ความท้าทาย ของธนาคารแห่งประเทศไทย

ความท้าทาย ของธนาคารแห่งประเทศไทย

2 มี.ค. 2020
ความท้าทาย ของธนาคารแห่งประเทศไทย /โดย ลงทุนแมน
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้น เวลาเศรษฐกิจตกต่ำ โดยปกติแล้วธนาคารกลางหลายประเทศปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ปี 2019 ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยไป 2 ครั้ง
และล่าสุดอีก 1 ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020
ทำให้ตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.00% ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอีกในอนาคต
แต่ดูเหมือนว่า การที่ดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาตั้งแต่ปี 2019 จะไม่ได้ช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจของไทยเท่าไรนัก
╔═══════════╗
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 ปี 2019 ของไทยเติบโตอยู่ที่ 1.6% ทำให้เศรษฐกิจของไทยทั้งปี 2019 เติบโตที่ 2.4% ซึ่งนับเป็นการเติบโตต่ำสุดในรอบ 5 ปี
ปกติแล้วเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง คนควรที่จะไปกู้เพื่อจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานมากขึ้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ณ ตอนนี้กลับตรงกันข้าม เพราะการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจกลับใช้ไม่ได้ผล ซึ่งเกิดจากคนขาดความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในอนาคต จึงไม่อยากกู้เงินเพื่อมาลงทุนหรือใช้จ่ายบริโภคใดๆ แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะต่ำขนาดไหน
ปัจจุบัน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในไทยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 67.3 ลดลงเป็นเดือนที่ 11 และต่ำสุดในรอบ 69 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2014
เมื่อรวมกับการที่หนี้สินครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงถึง 79% ของ GDP ส่งผลให้ความสามารถในการไปกู้ยืมของภาคครัวเรือนลดลง
วันนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.00% แน่นอนว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเหลือกระสุนอีก 4 นัด ในการลดดอกเบี้ยอีกเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นก็คือลดลงครั้งละ 0.25% จนกว่าจะเหลือ 0% หรือถ้าจะให้มากกว่า 4 นัดก็แปลว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะต้องติดลบ
แล้วประเทศอื่นเป็นอย่างไร?
เราลองมาดูอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของธนาคารกลางแต่ละประเทศในปัจจุบันว่าอยู่ที่เท่าไร
อินโดนีเซียอยู่ที่ 5.00%
มาเลเซียอยู่ที่ 2.80%
ฟิลิปปินส์อยู่ที่ 4.00%
อินเดียอยู่ที่ 5.15%
หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50%-1.75%
จะมีก็แต่ธนาคารกลางในยุโรปบางประเทศ และญี่ปุ่น ที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0% หรือ ติดลบ
แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยจะทำอย่างไรต่อไป?
ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจลดลงดอกเบี้ยลงไปอีก ก็มีโอกาสที่ในอนาคตประเทศไทยอาจเจอกับภาวะดอกเบี้ย 0% อย่างประเทศในกลุ่มยูโรโซน หรือแม้แต่ดอกเบี้ยติดลบ อย่างญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก
ซึ่งภาวะดอกเบี้ยต่ำนี้อาจส่งผลต่อธุรกิจธนาคารพาณิชย์ของไทย..
โดยธนาคารพาณิชย์ยังมีต้นทุนบางส่วนที่ยังต้องจ่ายนั่นคือ การนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เพื่อชำระคืนเงินกู้ ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ที่อัตราร้อยละ 0.46 ต่อปีของยอดเงินฝากที่ได้รับจากประชาชน
นอกจากนี้ ภาวะดอกเบี้ยต่ำยังสร้างผลระทบให้กับผู้ฝากเงินและผู้ออมเงิน เป็นอย่างมาก ลองนึกภาพดูว่า ประเทศไทยที่กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์โดยประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนกว่า 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด
ซึ่งคนเหล่านั้น ต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัยมากกว่าสินทรัพย์เสี่ยง และการฝากเงินคือ หนึ่งในทางเลือก
แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้ผลตอบแทนที่ได้ อาจไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ในอนาคต ซึ่งก็ต้องตามมาด้วยการใช้จ่ายหรือการบริโภคที่น้อยลง
สุดท้ายจะตามมาด้วยการลงทุนและการจ้างงานของระบบเศรษฐกิจที่ลดลงในที่สุด..
ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกทางไหนก็ถือเป็นสถานการณ์ที่ท้าทายอย่างมากต่อธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายทางการเงิน ณ เวลานี้
สุดท้าย นโยบายทางการเงินอาจไม่ใช่คำตอบ
แต่เป็นนโบายการคลัง ที่รัฐบาลจะต้องคอยใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
เพราะประเทศไทยยังมีหนี้สาธารณะอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก (41% ของ GDP)
แต่การก่อหนี้สาธารณะ เป็นเครื่องมือที่ฝ่ายตรงข้ามมักจะใช้โจมตีในทางการเมืองเสมอ
เลยถือเป็นทางเลือกที่รัฐบาลจะระมัดระวังเป็นพิเศษ
สุดท้ายแล้ว หน้าที่ก็ตกไปอยู่ในที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ว่า ต้องลดดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ
ทั้งที่รู้กันอยู่ว่า
ดอกเบี้ยที่เป็นอยู่มันก็ต่ำจนแทบจะติดดินแล้ว..
----------------------
Blockdit ที่สุดของแอปมีสาระ
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.bbc.com/thai/thailand-51527651
-https://data.worldbank.org/indicator/NY.GDP.MKTP.KD.ZG?locations=TH
-https://en.wikipedia.org/wiki/Liquidity_trap
-https://www.isranews.org/isranews-news/77916-news-779161.html
-http://cebf.utcc.ac.th/upload/index_file/file_th_397d05y2020.pdf
-https://www.youtube.com/watch?v=Syf4ZevTbDo&app=desktop
-https://www.isranews.org/thaireform/thaireform-talk-interview/85396-bot-85396.html
-https://www.bot.or.th/Thai/BOTStoryTelling/Pages/FIDF_StoryTelling_Press.aspx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.