สัญญาณเตือนภัย ธุรกิจสตาร์ตอัป จาก SoftBank

สัญญาณเตือนภัย ธุรกิจสตาร์ตอัป จาก SoftBank

11 ต.ค. 2019
สัญญาณเตือนภัย ธุรกิจสตาร์ตอัป จาก SoftBank / โดย ลงทุนแมน
“ผู้ก่อตั้ง บริษัทสตาร์ตอัป ควรรู้ขีดจำกัดของตัวเอง..”
ประโยคนี้กล่าวโดย Masayoshi Son เจ้าของอาณาจักร SoftBank Group
ที่กำลังเตือนเจ้าของบริษัทสตาร์ตอัปที่เขาเข้าไปร่วมระดมทุน..
ตลอดเวลาที่ผ่านมา
วิสัยทัศน์การลงทุนของ SoftBank Group คือ การเชื่อว่า.. ธุรกิจสตาร์ตอัปที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก จำเป็นที่จะต้องมีความอดทน และมีวิสัยทัศน์ในระยะยาว
แต่เมื่อไม่นานมานี้ Masayoshi Son ให้สัมภาษณ์กับ Nikkei Business ว่าเขารู้สึกอับอายและเริ่มทนไม่ไหวกับการลงทุนในบางบริษัท
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่น
เรามาทำความรู้จัก Masayoshi Son กันก่อน..
Son เป็นนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น เริ่มต้นทำธุรกิจขายคอมพิวเตอร์
โดยเขาได้แปรสภาพบริษัทมาเป็นบริษัทโฮลดิ้งยักษ์ใหญ่
ภายใต้บริษัท SoftBank Group รวมถึงก่อตั้ง Vision Fund หรือ กองทุนวิสัยทัศน์ 300 ปี..
ปัจจุบัน SoftBank Group ลงทุนอยู่ใน 1,302 บริษัท
ซึ่งมาจากการกระจายการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยี และ สตาร์ตอัปชั้นนำทั่วโลก
เช่น
Arm Holdings บริษัทวิจัยพัฒนาชิป
Didi Chuxing บริษัทเรียกรถในประเทศจีน
Uber บริษัทเรียกรถในสหรัฐอเมริกา
WeWork บริษัทเช่าพื้นที่ Co-working Space
สำหรับดีลที่ประสบความสำเร็จมากสุด คือ
การระดมทุนในบริษัท Alibaba มูลค่า 12,000 ล้านบาท
ซึ่งปัจจุบันการลงทุนดังกล่าวมีมูลค่า 2,390,000 ล้านบาท
คิดเป็นผลตอบแทนกว่า 199 เท่าภายใน 19 ปี
แต่ความสำเร็จที่ผ่านมาของ Son และ SoftBank Group
อาจกลายมาเป็นตัวเร่งให้ความโลภของนักระดมทุนทั่วโลกยัดเงินลงในธุรกิจสตาร์ตอัป
ที่ยังไม่มีแนวโน้มการทำกำไรในอนาคตที่ชัดเจน..
ซึ่งเรื่องดังกล่าว อาจส่งผลไปยังการประเมินมูลค่าบริษัทสตาร์ตอัปที่มากเกินจริง..
เรามาดูตัวอย่างผลประกอบการบริษัทสตาร์ตอัปที่ได้รับการระดมทุนจาก SoftBank
และสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สำเร็จในปีนี้
บริษัท Uber Technologies
ไตรมาสที่ 2 ปี 2018
รายได้ 84,165 ล้านบาท ขาดทุน 22,470 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 2 ปี 2019
รายได้ 96,267 ล้านบาท ขาดทุน 166,780 ล้านบาท
(มีค่าใช้จ่ายรายการพิเศษ 118,600 ล้านบาท)
บริษัท Slack Technologies
ไตรมาสที่ 2 ปี 2018
รายได้ 2,797 ล้านบาท ขาดทุน 973 ล้านบาท
ไตรมาสที่ 2 ปี 2019
รายได้ 4,409 ล้านบาท ขาดทุน 10,948 ล้านบาท
จากผลประกอบการของทั้งสองบริษัท แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีผลการขาดทุนมาโดยตลอด..
ที่น่าสนใจคือ การให้มูลค่า (Valuation) ของบริษัทเหล่านี้
แพลตฟอร์มเรียกแท็กซี่ Uber มีมูลค่ามากกว่า บริษัทผลิตรถยนต์ Honda ทั้งบริษัท
แอปแช็ตในองค์กร Slack มีมูลค่ามากกว่า ทุกธนาคารในประเทศไทย..
รวมถึง WeWork แพลตฟอร์มเช่าพื้นที่ Co-working Space ที่ทำธุรกิจไม่ต่างอะไรจากบริษัทให้เช่าออฟฟิศสำนักงาน
แต่เมื่อมีคำว่าสตาร์ตอัปที่ได้รับการระดมทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ ทำให้ WeWork มีมูลค่าประเมินก่อนหน้านี้สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งมากกว่าทุกบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย..
แต่ภายหลังที่บริษัทยื่นเอกสารเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วเกิดปัญหา
มูลค่าการประเมินของ WeWork กลับดิ่งลงเหลือเพียง 4.5 แสนล้านบาท
ซึ่งทำให้ผู้ระดมทุนใหญ่สุดอย่าง SoftBank ได้รับผลกระทบไปด้วย
มูลค่าปัจจุบันของบริษัท SoftBank ที่ปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดในเดือนเมษายน
เกือบ 30% คิดเป็นมูลค่าที่หายไปกว่า 1.1 ล้านล้านบาท
จากเหตุการณ์ WeWork น่าจะส่งผลกระทบต่อการประเมินมูลค่าของสตาร์ตอัปทั่วโลก
ต่อไปนี้ผู้ให้ทุน อาจจะต้องหยิบข้อมูลของบริษัทมาดูอย่างจริงจัง
ว่าบริษัทไหนเป็นของจริง บริษัทไหนเป็นของปลอม
เพราะดูเหมือนว่าเกือบทั้งหมดที่อยู่ในวงการนี้
จะมีของจริงที่สามารถทำกำไรได้จริง เพียงไม่กี่บริษัท..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-https://group.softbank/en/corp/irinfo/about/outline/
-https://investor.slackhq.com/news/news-details/2019/Slack-Announces-Second-Quarter-Fiscal-Year-2020-Financial-Results/
-https://investor.uber.com/news-events/news/press-release-details/2019/Uber-Reports-Second-Quarter-2019-Results/default.aspx
-https://www.businessinsider.com/softbank-masayoshi-son-embarrassed-with-investments-after-wework-uber-troubles-2019-10
-https://fortune.com/2019/10/05/2019-ipo-market-wework-peloton-uber-lyft-slack/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.