จนถึงวันนี้ Uber ยังไม่มีกำไร

จนถึงวันนี้ Uber ยังไม่มีกำไร

4 ก.ย. 2019
จนถึงวันนี้ Uber ยังไม่มีกำไร / โดย ลงทุนแมน
หากพูดถึงบริษัทที่ถูกตั้งความหวังเอาไว้สูงมาก
หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น Uber
แม้ Uber ยังขาดทุนมหาศาล
แต่ก็มีคนพร้อมเข้ามาลงทุนอยู่เสมอ
เพราะเชื่อว่าในสักวัน ธุรกิจจะสามารถทำกำไรได้
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสิ่งที่รออยู่บนเส้นทางนี้ ไม่ใช่กลีบกุหลาบ
แต่เป็นอุปสรรคขวากหนามมากมาย
ที่สุดท้ายแล้ว บริษัทอาจจะไม่มีทางทำกำไรเลยก็ได้
เรื่องราวนี้น่าสนใจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Uber เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจแนว Sharing Economy โดยได้สร้างแพลตฟอร์มสำหรับเรียกรถ
เพื่อเชื่อมต่อระหว่างผู้มีรถ กับผู้ต้องการใช้รถ (Ridesharing)
รวมทั้งได้ขยายไปสู่ธุรกิจส่งอาหาร (Food Delivery) อีกด้วย
Cr. Tachkit
บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี 2009 หรือเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
ปัจจุบันให้บริการในกว่า 785 เมืองทั่วโลก และมีผู้ใช้แพลตฟอร์มอยู่ราว 110 ล้านคน
หลังจากเป็นสตาร์ตอัปมูลค่าสูงที่สุดในโลกมานาน เมื่อพฤษภาคม 2019 Uber ก็ตัดสินใจทำ IPO เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ก โดยสามารถระดมทุนไปได้ 2.5 แสนล้านบาท
ผลประกอบการ 4 ไตรมาสล่าสุด ของ Uber
Q3 ปี 2018 รายได้ 91,000 ล้านบาท ขาดทุน 30,000 ล้านบาท
Q4 ปี 2018 รายได้ 92,000 ล้านบาท ขาดทุน 27,000 ล้านบาท
Q1 ปี 2019 รายได้ 96,000 ล้านบาท ขาดทุน 31,000 ล้านบาท
Q2 ปี 2019 รายได้ 98,000 ล้านบาท ขาดทุน 160,000 ล้านบาท
ที่ผ่านมา บริษัทมีเป้าหมายในการยึดครองส่วนแบ่งตลาดให้ได้มากที่สุด จึงทุ่มเงินไปกับค่าใช้จ่ายโปรโมชัน และค่าตอบแทนคนขับ ทำให้ขาดทุนมาโดยตลอด ยกเว้นบางไตรมาสที่มีกำไรพิเศษจากการขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรัสเซีย
ในไตรมาสล่าสุด Uber ขาดทุนไปถึง 1.6 แสนล้านบาท สาเหตุจากการบันทึกค่าชดเชยมูลค่าหุ้น IPO ให้กับพนักงาน ซึ่งหากไม่รวมรายการดังกล่าว ผลขาดทุนจะเหลือราว 40,000 ล้านบาท
แต่ที่น่าสนใจคือ
กิจการที่ขาดทุนต่อเนื่องนี้ กลับมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท
ทำไมนักลงทุน ยังเชื่อมั่นในอนาคตของ Uber?
