ทำไมอาเซียน เป็นหนึ่งใน ขุมทรัพย์ไฟฟ้าโลก ที่ Big Tech สนใจ

ทำไมอาเซียน เป็นหนึ่งใน ขุมทรัพย์ไฟฟ้าโลก ที่ Big Tech สนใจ

ทำไมอาเซียน เป็นหนึ่งใน ขุมทรัพย์ไฟฟ้าโลก ที่ Big Tech สนใจ /โดย ลงทุนแมน
ไทย มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย
นี่คือ 4 ประเทศในอาเซียน ที่บรรดาบริษัทระดับโลก หรือบิ๊กเทค (Big Tech) กำลังมองว่าเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์ไฟฟ้าของโลก
ซึ่งสามารถเอาไปป้อนให้กับ Data Center ที่เป็นเหมือนโรงงานของบิ๊กเทค ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้บริการไปทั่วโลกได้
ไม่ว่าจะเป็น Alphabet เจ้าของ Google
Amazon เจ้าของระบบ AWS
และ Microsoft ที่ต่างตบเท้าเข้ามาลงทุนในดินแดนอาเซียนอย่างต่อเนื่อง
ทำไมบิ๊กเทค กำลังมองอาเซียนเป็นขุมทรัพย์ไฟฟ้า ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
สมัยก่อน การที่ธุรกิจระดับโลกจะไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ ก็ต้องมองว่า ประเทศนั้นค่าแรงเป็นอย่างไร แรงงานมีทักษะขนาดไหน คนมีกำลังซื้อเยอะแค่ไหน ซึ่งเป็นคำถามที่มองเรื่องคนเป็นหลัก
แต่สมัยนี้ เมื่อโลกเปลี่ยนไป การทำธุรกิจก็เปลี่ยนไปด้วย จากที่ขายสินค้าจับต้องได้ ก็กลายมาเป็นสินค้าที่จับต้องไม่ได้ แต่เรามองเห็นและสัมผัสได้ราวกับว่ามันมีตัวตน
เช่น การไถโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook, IG, TikTok, YouTube และสารพัดแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เราใช้งานอยู่ทุกวันทั้งที่บ้านและที่ทำงาน
ซึ่งเบื้องหลังสิ่งที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ไม่เว้นแม้แต่การอ่านบทความของลงทุนแมนตอนนี้
รู้ไหมว่า ทั้งหมดนี้มาจากโรงงานของบิ๊กเทคที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง กระจายไปอยู่ทุกมุมทั่วโลก ที่มีชื่อว่า Data Center
ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ มันคือตู้ที่มีระบบสายไฟ ที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลแต่ละเครื่องเข้าหากัน
โดย Data Center มีหน้าที่เก็บข้อมูล ประมวลผล และจัดการข้อมูล เพื่อใช้เป็นฐานในการให้บริการต่าง ๆ เช่น คลาวด์ หรือแอปพลิเคชัน
หรือถ้าเปรียบเทียบ Data Center เป็นโรงงาน
สายไฟจะเปรียบเสมือน สายพานในโรงงานอุตสาหกรรม ที่คอยลำเลียงข้อมูลระหว่างคนงาน อย่างหน่วยประมวลผลข้อมูล กับผู้ใช้งานแต่ละคน
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเซิร์ช Google 1 ครั้ง ข้อมูลก็จะถูกส่งไปที่หน่วยประมวลผลของ Data Center จากนั้นก็ส่งคำตอบกลับมาที่เราอีกครั้ง
คราวนี้ ถ้าทำให้การค้นหาบน Google ทำได้เร็วมากขึ้น
คนงาน (หน่วยประมวลผล) ก็ต้องเก่งขึ้น รับและเข้าใจข้อมูลได้ไวขึ้น ทำให้ Data Center มีความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
และปัญหาตรงนี้ก็ได้เกิดขึ้น เพราะสิ่งที่ตามมานั่นคือ Data Center ต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น เพราะเหมือนกับว่าโรงงานแห่งนี้ได้เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นหลายเท่าตัว
แน่นอนว่า บรรดาบริษัทระดับโลก ก็ลงทุนที่จะสร้าง Data Center ของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรองรับการใช้งานของคนทั่วโลก ไล่ตั้งแต่สหรัฐฯ ยุโรป ไปจนถึงเอเชีย
ซึ่งก็ตามมาด้วยการมองหาแหล่งพลังงานที่จะมาขับเคลื่อนโรงงานดิจิทัลแห่งนี้
โดยเฉพาะในยุคเปลี่ยนผ่านสู่ AI ที่กินพลังงานเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ
และสุดท้ายก็มาถึงอาเซียน ที่บิ๊กเทคมองว่า นี่เป็นหนึ่งในขุมทรัพย์พลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
