วิกฤติ เลบานอน

วิกฤติ เลบานอน

5 พ.ย. 2019
วิกฤติ เลบานอน / โดย ลงทุนแมน

เมื่อรัฐบาลเลบานอนกำลังเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ
ทั้งยังมีงบประมาณขาดดุลต่อ GDP สูงสุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก
จึงจำเป็นต้องแก้ปัญหาด้วยการขึ้นภาษีสินค้าหลายอย่าง
หนึ่งในนั้นคือ ภาษีการสื่อสารผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจาก Social Media
แต่สุดท้ายกลับนำมาซึ่งการประท้วงอย่างรุนแรง
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เลบานอนเป็นประเทศในเอเชีย ตั้งอยู่ในแถบตะวันออกกลาง มีประชากรประมาณ 6.8 ล้านคน มีมูลค่า GDP เท่ากับ 1.77 ล้านล้านบาท โดยประชากรมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 260,200 บาท ทำให้เลบานอนจัดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง
ในช่วงระหว่างปี 2007-2010 เศรษฐกิจของเลบานอนเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.1% ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็ว สาเหตุหลักมาจากการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์ หลังจากสงครามในเลบานอนสิ้นสุดลงในปี 2006
แต่แล้วในปี 2011 เศรษฐกิจของเลบานอนที่กำลังไปได้ดี กลับต้องมาเจอกับสงครามกลางเมืองซีเรีย ซึ่งมีรัฐบาลหลายประเทศเข้ามามีส่วนร่วม หนึ่งในนั้นคือ เลบานอน ที่ได้เข้าร่วมกับกองทัพซีเรียเพื่อสู้กับฝ่ายต่อต้านรัฐบาลซีเรีย
ผลของสงครามทำให้เศรษฐกิจเลบานอนกลับเติบโตเหลือเพียง 1.5-1.7% ในช่วงระหว่างปี 2011-2017 ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักทางหนึ่งของประเทศพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังเลบานอนหายไปมากกว่า 1 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2012-2017
ปี 2012 จำนวนนักท่องเที่ยว 5.5 ล้านคน
ปี 2017 จำนวนนักท่องเที่ยว 4.2 ล้านคน
เศรษฐกิจที่เติบโตช้าลง และงบประมาณขาดดุลที่รัฐบาลพยายามนำมากระตุ้นเศรษฐกิจกลับไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเติบโตมากนัก
การขาดดุลต่อ GDP ค่อยๆ เพิ่มขึ้นจาก -5.9% ในปี 2011 มาอยู่ที่ -11% ในปี 2018 ทำให้ปัจจุบัน เลบานอนเป็นประเทศที่มีหนี้สาธารณะต่อ GDP กว่า 155% สูงมากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ของโลก
พอเรื่องเป็นแบบนี้ รัฐบาลจึงต้องพยายามหารายได้เพิ่ม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดทำงบประมาณในปี 2020 และการขึ้นภาษีคือ ทางออกของเรื่องนี้..
โดยรัฐบาลประกาศว่าจะขึ้นภาษีสินค้าหลายรายการ ในการหารายได้เข้ารัฐไม่ว่าจะเป็นภาษีบุหรี่ ภาษีน้ำมัน
และหนึ่งในนั้นยังรวมไปถึง การเก็บภาษีสำหรับการใช้โทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจาก Social Media เช่น WhatsApp, Facebook Messenger, FaceTime จำนวน 0.20 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6 บาทต่อวัน
ซึ่งปัจจุบัน ในเลบานอนนั้นมีผู้ใช้โทรศัพท์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจาก Social Media กว่า 3.5 ล้านคน หรือมากกว่า 50% ของประชากรในประเทศ นั่นหมายความว่า รัฐบาลเลบานอนตั้งเป้าที่จะเก็บภาษีจากมาตรการนี้ไม่ต่ำกว่า 7,700 ล้านบาทต่อปี
หลังจากการขึ้นภาษี ชาวเลบานอนจำนวนมากจึงไม่พอใจ จึงนำมาสู่การประท้วงอย่างรุนแรง
แต่นั่นอาจเป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุที่ชาวเลบานอนออกมาประท้วง เพราะพวกเขามองว่า ที่ผ่านมารัฐบาลบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ รวมทั้งภายในรัฐบาลมักมีปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งเลบานอนนั้นเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีการคอร์รัปชันมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก
จากเรื่องนี้ เราจะเห็นได้ว่า
การประท้วงในหลายๆ ประเทศนั้น ต้นเหตุมักเกิดมาจากเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหา จนทำให้ประชาชนเริ่มมีความเป็นอยู่ที่ลำบากมากขึ้น
เมื่อรวมกับการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล
การใช้เงินภาษีของประชาชนที่ผิดวัตถุประสงค์
และผลสุดท้ายก็จะนำไปสู่
ความต้องการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจของรัฐ นั่นเอง..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
----------------------
References
-http://worldpopulationreview.com/countries/lebanon-population/
-https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_countries_by_public_debt
-https://tradingeconomics.com/lebanon/government-budget
-https://www.washingtonpost.com/politics/2019/10/22/lebanons-economic-crisis-didnt-happen-overnight-so-how-did-it-get-this-point/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Tourism_in_Lebanon
-https://stepfeed.com/power-of-the-people-lebanon-drops-whatsapp-tax-following-protests-1262
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.