บางกอกแอร์เวย์ส มูลค่าหาย 3 หมื่นล้านบาทใน 3 ปี

บางกอกแอร์เวย์ส มูลค่าหาย 3 หมื่นล้านบาทใน 3 ปี

21 ส.ค. 2019
บางกอกแอร์เวย์ส มูลค่าหาย 3 หมื่นล้านบาทใน 3 ปี / โดย ลงทุนแมน
แม้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยจะเติบโต
จนทำให้ธุรกิจบริหารสนามบินอย่าง AOT ได้ผลประโยชน์
แต่หลายบริษัทที่ทำธุรกิจสายการบินกลับเจอกับปัญหา
เนื่องจากการแข่งขันที่สูง
หนึ่งในนั้นคือ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
หรือบางกอกแอร์เวย์ส
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
บางกอกแอร์เวย์ส ก่อตั้งโดย นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เดิมบริษัทชื่อว่า กรุงเทพ สหกล จำกัด
ปัจจุบัน ธุรกิจของบริษัทแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก
CR.ThaiSmesCenter
1. ธุรกิจสายการบิน
ปัจจุบัน บริษัทให้บริการเที่ยวบินในประเทศ 16 เส้นทาง และต่างประเทศ 19 เส้นทาง
มีจำนวนเครื่องบิน 40 ลำ มีสัดส่วนรายได้เท่ากับ 73% ต่อรายได้รวม
2. ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน
การให้บริการในลานจอด และครัวการบินที่ผลิตอาหารให้แก่ลูกค้าที่มาใช้บริการในสนามบิน
มีสัดส่วนรายได้เท่ากับ 15% ต่อรายได้รวม
3. ธุรกิจสนามบิน
บริษัทได้เข้าสู่ธุรกิจสนามบินในปี 1989 ปัจจุบัน มี 3 สนามบินของบริษัทคือ สนามบินสมุย สนามบินตราด และสนามบินสุโขทัย มีสัดส่วนรายได้เท่ากับ 2% ต่อรายได้รวม
ขณะที่สัดส่วนรายได้อีก 10% เกิดจากรายได้อื่น เช่น เงินปันผล ดอกเบี้ยรับ
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงคิดว่ารายได้อื่นๆ นั้นไม่สำคัญ
แต่จริงๆ แล้วบริษัทนี้ถือหุ้น บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS อยู่ 5.86% ของบริษัท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าถึง 23,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
แค่มูลค่าที่ การบินกรุงเทพ ถืออยู่ใน BDMS ก็มากกว่า มูลค่าตลาดของการบินกรุงเทพเองที่ 19,000 ล้านบาท
บริษัทการบินกรุงเทพเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2014 ด้วยราคา IPO ที่ 25 บาท จำนวนหุ้นทั้งหมด 2,100 ล้านหุ้น และมีมูลค่าบริษัทเท่ากับ 52,500 ล้านบาท
ปี 2016 มูลค่าบริษัทเคยขึ้นไปสูงกว่า 57,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน มูลค่าบริษัทลดลงเหลือ 19,000 ล้านบาท หรือหายไปกว่า 38,000 ล้านบาท ในระยะเวลาเพียง 3 ปี
ต้องยอมรับว่า ธุรกิจสายการบินเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงมาก หนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญคือ การที่ประเทศไทยได้เปิดเสรีน่านฟ้า จากการทำข้อตกลงของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2015
CR. AeroTime
ซึ่งก่อนหน้านั้น มีเพียงไม่กี่สายการบินที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาลงทุน และให้บริการเส้นทางการบินในประเทศไทย
ปี 2014 มีสายการบินที่ให้บริการเส้นทางต่างประเทศ 116 สายการบิน และเส้นทางในประเทศ 7 สายการบิน
ปี 2018 มีสายการบินที่ให้บริการเส้นทางต่างประเทศ 138 สายการบิน และเส้นทางในประเทศ 25 สายการบิน
การเติบโตของปริมาณสายการบิน มาจากการเติบโตของจำนวนสายการบินต้นทุนต่ำที่ขยายตลาดอย่างรวดเร็ว
ดังนั้น เมื่อมีผู้เล่นเข้ามาแข่งขันกันมาก อุตสาหกรรมนี้จึงมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด ผ่านการใช้กลยุทธ์ด้านราคามาแข่งขันกัน จนทำให้หลายบริษัทเจ็บตัวอย่างหนัก
อีกส่วนเกิดจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2016 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ย 44 ดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2018 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ย 71 ดอลลาร์สหรัฐ
CR. Macrotrends
ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงถือเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของหลายสายการบิน โดยต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของบางกอกแอร์เวย์สนั้นคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของต้นทุนรวม
รายได้และกำไรของบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
ปี 2016 รายได้ 27,451 ล้านบาท กำไร 1,768 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 29,309 ล้านบาท กำไร 788 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 28,746 ล้านบาท กำไร 249 ล้านบาท
ดูจากรายได้ของบริษัทแล้ว แทบไม่เติบโตในช่วงที่ผ่านมา แต่กำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้มูลค่าของบริษัทค่อยๆ ลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทนี้ก็ยังมีมูลค่าที่ซ่อนอยู่คือการถือหุ้น BDMS
ธุรกิจการบินนั้น ในแง่ของผู้โดยสาร ราคาถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะมีผู้โดยสารไม่น้อยที่ไม่สนว่าต้องไปสายการบินไหนเป็นพิเศษ
ขอแค่ไปถึงที่หมายในราคาสมเหตุสมผล พวกเขาก็พร้อมที่จะใช้บริการ
ดังนั้น อาจบอกได้ว่า
การควบคุมต้นทุนถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ
และเป็นตัวชี้วัดว่า ใครจะเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรมการบิน..
----------------------
Blockdit แอปที่เป็นเหมือน คลังความรู้ขนาดใหญ่ อ่านฟรี
โหลดเลย Blockdit.com/download
----------------------
References
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2018 บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
-รายงานประจำปี 2018 บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
-แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2018 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
-https://www.eia.gov/dnav/pet/xls/PET_PRI_SPT_S1_M.xls
-https://en.wikipedia.org/wiki/ASEAN_Single_Aviation_Market
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.