โดยเหตุผลสำคัญเลย ก็เพราะว่า “มีไฟฟ้าสำรองที่เหลือเกินความต้องการสูง”
เมื่อ Data Center กินไฟอย่างมหาศาลจนเรียกว่า เขมือบไฟฟ้าไปเลยก็ว่าได้
ดังนั้น ถ้าประเทศที่จะมีโรงงานจอมเขมือบไฟฟ้าแห่งนี้ไปตั้งอยู่ ไม่มีไฟฟ้าในประเทศเพียงพออยู่ก่อนแล้ว ก็อาจสร้างปัญหาให้กับบิ๊กเทคเสียเอง
จากรายงานของ Maybank ของมาเลเซีย บอกว่า ประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ ยังมีระดับไฟฟ้าสำรองเหลือใช้เกินความต้องการ 30-80% ซึ่งสูงกว่าประเทศใหญ่ ๆ อย่างสหรัฐฯ และจีนด้วย
โดยตัวเลขตรงนี้ เป็นการเทียบให้เห็นว่า กำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศนั้น มากกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงสูงสุดเยอะแค่ไหน
และถ้าให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ก็ไม่ต้องไปไหนไกล
เพราะถ้าเรามองมาที่ประเทศไทย ปัจจุบันเรามีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบทั้งหมดประมาณ 50,000 เมกะวัตต์ แต่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดประมาณ 37,000 เมกะวัตต์
คิดเร็ว ๆ คือ ประเทศไทยมีกำลังไฟฟ้าสำรองเหลือใช้กลม ๆ ประมาณ 35% ไม่ต่างจากประเทศอื่นในอาเซียนมากนัก
ซึ่งการมีไฟฟ้าสำรองที่เหลือนี้เอง ทำให้บิ๊กเทคตัดสินใจไม่ยาก ที่จะมาลงทุน Data Center ที่ประเทศในอาเซียนนั่นเอง
แต่การมีไฟฟ้าสำรองที่เหลือเพียงอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอ
เพราะบิ๊กเทคยังมองว่า อาเซียนเป็นขุมทรัพย์ไฟฟ้าที่มีความมั่นคงสูงด้วย
ตั้งแต่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ที่ไม่ค่อยมีภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรงบ่อยถึงขั้นรุนแรง เช่น ภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว แต่ก็อาจมีพายุฝนเข้ามาบ้างในบางช่วงฤดูกาล
เรื่องนี้ก็เป็นข้อดีตรงที่ประเทศในอาเซียนมีความอุดมสมบูรณ์เรื่องน้ำ ที่จำเป็นกับ Data Center ในระบบระบายความร้อนตอนทำงาน
และการมีภัยพิบัติร้ายแรงไม่บ่อย ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายอย่างมหาศาลลงไปอีกด้วย
รวมทั้งภูมิภาคอาเซียนยังถูกมองว่า เป็นหลุมหลบภัยจากสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ได้เป็นอย่างดี ทำให้บิ๊กเทคเปลี่ยนใจมาลงทุน เพื่อกระจายความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง
และนอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญ
ไม่แพ้กัน นั่นคือ ต้นทุนการสร้าง Data Center ที่ต่ำกว่าประเทศสหรัฐฯ และยุโรป
ซึ่งที่ผ่านมา สิงคโปร์ ก็เป็นศูนย์กลางบริษัทระดับโลกในภูมิภาค ที่มีการตั้ง Data Center มากมาย เพราะมีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน จนเป็นประเทศที่มีการใช้พลังงานไฟฟ้าจาก Data Center มากที่สุดในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ของสิงคโปร์ ทำให้การขยาย Data Center ถูกจำกัดตามไปด้วย บริษัทระดับโลกจึงต้องมองหาพื้นที่ใหม่ ๆ ที่ยังไม่พัฒนาและมีราคาถูก
ตัวอย่างเช่น ในรัฐยะโฮร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อก่อนเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญอย่างปาล์มน้ำมัน ตอนนี้กลับกลายเป็นพื้นที่ทำเลทอง ที่บิ๊กเทคต่างเข้าไปจับจองเพื่อสร้าง Data Center
เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่ไกลจากสำนักงานที่สิงคโปร์ แถมมาเลเซียเอง ก็ยังมีระบบสายเคเบิลใต้น้ำ ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลส่งผ่านไปที่เกาะสิงคโปร์ได้ไม่ยากนัก
