เจนตินาจึงต้องนำทุนสำรองระหว่างประเทศออกมาขาย เพื่อไม่ให้เงินเปโซอาร์เจนตินาอ่อนค่ามากจนเกินไป
แต่เมื่อทุนสำรองของประเทศเริ่มลดลง ในปี 2018 รัฐบาลอาร์เจนตินา ต้องเข้าขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF มูลค่ากว่า 1.7 ล้านล้านบาท เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศจะมีสภาพคล่องไปจนถึงปี 2020 เป็นอย่างน้อย
Cr. Bloomberg
การขอความช่วยเหลือในครั้งนี้ถือเป็นเงินกู้ก้อนใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ IMF
โดยเงื่อนไขของการกู้นั้น รัฐบาลอาร์เจนตินาต้องดำเนินนโยบายรัดเข็มขัด ตัดลดนโยบายต่างๆ ออกไป
แต่แล้วเมื่อมีการเลือกตั้งใหม่รอบไพรมารีโหวต ในวันที่ 11 สิงหาคม 2562 ฝ่ายที่ชนะการเลือกตั้งกลับเป็นฝ่ายที่มีนโยบายในลักษณะเดิมซึ่งมีความเสี่ยงในการสร้างเงินเฟ้อที่รุนแรงอีกครั้ง
ค่าเงินเปโซอาร์เจนตินาจึงอ่อนค่าลง 15% ภายในวันเดียว
ตลาดหุ้นตก 35% ภายในวันเดียว
ซึ่งก็ต้องติดตามว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
ประเทศนี้จะเดินตามรอย ประเทศเวเนซุเอลา ที่มีเงินเฟ้อรุนแรงจนเศรษฐกิจพังทลายหรือไม่
Cr. AFP
เรื่องราวของอาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในหลายกรณีของประเทศที่ใช้นโยบายผิดวิธี จนส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจ
มองอีกมุมหนึ่งนโยบายของรัฐถ้าใช้ผิดวิธี จะคล้ายๆ กับเวลาที่ผู้ใหญ่ให้ขนมเด็กเพื่อต้องการให้ทำอะไรบางอย่าง
ซึ่งถ้าเป็นบางครั้งก็อาจไม่เป็นไร แต่ถ้าให้จนเด็กติดเป็นนิสัย
เมื่อวันหนึ่งผู้ใหญ่คนนั้นไม่สามารถให้ขนมเด็กได้
วันนั้นเด็กอาจไม่พอใจ และร้องโวยวาย
ซึ่งตอนจบนั้น เราอาจโทษใครไม่ได้ นอกจากผู้ใหญ่
เพราะเป็นคนสร้างนิสัยแบบนี้ให้เด็กเอง..
Cr. MercoPress
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.