ความสำเร็จของกลยุทธ์ในการเพิ่มฐานลูกค้า จะสะท้อนผ่านจำนวนผู้ใช้บริการ ซึ่งยังเติบโตอยู่ เช่นเดียวกับรายได้
ยอดจองใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม Uber
Q3 ปี 2018 อยู่ที่ 1,348 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่า 3.9 แสนล้านบาท
Q4 ปี 2018 อยู่ที่ 1,493 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่า 4.4 แสนล้านบาท
Q1 ปี 2019 อยู่ที่ 1,550 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่า 4.5 แสนล้านบาท
Q2 ปี 2019 อยู่ที่ 1,677 ล้านครั้ง คิดเป็นมูลค่า 4.9 แสนล้านบาท
และเมื่อถึงเวลาที่บริษัทมั่นใจแล้วว่า สามารถครองใจผู้บริโภค จนไม่อาจเปลี่ยนไปใช้แพลตฟอร์มอื่นได้ ก็อาจพิจารณาขึ้นค่าบริการ หรือลดค่าใช้จ่ายโปรโมชันต่างๆ
แต่หนทางสู่เส้นชัยนี้ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะมันเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงมากมาย
แพลตฟอร์มแบบ Uber นั้น ผู้เล่นรายอื่นก็พัฒนาเองได้ จึงทำให้เกิดคู่แข่งตามมา เช่น Lyft หรือ Grab จนไม่สามารถขยับค่าบริการมากเกินไปได้
Cr. Grab
ที่น่าเป็นห่วงคือ การแข่งขันดังกล่าว อาจทำให้บริการเรียกรถของ Uber ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว และต้องไปเน้นการเติบโตในธุรกิจส่งอาหารแทน
รายได้จากธุรกิจ Ridesharing
Q1 ปี 2019 อยู่ที่ 73,300 ล้านบาท
Q2 ปี 2019 อยู่ที่ 72,400 ล้านบาท
หรือลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว
รายได้จากธุรกิจ Uber Eats
Q1 ปี 2019 อยู่ที่ 16,500 ล้านบาท
Q2 ปี 2019 อยู่ที่ 18,400 ล้านบาท
หรือเติบโต 12% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว
และในบางภูมิภาคที่ Uber สู้ความเชี่ยวชาญของบริษัทท้องถิ่นไม่ได้จริงๆ ก็ต้องตัดสินใจถอนตัวออกมา เช่น การขายกิจการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับ Grab หรือ กิจการในจีนให้กับ Didi Chuxing
Cr. a.mini.eastday
ในขณะที่ สิ่งที่บริษัทฝากความหวังไว้ว่าจะช่วยผลักดันการเติบโต และลดต้นทุนคนขับในระยะยาว คือเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับ รวมทั้งบริการแท็กซี่บินได้
แต่ทั้งสองอย่าง อาศัยงบประมาณวิจัยพัฒนาที่ค่อนข้างสูง ซึ่งยังไม่มีหลักฐานว่าจะได้กำไรจากธุรกิจเหล่านี้ และหากดำเนินการผิดพลาด ก็อาจส่งผลกระทบความเชื่อมั่นของลูกค้าที่มีต่อบริษัทได้
และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เพราะเมื่อปี 2018 รถยนต์อัตโนมัติของ Uber ประสบอุบัติเหตุชนคนเสียชีวิต ที่รัฐแอริโซนา สหรัฐอเมริกา จนต้องระงับการให้บริการชั่วคราว
นอกจากนี้ เพื่อควบคุมผลขาดทุน Uber ได้หันมาใช้มาตรการรัดเข็มขัด
โดยล่าสุด ประกาศปลดพนักงานการตลาดไป 400 คน และหยุดจ้างพนักงานสายวิศวกรรมเพิ่มอีกด้วย
แล้ว Uber จะทนขาดทุนได้อีกนานเท่าไร?
ปัจจุบัน Uber มีส่วนของทุนเหลืออยู่ราว 490,000 ล้านบาท น่าจะรองรับภาวะขาดทุนระดับนี้ไปได้อีกเพียง 2 - 3 ปี เท่านั้น
ก็ต้องรอดูว่าสุดท้ายแล้ว Uber จะกลับมาทำกำไรได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ให้ข้อคิดกับเราได้ว่า
คนที่คิดค้นธุรกิจ อาจจะไม่ใช่ผู้อยู่รอดคนสุดท้ายเสมอไป
จริงอยู่ที่ Uber เป็นต้นแบบ Sharing Economy ด้านรถยนต์ ที่เข้ามา Disrupt รูปแบบบริการขนส่ง
แต่การสร้างตลาดใหม่ โดยเราไม่มีข้อได้เปรียบที่ยั่งยืน
ก็อาจเป็นเหมือนการสร้างสนามแข่งขึ้นมาให้คนอื่น
ซึ่งสุดท้าย คนที่จะชนะในสนามแข่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนสร้าง เสมอไป..
----------------------
Blockdit แอปที่เป็นเหมือน คลังความรู้ขนาดใหญ่ อ่านฟรี
โหลดเลย Blockdit.com/download
----------------------
References
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Uber
-https://s23.q4cdn.com/407969754/files/doc_financials/2019/Q2/Uber-Q2-19-Earnings.pdf
-https://www.businessinsider.com/can-uber-ever-be-profitable-yes-2019-8
-https://www.businessinsider.com/uber-biggest-risks-according-to-wall-street-2019-8
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-08-09/uber-freezes-hiring-of-u-s-tech-staff-as-it-seeks-to-cut-costs
-https://www.pymnts.com/news/ridesharing/2018/uber-grab-sale-acquisition-profit-q1/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.