สรุป Blockchain และ Bitcoin แบบง่ายสุดแล้ว

สรุป Blockchain และ Bitcoin แบบง่ายสุดแล้ว

13 มี.ค. 2017
ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า Blockchain และ Bitcoin แต่เชื่อว่าส่วนใหญ่ยังงงอยู่ว่ามันคืออะไร จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มาจากทิศทางของระบบการเงินโลกในอนาคตจะเป็นสังคมไร้เงินสด การจ่ายเงินรับเงินจะทำผ่านระบบดิจิตอล เพราะสะดวก ลดปัญหาคอรัปชันและฟอกเงิน ไม่มีต้นทุนในการพิมพ์หรือขนส่งธนบัตร แต่จะทำอย่างไรให้เงินดิจิตอลมีความปลอดภัย ไม่ใช่ว่าใครอยากเสกเงินขึ้นมาในระบบก็ทำได้
หลักการครอบครองสินทรัพย์สำคัญที่สุดคือ สินทรัพย์นั้นต้องมีชิ้นเดียว เช่น นาย A อยากให้ทองคำนาย B เมื่อนาย B ได้รับทองคำแล้ว นาย A จะต้องไม่มีทองคำอยู่ในมือ แต่การส่งข้อมูลในโลก digital ทั่วไปจะเป็นแบบ copy เช่น เราส่งรูปให้เพื่อนในไลน์ เพื่อนได้รับรูป แต่รูปนั้นก็ยังอยู่กับเราด้วย วิธีแก้ไขปัญหานี้แต่เดิมคือจะต้องมีบุคคลที่ 3 มาเป็นตัวกลางในการตัดเงิน มีค่าธรรมเนียมของตัวกลาง ตัวอย่างของตัวกลางก็คือ visa mastercard paypal alipay และระบบตัวกลางเหล่านี้จะยังอ้างอิงกับสกุลเงินของประเทศต่างๆและอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศ
แต่เมื่อปี 2008 มีคนนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ซึ่งไม่ต้องผ่านตัวกลางและเป็นหน่วยเงินดิจิตอลที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสกุลเงินใดๆ คนนี้ชื่อว่า Satoshi Nakamoto ซึ่งเป็นนามแฝงและ ปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าคนนี้ตัวจริงเป็นใคร และระบบแรกนี้เรียกว่า Bitcoin แต่ต่อมาก็มีอีกหลายระบบตามมา เช่น Ethereum และ R3 blockchain
Blockchain มีหลักการทำงานอย่างไร?
เมื่อนาย A โอนเงินให้นาย B จะเกิดข้อมูลชุดหนึ่งเรียกว่า Block และ เมื่อนาย B โอนให้นาย C ก็จะเกิดอีก Block หนึ่ง โดยที่ Block ทั้งสองจะเชื่อมถึงกัน และจะเชื่อมต่อกันไปเรื่อยๆเมื่อมีการโอนต่อไป ซึ่งการที่ข้อมูลเชื่อมกันเป็น chain นี้มีข้อดีคือสามารถตรวจสอบกลับไปต้นทางได้ว่าเงินที่โอนนั้นมีอยู่จริง ไม่ได้เสกขึ้นมา และทุกๆครั้งที่มีการโอนเงินเกิดขึ้นจะต้องมีคนมาตรวจสอบย้อนไปถึงต้นทางว่าการโอนเงินนั้นถูกต้องการโอนถึงจะเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งหน่วยเงินจะถูกเรียกตามชื่อระบบ เช่น bitcoin
หลักการตรวจสอบการโอนเงิน
หลักการตรวจสอบใช้หลักการแข่งขันกันของคนในระบบเองซึ่งการแข่งขันจะทำให้เกิดการ decentralized ไม่มีใครมีอำนาจควบคุมระบบได้ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญที่ทำให้ระบบมีความปลอดภัย แต่การตรวจแต่ละครั้งนั้นไม่ง่ายเพราะกฎมีอยู่ว่าจะต้องปลดล็อครหัสก่อน ซึ่งต้องใช้เวลาในการหารหัสไปเรื่อยๆ (นึกภาพเหมือนเราตั้งรหัสเข้าเครื่องในไอโฟน แล้วให้เพื่อนลองทายตัวเลขไปเรื่อยๆ ซึ่งระบบนี้มีรหัสที่ยาวมากและจะต้องลองผิดลองถูกเป็นล้านๆครั้ง) การที่จะลดเวลาในการหารหัสได้ก็คือต้องมีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากในการหารหัสพร้อมๆกัน
แล้วใครจะอยากตรวจสอบถ้าต้องลงทุนมาก?
