TWITCH เทรนด์ดูทีวี ของเด็กรุ่นใหม่

TWITCH เทรนด์ดูทีวี ของเด็กรุ่นใหม่

20 ก.ย. 2017
ตอนแรกลงทุนแมนเห็นเรื่องนี้ก็คิดว่าคงเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป
แต่ต้องแปลกใจ เมื่อรู้เรื่องราวโมเดลธุรกิจของ TWITCH
TWITCH เริ่มจาก 0 เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ตอนนี้มีรายได้ 53,000 ล้านบาท
รายได้ขนาดนี้ คือ สเกลของบริษัท AOT หนึ่งในบริษัทที่ใหญ่สุดในไทย
เคยเจอไหม สิ่งที่ดูเหมือนไม่มีอะไรในตอนแรก
แต่สุดท้ายสิ่งนั้นกลับมีค่ามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่คิดมาก่อน
ถ้าเป็นเรา เราจะยอมทิ้งทุกอย่างแล้วมาเริ่มกับสิ่งนั้นไหม?
ขอต้อนรับสู่ เรื่อง TWITCH..
Twitch เป็น platform ถ่ายทอดสดการเล่นเกม และการแข่งขัน e-sports ที่ตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น
Twitch มีจุดเริ่มต้นจากการเป็นแค่หมวดๆ หนึ่ง ของ Justin.tv เวปไซต์ที่ก่อตั้งขึ้นโดย Justin Kan, Emmett Shear, Michael Seibel และ Kyle Vogt เมื่อปี 2550 หรือ 10 ปีที่แล้ว
ซึ่ง Justin.tv นั้นเดิมเปิดเพื่อถ่ายทอดสดชีวิตของ Justin Kan ตลอด 24 ชม. เป็นเวลาประมาณ 8 เดือน ก่อนที่จะเปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาทำแชนแนลถ่ายทอดสดของตัวเอง โดยจะแบ่งออกเป็นหลายๆ หมวด เช่น โซเชียล, เทคโนโลยี, ข่าว, กีฬา, บันเทิง, และเกม
และกลายเป็นว่าจาก Content ทั้งหมด
การถ่ายทอดสดเล่นเกม (หรือที่เรียกกันว่า Game Casting หรือ Game Streaming) ได้รับความนิยมมากที่สุดและเติบโตอย่างรวดเร็ว
จนทำให้บริษัทตัดสินใจเปิดตัวเวปไซต์ใหม่ชื่อ Twitch.tv เพื่อนำเสนอ Content เกมโดยเฉพาะขึ้นในปี 2554
ปี 2557 หรือหลังจากเปิดตัว Twitch ได้ 3 ปี บริษัทก็เลือกที่จะทุ่มเทให้กับ Twitch โดยเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่เป็น Twitch Interactive ก่อนที่จะปิดตัว Justin.tv ลงอย่างเป็นทางการ และนับเป็นปีที่ Twitch เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ปี 2557 Twitch กลายเป็น source of Internet traffic ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของอเมริกา ตามหลัง Netflix, Google และ Apple
ปี 2558 คนดู Twitch เฉลี่ย 420 นาทีทุกเดือน เทียบกับ youtube 291 นาที
โดยการเข้ามาของ Twitch ทำให้ผู้เล่นเดิมอย่าง YouTube และ Dailymotion ต้องปรับตัวเข้าหาตลาดเกมมากขึ้น เช่นการเปิด YouTube Gaming แต่ก็พอพูดได้ว่าสู้กับทาง Twitch ไม่ได้เลย
เมื่อทำสู้ไม่ได้ Google จึงตัดสินใจให้ YouTube (บริษัทลูก) ขอซื้อ Twitch มาเลย ในราคาประมาณ 1 พันล้านเหรียญ หรือ ประมาณ 33,000 ล้านบาท แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ จากปัญหาในเรื่องของการผูกขาด (Antitrust Law) ที่มีโอกาสจะตามมาในอนาคต
หลังจากดีลของ Google ล่ม ก็เป็น Amazon.com ที่ได้ซื้อ Twitch ไปในราคา 970 ล้านเหรียญ หรือประมาณ 32,000 ล้านบาท
เมื่อเข้ามาอยู่กับ Amazon ได้ 2 ปี Twitch ก็เปิดตัวลูกเล่นใหม่หลักๆ 2 อย่าง