ในขณะที่อินโดนีเซียเอง ก็พยายามตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่ธุรกิจ Data Center กระจายไปตามเกาะต่าง ๆ ทั่วประเทศที่ยังมีศักยภาพอีกมากมาย เช่น เกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว เกาะชวา
ส่วนไทย พื้นที่ศักยภาพสำคัญก็คงหนีไม่พ้นพื้นที่ EEC ในภาคตะวันออกของไทย ที่มีทั้งนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าของตัวเอง ที่พร้อมสำหรับการลงทุนอยู่แล้ว
ซึ่งนอกจากต้นทุนที่ดินราคาถูกแล้ว ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คิดเป็น 30-50% ของต้นทุนการดำเนินงานของ Data Center ก็ยังเป็นข้อได้เปรียบของประเทศในอาเซียนอีกด้วย
ถ้าเทียบกับประเทศอื่นที่มี Data Center จำนวนมากแล้ว เช่น สหรัฐฯ ที่มีค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจ ประมาณ 5 บาทต่อหน่วย ส่วนสหราชอาณาจักร มีค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 11 บาทต่อหน่วย
ประเทศในอาเซียน มีอัตราค่าไฟฟ้าต่อหน่วยสำหรับธุรกิจที่ต่ำกว่านั้น โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่มีอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับธุรกิจ ราว 3-4 บาทต่อหน่วยเท่านั้น
พอเป็นแบบนี้ ก็ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมบิ๊กเทคถึงอยากมาตั้ง Data Center ในประเทศแถบนี้ เพราะจะทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลง
แต่ก็ต้องบอกว่า อาเซียนเองก็ยังพึ่งพาพลังงานไม่สะอาดสูง โดยส่วนใหญ่ยังใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินราว 60-90% ของพลังงานที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด
ในอนาคต บิ๊กเทคกำลังมองเรื่องพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งถ้าประเทศในอาเซียนส่งเสริมเรื่องนี้ให้สำเร็จไม่ได้
ก็อาจทำให้บิ๊กเทคตัดสินใจลงทุนน้อยลงได้
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ ก็เป็นสิ่งที่บิ๊กเทคให้ความสำคัญ เพราะถ้าไฟฟ้าในประเทศนั้นติด ๆ ดับ ๆ หรือมีปัญหาไฟฟ้าไม่พอ เช่นในเวียดนาม สุดท้ายก็กลายเป็นจุดอ่อน ที่ชะลอให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศนั้น
ถึงตรงนี้ ก็คงเข้าใจแล้วว่า ทำไมบิ๊กเทค กำลังมองว่าอาเซียนเป็นหนึ่งในขุมทรัพย์พลังงานไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
ก็แปลกดีว่า เมื่อก่อนถ้าบริษัทต่างชาติจะเข้าไปลงทุนในประเทศไหน คงถามว่า ประเทศนี้มีคนและทรัพยากรในประเทศ พร้อมแค่ไหน
แต่มาวันนี้ คำถามอาจเปลี่ยนเป็น ประเทศคุณมีไฟฟ้ามากแค่ไหน ให้เราได้ใช้งาน..
╔═══════════╗
ภาวะเงินเฟ้อ ตลาดผันผวนแบบนี้ ติดตามข่าวเศรษฐกิจแบบเน้น ๆ จากหลายเพจได้ใน Blockdit - คอนเทนต์แพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2 ล้านคน ลองใช้ฟรี blockdit.com/download
╚═══════════╝
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
TikTok - tiktok.com/@longtunman
Spotify - open.spotify.com/show/4jz0qVn1AL7tRMHiTvMbZH
Apple Podcasts - podcasts.apple.com/th/podcast/ลงทุนแมน/id1543162829
Soundcloud - soundcloud.com/longtunman
References
-ASEAN Data Centre Ride The Multi-Year Data Centre Wave 2024 by Maybank
-https://thaipublica.org/2024/10/cgsi-report-data-centre-in-asean/
-https://www.egat.co.th/home/statistics
-https://www.visualcapitalist.com/cp/top-data-center-markets/

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

SPONSORED
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.
Blockdit Icon