รางวัลของคนแรกที่แก้รหัสได้ก่อนก็คือเงิน bitcoin นั่นเองโดยที่รางวัลถูกตั้งให้น้อยลงเรื่อยๆเมื่อเวลาผ่านไป เช่นคนที่แก้รหัสได้ในปัจจุบันจะได้รางวัล 1 bitcoin แต่ใน 4 ปีข้างหน้ารางวัลจะเหลือแค่ 0.5 bitcoin ซึ่ง bitcoin ถูกกำหนดไว้ว่าจะผลิตออกมาแค่ 21 ล้าน bitcoin และมีการคาดการณ์ว่าหลังจากปี 2140 หรืออีก 123 ปีข้างหน้าจะไม่มี bitcoin ออกมา ดังนั้นเมื่อ supply ถูกจำกัด bitcoin ก็จะมีค่าในตัวของมัน ไม่ต่างอะไรกับทองคำซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาว่ามันมีค่าเพราะเป็นของหายากมีจำกัด และคนที่แข่งกันตรวจสอบการโอนเงินนี้จะถูกเรียกว่า Miner เปรียบเหมือนนักขุดทองสมัยก่อน
จะเห็นได้ว่าคงไม่มีใครที่จะครอบครอง bitcoin จำนวนมากได้ง่ายๆแต่เพียงผู้เดียว การที่จะได้ bitcoin ใหม่จะต้องมีการลงทุนและแข่งขันกัน ดังนั้นอย่างน้อย bitcoin ควรมีมูลค่าเท่ากับต้นทุนในการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์และค่าไฟฟ้าเพื่อมาเป็น Miner ปัจจุบันแหล่งที่สามารถซื้อคอมพิวเตอร์และมีค่าไฟฟ้าที่ถูกที่สุดคือประเทศจีน จึงทำให้ประมาณ 70% ของ Miner ทั้งหมดบนโลกนี้มีการติดตั้งโรงคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ในประเทศจีน
แล้วถ้าหลังปี 2140 แล้วไม่มี bitcoin ใหม่เกิดขึ้น จะมีปัญหาไหม?
Bitcoin สามารถแตกหน่วยย่อยได้ถึง 100 ล้านส่วน ดังนั้น bitcoin น่าจะมีเพียงพอสำหรับอนาคต และในอนาคตจะมีค่าธรรมเนียมการโอนเงินมาให้เป็นแรงจูงใจแทนรางวัล ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีค่าธรรมเนียมการโอนเงิน
ระบบนี้มีจุดอ่อนอย่างไร?
ระบบนี้ยังใหม่เป็นเงินดิจิตอลในโลกเสมือน ไม่มีลักษณะทางกายภาพจับต้องไม่ได้เหมือนทองคำ คนทั่วไปยังไม่เข้าใจว่าสิ่งที่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์จะมีค่าได้อย่างไร และรัฐบาลแต่ละประเทศยังไม่ให้การยอมรับให้เป็นสิ่งถูกกฎหมาย และเมื่อไม่ถูกกฎหมายก็ยังไม่ค่อยมีร้านค้ายอมรับการจ่ายเงินด้วย bitcoin ในทางกลับกันระบบนี้กลับกลายเป็นแหล่งเก็บเงินของคนทำอาชีพผิดกฎหมาย และ bitcoin มีข้อจำกัดทางเทคนิคที่อาจจะยังไม่สามารถรองรับการโอนเงินที่เป็น scale ใหญ่ทั่วโลกได้ และการแข่งขันกันของคนตรวจสอบอาจจะมีสักวันหนึ่งที่มีกลุ่มคนร่วมมือกันมีอำนาจในระบบตรวจสอบ และทำให้ระบบขาดความน่าเชื่อถือได้
ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายระบบที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain นี้เช่นกัน เช่น R3 Consortium ซึ่งคนร่วมมือเป็นธนาคารขนาดใหญ่หลายสิบธนาคารทั่วโลก ซึ่งระบบนี้คาดหวังไว้ว่าถ้ามีธนาคารเป็นแบ็คอัพจะทำให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
ถึงแม้ว่าตอนนี้เทคโนโลยีนี้อาจจะยังไม่เป็นรูปเป็นร่างเท่าไร แต่ถ้าระบบสกุลเงินแบบเดิมมีความน่าเชื่อถือน้อยลง เช่นการพิมพ์เงินมากๆโดยรัฐ หรือ มีสงครามครั้งใหญ่ คนในประเทศนั้นก็อาจจะหันมาใช้เงินดิจิตอล Blockchain แทนสกุลเงินเดิมก็เป็นได้
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.