3 ทศวรรษที่หายไป ของญี่ปุ่น

3 ทศวรรษที่หายไป ของญี่ปุ่น

16 ธ.ค. 2019
3 ทศวรรษที่หายไป ของญี่ปุ่น / โดย ลงทุนแมน
30 ปีที่แล้วตลาดหุ้นของญี่ปุ่นเคยทำจุดสูงสุดในปี 1989 เกือบถึง 39,000 จุด
ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 23,000 จุด ซึ่งยังไม่กลับไปถึงจุดนั้น
ญี่ปุ่นมียอดขายรถยนต์ผ่านจุดสูงสุดตั้งแต่ปี 1990 หลังจากนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง
มูลค่าเศรษฐกิจเคยใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกตั้งแต่ปี 1978-2010 แต่ปัจจุบันได้สูญเสียตำแหน่งนี้ให้แก่จีนไปแล้ว
แม้ว่าตอนนี้ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งหนึ่งของโลก แต่ต้องยอมรับว่าบทบาททางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นกำลังลดลง
อะไรที่ทำให้ ญี่ปุ่นเกิดคำว่า “Lost Decade” หรือ ทศวรรษที่หายไป
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
┏━━━━━━━━━━━━┓
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
┗━━━━━━━━━━━━┛
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากการสูญเสียประชากรจำนวนมากและทรัพยากรจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศย่ำแย่อย่างมาก
โดยสหรัฐอเมริกาในฐานะผู้ชนะสงครามได้สั่งห้ามญี่ปุ่นไม่ให้สะสมกำลังทหาร โดยคงไว้เพียงแค่ป้องกันประเทศ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับส่งผลดีต่อญี่ปุ่น เพราะไม่ต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนมากด้านการทหาร ทำให้มีเงินงบประมาณเหลือเพื่อนำไปใช้ฟื้นฟูและพัฒนาประเทศอย่างเต็มที่
ถึงแม้สิ่งก่อสร้างจะถูกทำลาย แต่องค์ความรู้ด้านวิทยาการต่างๆ ของคนญี่ปุ่นยังไม่ได้หายไปไหน
เมื่อรวมฐานเทคโนโลยีเดิม กับความมีระเบียบวินัย ทำให้ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา เศรษฐกิจของญี่ปุ่นนั้นเติบโตแบบก้าวกระโดด GDP เติบโตเฉลี่ยปีละ 10% ในช่วงระหว่างปี 1960-1970 ทำให้ช่วงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ไปจนถึงปี 1990 เลยทีเดียว
จนหลายคนเรียกช่วงเวลานั้นว่า Japanese Economic Miracle หรือ “ความมหัศจรรย์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น”
ปี 1960 มูลค่า GDP 1.3 ล้านล้านบาท
ปี 1990 มูลค่า GDP 95 ล้านล้านบาท
GDP เติบโต 73 เท่า
ปี 1960 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวญี่ปุ่นเท่ากับ 14,500 บาท
ปี 1990 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของชาวญี่ปุ่นเท่ากับ 766,000 บาท
รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเติบโต 53 เท่า
อย่างไรก็ตาม ก่อนสิ้นสุดการเติบโตอันยาวนานหลังปี 1990 ระหว่างทางนั้นเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่เตือนญี่ปุ่น
หลายคนทราบดีว่า การส่งออกถือเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของญี่ปุ่น สิ่งนี้ทำให้ญี่ปุ่นนั้นเกินดุลการค้าอย่างมหาศาล โดยเฉพาะกับสหรัฐอเมริกา
ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงต้องการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับเงินเยนและเงินของประเทศอื่นๆ อีก 4 ประเทศ จนนำไปสู่การทำข้อตกลง Plaza Accord ในปี 1985
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้ตั้งแต่ปี 1985-1988 เงินเยนนั้นแข็งค่ากว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
ปี 1985 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 242 เยน
ปี 1988 เงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 120 เยน
ทำให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นเริ่มแข่งขันลำบาก บริษัทในญี่ปุ่นจำนวนมากต้องปลดคนงานราวกว่า 30% ของจำนวนแรงงานในภาคการผลิตจริงของประเทศ เนื่องจากธุรกิจเริ่มไม่มีกำไร
เหตุการณ์นี้ส่งผลให้บริษัทของญี่ปุ่นจำนวนมากต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำในอาเซียน
พอการส่งออกมีปัญหา เศรษฐกิจของประเทศก็ชะลอตัว
ธนาคารกลางของญี่ปุ่นจึงต้องออกมากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายด้วยการลดอัตราดอกเบี้ยจาก 5.0% ในปี 1986 มาอยู่ที่ 2.5% ในปี 1987
