Michael Burry ตัวจริงจากหนัง THE BIG SHORT ทำนายฟองสบู่ครั้งใหม่

Michael Burry ตัวจริงจากหนัง THE BIG SHORT ทำนายฟองสบู่ครั้งใหม่

7 ก.ย. 2019
Michael Burry ตัวจริงจากหนัง THE BIG SHORT ทำนายฟองสบู่ครั้งใหม่ / โดย ลงทุนแมน
THE BIG SHORT เป็นหนังเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจ ที่สร้างมาจากเรื่องจริง
เรื่องนี้อธิบายกลไกทั้งหมดเกี่ยวกับวิกฤตฟองสบู่เมื่อ 11 ปีก่อน
โดยมีต้นกำเนิดจากสินเชื่อซับไพรม์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ตอนนั้น.. นักลงทุนแห่กันลงทุนในสินเชื่อซับไพรม์ซึ่งเป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ โดยไม่มีการตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนซื้อ
ทุกคนซื้อสินเชื่อซับไพรม์ด้วยความเชื่อที่ว่าใครๆ เขาก็ซื้อกัน..
คุณ Michael Burry เป็นหนึ่งในคนที่ไม่เชื่อแบบนั้น
เขาตัดสินใจทำสัญญาซื้อขายอนุพันธ์กับสถาบันการเงิน
โดยมีเงื่อนไขว่า หากสินเชื่อซับไพรม์เบี้ยวหนี้ เขาจะได้ผลตอบแทนมหาศาล
ในที่สุด วิกฤตฟองสบู่สินเชื่อซับไพรม์ก็เกิดขึ้น ทำให้บริษัทอย่าง Lehman Brothers, Bear Stearns ล้มละลาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก
ที่น่าสนใจคือ เมื่อไม่นานมานี้..
คุณ Michael Burry ได้ออกมาให้ความเห็น เกี่ยวกับฟองสบู่ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นอีกในลักษณะเดียวกันกับครั้งที่แล้ว
Cr. Bloomberg
แล้วมันเกิดมาจากอะไร? ลงทุนแมนจะสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักวิกฤตซับไพรม์กันก่อน
ในตอนนั้น ราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถาบันการเงินปล่อยกู้เพื่อที่อยู่อาศัยจึงโตระเบิด นักลงทุนแห่กันมาเก็งกำไร
พอเรื่องเป็นแบบนี้ สถาบันการเงินหัวหมอเลยคิดค้น หลักทรัพย์ CDOs (Collateralized Debt Obligations) ขึ้นมา และเสนอขายให้แก่นักลงทุน
ซึ่ง CDOs จะนำสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคุณภาพดี มาขายรวมกันกับ สินเชื่อด้อยคุณภาพอย่างซับไพรม์..
เมื่อสินเชื่อด้อยคุณภาพมีที่ระบาย ธนาคารก็พากันปล่อยกู้สินเชื่อด้อยคุณภาพมากขึ้น
ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ระเบิดเวลาฟองสบู่ ที่ในที่สุดก็ได้แตกลงในปี 2008..
Cr. Steemit
ซึ่งเรื่องแบบนี้ คุณ Michael Burry ให้ความเห็นว่ามันได้เกิดขึ้นอีกครั้งกับ Index Funds หรือ กองทุนรวมที่ลงทุนอ้างอิงกับดัชนี
แล้ว Index Funds กับ CDOs มันเหมือนกันอย่างไร?
เรื่องแรกคือ การเกิดขึ้นของ Index Funds มีลักษณะคล้ายกันกับ CDOs
โดยคอนเซ็ปต์หลักๆ ก็คือการมัดรวมกันของหุ้นบริษัทต่างๆ เพื่อเสนอขายให้กับนักลงทุน
เพื่อให้เห็นภาพ เราลองมาดูตัวอย่าง..
หากเราอยากจะจัดตั้งกองทุนรวมอ้างอิงดัชนีประเทศไทย หรือ SET
หมายความว่า.. กองทุนรวมอ้างอิงดัชนีจะประกอบไปด้วยเม็ดเงินลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ของประเทศไทย เช่น PTT, AOT, CPALL
พอเรื่องเป็นแบบนี้ การลงทุนประเภท Index Funds จึงมีโอกาสบิดเบือนมูลค่าที่แท้จริงของหลายๆ ธุรกิจ ส่งผลให้นักลงทุนไม่ตรวจสอบมูลค่าและความเสี่ยงที่แท้จริงของกิจการ
อีกเรื่องที่คุณ Michael Burry วิตกกังวลก็คือ ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องของหุ้นทั่วโลก
ในที่นี้ เขายกตัวอย่างการอ้างอิงกับดัชนี S&P 500
จากข้อมูลทางสถิติระบุว่า หุ้นในดัชนี S&P กว่า 266 บริษัท
มีมูลค่าซื้อขายต่ำกว่า 4.6 พันล้านบาทต่อหุ้น ในแต่ละวัน
ซึ่งดูเผินๆ แล้ว ตัวเลขดังกล่าวอาจเป็นมูลค่าที่มาก
แต่ก็ไม่สามารถเทียบได้กับกองทุนรวมอ้างอิงดัชนี
ที่ถือสินทรัพย์เหล่านี้เป็นมูลค่ารวมกันหลายล้านล้านบาท..
หมายความว่า หากกองทุนเกิด Panic ขายสินทรัพย์พร้อมๆ กัน
สภาพคล่องของหุ้นในแต่ละบริษัทจะไม่พอต่อการซื้อขาย
โดยคุณ Michael Burry เปรียบเทียบสภาพคล่องกับโรงหนังที่มีแต่คนแห่เข้าไปดูมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน แต่ทางออกก็ยังมีทางเดียวเหมือนเดิม..
โดยคำถามสำคัญสำหรับเรื่องนี้ก็คือ แล้วมันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่?
คุณ Michael Burry ก็ได้ตอบกลับไปว่า..
“มันก็เหมือนวิกฤตฟองสบู่ทุกครั้ง
ผมไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นตอนไหน
แต่ที่แน่ๆ ยิ่งปล่อยไปนานเท่าไหร่
หายนะของมันก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น..”
----------------------
Blockdit แอปที่เป็นเหมือน คลังความรู้ขนาดใหญ่ อ่านฟรี
โหลดเลย Blockdit.com/download
----------------------
Reference
-https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-09-04/michael-burry-explains-why-index-funds-are-like-subprime-cdos
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.