STITCH FIX ธุรกิจสไตลิสต์ส่วนตัว ที่ Amazon ยังต้องทำตาม

STITCH FIX ธุรกิจสไตลิสต์ส่วนตัว ที่ Amazon ยังต้องทำตาม

17 ก.ย. 2019
STITCH FIX ธุรกิจสไตลิสต์ส่วนตัว ที่ Amazon ยังต้องทำตาม / โดย ลงทุนแมน
รูปแบบการซื้อสินค้าแฟชั่น กำลังเปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง
ในสมัยก่อน เราต้องเดินซื้อเองที่หน้าร้าน
ในปัจจุบัน เราสามารถซื้อผ่านโลกออนไลน์ได้
แต่ในอนาคต อาจจะมีคนส่งของมาให้เราเลือกซื้อถึงบ้าน
ธุรกิจลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยบริษัทชื่อว่า “Stitch Fix”
ที่คอยคัดสรรสินค้าที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค
และส่งไปให้ทดลองก่อนจะตัดสินใจซื้อ
เรื่องราวนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Stitch Fix เป็นสตาร์ตอัปจากประเทศสหรัฐอเมริกา
ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 โดย แคทรีนา เลค และ เอริน ฟลินน์
บริษัทจะรวบรวมสินค้าแฟชั่นจากหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า รองเท้า หรือเครื่องประดับต่างๆ มาเสนอขายให้กับลูกค้า
แต่สิ่งที่แตกต่างจากกิจการค้าปลีกทั่วไป
คือ Stitch Fix จะทำหน้าที่เหมือนเป็นสไตลิสต์ส่วนตัว
โดยบริษัทจะให้สมาชิก กรอกข้อมูลส่วนตัวลงบนเว็บไซต์
เช่น รูปร่าง, อายุ, รสนิยม, แบรนด์ที่ชื่นชอบ, งบประมาณ รวมถึงบัญชี Social Network
จากนั้น จะนำรายละเอียดดังกล่าว ไปวิเคราะห์ต่อ
ด้วยเทคโนโลยี AI และเครือข่ายพนักงาน Data Science กับสไตลิสต์อีกกว่า 4,000 ราย
เพื่อคัดเลือกสินค้า 5 ชิ้น ที่ลูกค้าน่าจะชื่นชอบ จัดส่งไปให้ทดลองใส่ดูก่อน ถึงที่บ้านเลย
ซึ่งลูกค้ามีเวลา 3 วัน ในการตัดสินใจว่าจะซื้อ หรือส่งคืนสินค้าชิ้นใดบ้าง
ถ้าไม่ซื้อ จะเสียแค่ค่าบริการสไตลิสต์ 600 บาท
ถ้าซื้อบางชิ้น จะไม่ต้องเสียค่าบริการสไตลิสต์
ถ้าซื้อทั้งหมด 5 ชิ้น จะได้ส่วนลดเพิ่ม 25%
นอกจากนี้ บริษัทยังได้กำไรส่วนต่าง ระหว่างต้นทุนราคาขายส่งที่ซื้อจากแบรนด์พันธมิตร กับราคาขายปลีกอีกด้วย
บริการของ Stitch Fix ได้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาของการซื้อสินค้าแฟชั่นทางโลกออนไลน์
ที่ผู้บริโภคไม่ได้ลองก่อน หรือไม่มีเวลามานั่งหาสินค้าเอง
ทำให้ผลการดำเนินงานของ Stitch Fix, Inc. กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปี 2016
จำนวนผู้ใช้บริการ 1.7 ล้านคน
รายได้ 22,000 ล้านบาท กำไร 1,000 ล้านบาท
ปี 2017
จำนวนผู้ใช้บริการ 2.2 ล้านคน
รายได้ 30,000 ล้านบาท ขาดทุน 18 ล้านบาท
ปี 2018
จำนวนผู้ใช้บริการ 2.7 ล้านคน
รายได้ 39,000 ล้านบาท กำไร 1,400 ล้านบาท
และในกลางปี 2019 จำนวนผู้ใช้บริการได้เพิ่มขึ้นเป็น 3.1 ล้านคน
ทั้งนี้บริษัท Stitch Fix ได้เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ เมื่อปี 2017
ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท
ด้วยแนวโน้มที่ดีของอุตสาหกรรมการให้บริการแบบรายบุคคลนี้ ทำให้ผู้เล่นรายอื่นเล็งเห็นโอกาสเช่นกัน
เพราะมันช่วยให้ผู้ประกอบการรู้ว่า สินค้าแบบไหนที่น่าจะขายได้
จึงสามารถวางแผนการผลิตและการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้ แบรนด์ต่างๆ จึงเริ่มหันมาทำบริการสไตลิสต์บ้าง
แต่ Stitch Fix มีข้อได้เปรียบตรงที่เป็นตัวกลาง รวบรวมสินค้าจากหลากหลายร้าน
ต่างจากแบรนด์อื่นที่จำกัดสินค้าอยู่แค่ของร้านตนเอง
อย่างไรก็ตาม มีคู่แข่งที่น่ากลัวรายหนึ่ง ซึ่งมีแบรนด์คู่ค้าในมือมากกว่า
นั่นคือ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ E-Commerce อย่าง Amazon
ในปีนี้ Amazon ได้เริ่มเปิดให้บริการแบบเดียวกันนี้ กับสมาชิกระบบ Subscription ของตน ในชื่อว่า Prime Wardrobe
โดยคิดค่าบริการที่ถูกกว่า คือเพียงเดือนละ 150 บาท
และให้เวลาตัดสินใจนานกว่า คือภายใน 7 วัน
ปัจจุบัน Amazon Prime มีฐานสมาชิกอยู่ราว 100 ล้านบัญชี และมีเงินทุนมหาศาล
จึงน่าสนใจว่า การแข่งขันในตลาดนี้ จะดุเดือดมากเพียงใด
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า
สิ่งสำคัญที่สุดของธุรกิจ
อาจจะไม่ใช่ราคาที่ถูก หรือความเร็วในการให้บริการ
แต่เป็นการตอบโจทย์ให้ได้ว่า ลูกค้าอยากได้สินค้าแบบไหน
ซึ่งเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้น ทำให้เราสามารถวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนได้
ผลประโยชน์สูงสุด จึงตกไปอยู่กับผู้บริโภค
ต่อไปเราอาจจะไม่ต้องไปเดินห้างให้เสียเวลา
เพราะทุกอย่าง จะเดินเข้ามาหาเราเอง..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดียรูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
----------------------
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Stitch_Fix
-https://finance.yahoo.com/quote/SFIX/
-https://investors.stitchfix.com/static-files/ec8ba972-9fde-4ec4-91f1-3712c2e659b5
-https://www.marketwatch.com/story/amazon-takes-on-stitch-fix-with-personal-shopper-service-2019-07-31
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.