แต่การลดลงของอัตราดอกเบี้ยคือ ตัวกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้ราคาสินทรัพย์ทั้งราคาหุ้นและราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อรวมกับการปล่อยสินเชื่อจำนวนมาก แต่ปราศจากการควบคุมและตรวจสอบที่รัดกุม ทำให้ราคาสินทรัพย์เหล่านั้นกลายเป็นฟองสบู่
ในปี 1986-1989 ดัชนี Nikkei ปรับเพิ่มขึ้นจาก 13,000 จุด พุ่งขึ้นมาเกือบถึง 39,000 จุด หรือเพิ่มขึ้น 200%
ในปี 1984 ราคาที่ดินเฉลี่ยในโตเกียว 1 ตารางเมตรเท่ากับ 169,000 บาท
แต่ 2 ปีให้หลังกลับเพิ่มขึ้นถึง 757,000 บาท หรือเพิ่มขึ้น 348%
ขณะที่ราคาที่ดินโดยเฉลี่ยทั่วญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นกว่า 300% ตั้งแต่ปี 1985-1991
การเก็งกำไรอย่างมากในตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้สุดท้ายธนาคารกลางของญี่ปุ่นต้องหยุดความร้อนแรงด้วยการเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตั้งแต่ปลายปี 1989-1990 จนทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นจาก 2.5% มาอยู่ที่ 6%
สิ่งนี้ส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรงในปี 1990 ตามมาด้วยราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงอย่างรวดเร็วในปี 1991
หลายบริษัทที่กู้ยืมเงินด้วยต้นทุนที่ถูกมาก่อนหน้านี้มีภาระหนี้สูงขึ้น ทำให้บางบริษัทต้องปิดตัวลง ขณะที่เศรษฐกิจที่ตกต่ำทำให้ภาคธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จำนวนมาก
อีกด้านหนึ่ง รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของชาวญี่ปุ่นนั้นลดลง นำไปสู่การบริโภคของคนญี่ปุ่นที่ลดลง
เรื่องนี้ส่งผลให้ ตั้งแต่ปี 1990 ถึงปี 2000
GDP ของญี่ปุ่นนั้นมีการเติบโตที่ชะลอตัวลงอย่างหนักเมื่อเทียบกับอดีต
จนทำให้เกิดคำว่า ทศวรรษที่หายไปของญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
สุดท้ายในระหว่างทางที่เศรษฐกิจชะลอตัว ญี่ปุ่นก็ต้องค่อยๆ ลดอัตราดอกเบี้ยลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจนแตะ 0% ตั้งแต่ปี 1999 และตั้งแต่นั้นมาประเทศญี่ปุ่นก็มีอัตราดอกเบี้ยใกล้เคียง 0% มาตลอด ซึ่งคิดเป็นเวลา 2 ทศวรรษแล้ว และเศรษฐกิจของประเทศก็ยังซึมมาตลอด
จนในตอนนี้ประเทศญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาครั้งใหม่คือ ประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันวัยแรงงานก็ลดลง นั่นหมายความว่าการจะผลักให้เศรษฐกิจโตได้ก็จะต้องใช้แรงมากกว่าเดิม
และที่น่าสนใจคือ คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่กำลังเคยชินกับทศวรรษที่หายไป จนเขาอาจไม่ได้รู้สึกว่ามันแปลกอะไร
เพราะถ้าดูจากข้อเท็จจริง คนญี่ปุ่นที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี พวกเขาจะเห็นดอกเบี้ยในประเทศที่ใกล้เคียง 0% มาตลอด และตั้งแต่พวกเขาเกิดมา จะไม่เคยเห็นเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรงมาก่อน
สิ่งที่เกิดขึ้นในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าทำให้ความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกของญี่ปุ่นลดลง และโดนจีนแซงขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกไปเป็นที่เรียบร้อย
แน่นอนว่า ในตอนนี้ญี่ปุ่นก็ยังเป็นประเทศพัฒนาอันดับต้นๆ ของโลก ประเทศนี้เต็มไปด้วยบุคลากรที่มีคุณภาพ สามารถเทียบเคียงประเทศพัฒนาแล้วทางฝั่งตะวันตกได้อย่างสบาย
แต่ก็น่าจะมีคนญี่ปุ่นหลายคนที่ยังแอบมีความหวังอยู่เล็กๆ ว่า
สักวันหนึ่ง ประเทศญี่ปุ่นจะกลับมาเติบโตได้เหมือนในอดีต เหมือนที่เขาเจอมาในวัยเด็ก
แต่เมื่อดูข้อเท็จจริงแล้ว
มันก็แทบจะเป็นความหวังที่ริบหรี่ลงเรื่อยๆ ตามเวลาที่ผ่านไปในแต่ละทศวรรษ..
----------------------
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
Blockdit.com/download
----------------------

References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_economic_miracle
-https://en.wikipedia.org/wiki/Plaza_Accord
-https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_asset_price_bubble
-https://en.wikipedia.org/wiki/Lost_Decade_(Japan)
-http://home.iitk.ac.in/~ganshul/report1.pdf
-https://en.wikipedia.org/wiki/Economy_of_Japan
-https://www.thebalance.com/japan-s-lost-decade-brief-history-and-lessons-1979056
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.