กรณีศึกษา ซีคอนสแควร์ กำลังลงทุนครั้งใหญ่

กรณีศึกษา ซีคอนสแควร์ กำลังลงทุนครั้งใหญ่

3 มี.ค. 2020
กรณีศึกษา ซีคอนสแควร์ กำลังลงทุนครั้งใหญ่ /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงศูนย์การค้าย่านถนนศรีนครินทร์
เราทุกคนจะนึกถึง ซีคอนสแควร์ เป็นชื่อแรกๆ
เพราะที่นี่คือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่สุดแห่งแรกบนถนนสายนี้ ซึ่งเปิดมานานถึง 25 ปี
โดยในแต่ละวันมีลูกค้าเข้ามาชอปปิงเฉลี่ยวันธรรมดา 80,000 คน และวันหยุด 120,000 คน
จากตัวเลขคนเข้าศูนย์การค้ามากขนาดนี้ ต้องบอกว่า ซีคอนสแควร์
ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจบนทำเลถนนศรีนครินทร์
ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าความสำเร็จจากอดีตจนมาถึงวันนี้ของ ซีคอนสแควร์
คงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย เพราะลูกค้าก็ยังตอบรับเป็นอย่างดี
แต่เชื่อหรือไม่ว่า เวลานี้ ซีคอนสแควร์ กำลังจะใช้เงินลงทุนครั้งใหญ่สุดเป็นประวัติศาสตร์
นับตั้งแต่เริ่มต้นเปิดศูนย์การค้าในปี พ.ศ. 2537 เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง
ซีคอนสแควร์ กำลังคิดจะทำอะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ในอดีตบนถนนศรีนครินทร์ มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่แค่ เสรีเซ็นเตอร์ และ ซีคอนสแควร์
ซึ่งในเวลาต่อมา เสรีเซ็นเตอร์ ประสบปัญหาอย่างหนักจนต้องขายกิจการให้ กลุ่มสยามพิวรรธน์
และปรับปรุงเปลี่ยนมาเป็น พาราไดซ์ พาร์ค และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็ได้เกิดศูนย์การค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในทำเลนี้
เมื่อเรื่องเป็นเช่นนี้ ซีคอนสแควร์ จึงต้องการให้ตัวเองโดดเด่นทิ้งขาดศูนย์การค้าอื่นๆ บนถนนสายนี้
หลังจากใช้เวลาคิดคอนเซ็ปต์นาน 2 ปี
ซีคอนสแควร์ ตัดสินใจใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท เพื่อปรับพื้นที่บริเวณฝั่งโรบินสัน ชั้น G, 2 และ 3 รวม 27,000 ตร.ม. จากพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมด 250,000 ตร.ม. ทั้งสร้างร้านอาหาร, ร้านค้า ไปจนถึงการดีไซน์สถานที่ใหม่ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าในยุคนี้ได้มากขึ้น โดยใช้ชื่อโปรเจกต์นี้ว่า MUNx2 (มันมัน)
MUNx2 คืออะไร?
วิธีคิดใช้ Customer Experience มาเป็นตัวตั้ง ว่าจะทำอย่างไรที่จะสร้างประสบการณ์แบบมันๆ
ให้คนที่มาเดินซีคอนสแควร์ ได้สัมผัสถึงความแตกต่างผ่านร้านค้า, ร้านอาหาร,
Events, Entertainment และอื่นๆ
จึงเป็นเหตุผลให้พื้นที่แต่ละชั้นจะมีคอนเซ็ปต์ความมันที่แตกต่างกันออกไป
ชั้น G จะเป็น Content ความมันแบบมี Style ชั้น 2 จะเป็นความมันในแนวรักษ์โลก Organic ส่วนชั้น 3 จะเป็น Content ความมันแบบสุดๆ สำหรับชาว Startup มาปล่อยของ
ที่น่าสนใจคือ TCDC หรือศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
และ Co-working space ชื่อดังอย่าง Too Fast To Sleep ก็จะมาตั้งสาขาที่นี่เช่นกัน
ซึ่งทั้งหมดจะเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้
เพราะ ณ วันนี้ ซีคอนสแควร์ เองก็น่าจะรู้ดีว่า พฤติกรรมคนไทยกำลังเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หลายคนเลือกที่จะจบทุกอย่างในสมาร์ตโฟนเครื่องเดียวทั้ง ชอปปิง, ทานข้าว, ดูหนัง
พร้อมกับเลือกที่จะไปศูนย์การค้าน้อยลง
การสร้างร้านค้า สินค้า กิจกรรม และประสบการณ์มันๆ ด้วยแนวคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่หาไม่ได้จากจอสี่เหลี่ยมบนสมาร์ตโฟน ก็เพื่อกระตุ้นให้คนมาเดินชอปปิง ทานอาหารใน ซีคอนสแควร์ เพิ่มขึ้น
ส่วนเหตุผลอีกข้อของการปรับโฉมพื้นที่ ก็คือการมาของ รถไฟฟ้าบีทีเอสสายสีเหลือง
ที่วิ่งจาก ลาดพร้าว - สำโรง ที่จะเปิดให้บริการกลางปีหน้า
ซึ่งจะทำให้คนกรุงเทพฯ เดินทางไปเที่ยว ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ได้ง่ายขึ้นกว่าในอดีต
ทั้งหมดนี้ จึงทำให้มีร้านค้าที่มีความมันไปจับจองพื้นที่แล้วมากพอประมาณ ใครอยากมีร้าน มีความมัน อยากปล่อยของ คงจะช้าไม่ได้
นับเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
เพราะหากเป็นเราหรือใครหลายๆ คนที่ทำธุรกิจ
เมื่อเจอคู่แข่งที่มากขึ้น พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป
หลายคนอาจเลือกอยู่เฉยๆ ไม่จำเป็นต้องปรับตัว
เพราะไม่ต้องเหนื่อยและลงทุนเสียค่าใช้จ่ายก้อนโต
ซึ่งความคิดนี้ก็ไม่ผิด แต่กลับกัน หากเรากล้าที่จะเดินออกจาก Comfort zone เพื่อทำสิ่งใหม่ๆ
ที่ตัวเราเองรวมถึงคู่แข่งไม่เคยทำมาก่อน
นอกจากจะช่วยทำให้เกิดความแปลกใหม่ให้กับลูกค้าเดิม แล้วยังจะทำให้มีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นด้วย
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ ซีคอนสแควร์ จะได้ผลเป็นอย่างไร
แต่คนที่จะได้ประโยชน์มากสุด ก็คือ ผู้คนย่านศรีนครินทร์ นั่นเอง..
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.