กรณีศึกษา FOREVER 21 กำลังล้มละลาย

กรณีศึกษา FOREVER 21 กำลังล้มละลาย

6 ก.ย. 2019
กรณีศึกษา FOREVER 21 กำลังล้มละลาย / โดย ลงทุนแมน
หนึ่งในร้านขายเสื้อผ้าที่โด่งดัง “FOREVER 21”
กำลังพิจารณาขอยื่นล้มละลาย
ทั้งๆ ที่ไม่กี่ปีก่อนหน้า ร้านยังอยู่ในช่วงของการเติบโตอย่างรวดเร็ว
แต่วันนี้กลับต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
มันเกิดอะไรขึ้นกับ FOREVER 21
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
FOREVER 21 ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1984 หรือ 35 ปีที่แล้ว
โดย ชางโดวอน และชางจินซุก สามีภรรยาชาวเกาหลีที่อพยพไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา
ทั้งสองได้เปิดธุรกิจร้านขายเสื้อผ้า ที่ชูเอกลักษณ์เรื่องความไวในการเปลี่ยนคอลเล็กชั่นตามเทรนด์ตลาด และเน้นขายราคาถูก
Cr. Forbes
ด้วยกระแสของ Fast Fashion ทำให้แบรนด์เติบโตกลายเป็นร้านค้าปลีกแฟชั่นที่ใหญ่อันดับที่ 5 ของสหรัฐอเมริกา และขยายกิจการจนมี 815 สาขาทั่วโลก
ทุกอย่างดูราบรื่นมาตลอด แต่ช่วงที่ผ่านมา จู่ๆ ยอดขายกลับตกลงอย่างชัดเจน
ปี 2016 รายได้ 120,000 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 100,000 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 83,000 ล้านบาท
ทำให้บริษัทต้องเริ่มควบคุมต้นทุน และทยอยปิดสาขาในบางประเทศ
ประเทศไทยเองก็เช่นกัน
ผู้ที่บริหารจัดการแบรนด์ FOREVER 21 ในไทย คือบริษัท แฟชั่น สตูดิโอ จำกัด
ซึ่งได้เข้ามาทำตลาดเมื่อปี 2008 มีอยู่ 4 สาขา แต่สุดท้ายต้องปิดตัวลงไป ตอนกลางปี 2018
ผลประกอบการบริษัท แฟชั่น สตูดิโอ จำกัด
ปี 2016 รายได้ 451 ล้านบาท กำไร 33 ล้านบาท
ปี 2017 รายได้ 242 ล้านบาท ขาดทุน 13 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 93 ล้านบาท ขาดทุน 15 ล้านบาท
เพราะเหตุใด FOREVER 21 ถึงประสบปัญหา?
สาเหตุอาจมาจาก รูปแบบแผนธุรกิจที่บริษัทวางเอาไว้ ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมผู้บริโภคได้
ในยุคใหม่ ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าทางออนไลน์ แทนที่จะมาเดินหน้าร้าน
เรื่องนี้กระทบ FOREVER 21 มากกว่าเจ้าอื่น
เพราะบริษัทออกแบบร้านให้มีขนาดใหญ่ จึงใช้พื้นที่และต้องแบกรับต้นทุนค่าเช่าที่สูงกว่า
พื้นที่ของร้านโดยเฉลี่ย
FOREVER 21 อยู่ที่ 38,000 ตารางฟุต
H&M อยู่ที่ 20,000 ตารางฟุต
UNIQLO อยู่ที่ 16,000 ตารางฟุต
Cr. Wikimedia Commons
นอกจากนี้ ปัจจัยที่ลูกค้าใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อเสื้อผ้า ยังเปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย
เมื่อก่อนผู้บริโภค อาจคิดถึงราคาเป็นหลัก เพื่อที่จะซื้อได้หลายๆ ตัว
แต่ตอนนี้พวกเขาใส่ใจเรื่องคุณภาพมากขึ้น
เพราะว่ามันคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป มากกว่าการไปซื้อของราคาถูกแต่ใส่ได้ไม่กี่ครั้ง
ทำให้ร้านที่เน้นด้านการบริหารต้นทุน เพื่อขายเสื้อผ้าที่ทันสมัยในราคาถูก แบบ FOREVER 21 หรือ H&M มีแนวโน้มผลการดำเนินงานที่แย่ลง
ในขณะที่ ร้านที่มีจุดเด่นในด้านคุณภาพ และนวัตกรรมของเสื้อผ้า แต่ขายในราคาที่สมเหตุสมผล เช่น ZARA หรือ UNIQLO ยังคงรักษาฐานลูกค้าได้ดี
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ FOREVER 21 ประสบปัญหาด้านการเงิน และหากไม่สามารถหาแหล่งทุนใหม่ได้
ก็อาจพิจารณายื่นล้มละลาย เพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์และปรับโครงสร้างหนี้
ในอนาคต บริษัทคงต้องหาทางปรับกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น
ปิดสาขาที่ขาดทุน ออกแบบร้านให้มีขนาดเล็กลง และพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ดีขึ้นต่อไป
บทเรียนที่ได้จากเรื่องนี้คือ
ธุรกิจที่อิงกับรสนิยมของผู้บริโภค อย่างสินค้าแฟชั่น
ควรมีการวางรากฐานกิจการให้ยืดหยุ่นพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เพราะหากเรามั่นใจในแนวทางมากเกินไป
เมื่อลงทุนไว้สูง ก็ยากที่จะถอนตัว
เหมือนในกรณีของ FOREVER 21..
----------------------
Blockdit แอปที่เป็นเหมือน คลังความรู้ขนาดใหญ่ อ่านฟรี
โหลดเลย Blockdit.com/download
----------------------
References
-https://en.m.wikipedia.org/wiki/Forever_21
-https://www.forever21.com/us/shop/info/aboutus
-https://www.cnbc.com/2019/08/28/forever-21-reportedly-preparing-potential-bankruptcy-filing.html
-https://www.forbes.com/sites/carlieporterfield/2019/08/29/forever-21-considers-filing-for-bankruptcy-reports/#60f10425bcd1
-http://www.thefashionlaw.com/home/forever-21-is-struggling-to-pay-its-bills-according-to-recent-reports
-https://www.marketwatch.com/story/the-biggest-hm-store-in-the-world-opens-today-right-next-to-two-other-hms-2015-05-20
-https://www.therobinreport.com/why-i-am-aglow-with-uniqlo/
-https://www.prachachat.net/facebook-instant-article/news-202900
-กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.