อย่างแรก คือที่เรียกกันว่า การเชียร์ (Cheering) คือเป็นการส่งตัวอิโมติคอนพิเศษให้กับเจ้าของแชนแนล คล้ายๆ กับการบริจาค (Donate) โดยจะใช้สกุลเงินพิเศษที่ซื้อผ่าน Amazon Payments ชื่อว่า Bits ในการส่ง
อย่างที่สอง คือ Twitch Prime สำหรับคนที่เป็น Amazon Prime อยู่ สามารถเลือก Subscribe ช่องใดก็ได้ 1 ช่อง และได้เป็นแอคเค้าท์ Prime ไม่ต้องดูโฆษณาระหว่างการสตรีม ได้รับของฟรี (Game Loot) รวมไปถึงส่วนลดเกมประจำแต่ละเดือนด้วย
ปัจจุบันนอกเหนือจากเวปไซต์แล้ว Twitch ยังได้ทำแอพสำหรับ iOS และ Android ขึ้นมา เพื่อให้คนสามารถใช้งานบนมือถือได้
ในแต่ละวัน Twitch มีผู้เข้าใช้งานประมาณ 10 ล้านคน ใช้เวลาดูเฉลี่ย 106 นาทีต่อคน และมีสตรีมเมอร์หรือผู้สร้าง Content ทั้งหมดกว่า 2.2 ล้านคน เรียกได้ว่า Twitch น่าจะแย่งการดูรายการทีวีปกติของเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว
และล่าสุดเริ่มขยายตัวเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกเกม โดยคนที่ซื้อเกมบนเวปของ Twitch จะได้รับของรางวัลต่างๆ เพื่อใช้บนเวป เช่น Bits หรือ อีโมติคอนต่างๆ และรายได้ส่วนหนึ่ง ก็จะแบ่งให้กับเจ้าของแชนแนลที่เราเข้าไปกดซื้อเกมด้วย
รายได้ของ Twitch มาจากไหน?
รายได้ส่วนใหญ่ก็คล้ายกับของทาง YouTube ก็คือจากค่าโฆษณาต่างๆ นั่นเอง ประกอบกับส่วนแบ่งอื่นๆ ที่หักมาจากเจ้าของแชนแนล อย่างค่า Subscribe ต่อเดือน ค่าเชียร์ (Bits) และค่า Donate ที่คนดูจ่ายให้กับช่องนั้นๆ
ในส่วนของลูกเล่นใหม่อย่าง Bits ที่เพิ่งเปิดใช้ไปเมื่อปีที่แล้ว มีคนใช้ไปแล้วมากกว่า 1,000 ล้าน Bits หรือคิดเป็นมูลค่าสูงสุดประมาณ 460 ล้านบาท เข้ากระเป๋า Twitch 130 ล้านบาท แบบไม่ต้องทำอะไรเลย แถมยังสร้างยอดให้กับทาง Amazon Payment อีกต่อนึงด้วย
จากข้อมูลปี 2558 ตลาด Content เกมมีมูลค่าประมาณ 125,000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าโฆษณา 73,689 ล้านบาท ค่าสปอนเซอร์ 22,011 ล้านบาท และจากค่า Subscription และ Donate อีก 29,370 ล้านบาท
Twitch มีส่วนแบ่ง 43% ของตลาดนี้ คิดเป็นรายได้ 53,000 ล้านบาท มากกว่าของ YouTube (เฉพาะเกม) ซึ่งมีส่วนแบ่ง 36% คิดเป็นรายได้ 45,000 ล้านบาท
ย้อนกลับไปในวันที่บริษัท Twitch เริ่มต้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว..
ตอนแรกบริษัท มีช่องถ่ายทอดสดหลายเรื่อง ไม่ใช่เฉพาะแค่เกม ตอนนั้นบริษัทก็ไม่รู้หรอกว่าการถ่ายทอดสดเรื่องเกม จะเป็นตัวที่ทำรายได้
ถ้าคนเราจะรอเลือกว่าจะทำอะไรดี รอจนกว่าจะชัวร์ ถึงเริ่มทำ
บริษัท Twitch คงไม่เกิดขึ้น..
บางทีเราไม่รู้หรอกว่าสินค้าของเราแบบไหนจะขายดี
ทำไมเราลองทำหลายๆอย่างไปเลยเหมือน Justin แล้วเดี๋ยวก็จะรู้เองว่าอะไรจะขายดี
แต่เมื่อรู้ว่าเราต้องเน้นอะไรแล้ว เราก็ต้องทุ่มสุดๆไปทางนั้น
เรื่องนี้สอนให้คนที่ตอนนี้คิดฝันว่าอยากจะทำอะไรสักอย่าง..
ไม่มีใครรู้หรอกว่าเรือจะไปไกลได้แค่ไหน ถ้าเรือยังไม่เริ่มออกจากฝั่ง
และถ้ามั่นใจว่าไปถูกทาง ทำไมเราจะไม่แล่นเรือไปให้เต็มที่เหมือน TWITCH ?
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.