“ผลกระทบของการทุบดอกเบี้ยจนเหลือ 0%”  สรุปบทความล่าสุดจาก Ray Dalio

“ผลกระทบของการทุบดอกเบี้ยจนเหลือ 0%” สรุปบทความล่าสุดจาก Ray Dalio

17 มี.ค. 2020
“ผลกระทบของการทุบดอกเบี้ยจนเหลือ 0%”
สรุปบทความล่าสุดจาก Ray Dalio /โดย ลงทุนแมน
หลังจากธนาคารกลางสหรัฐหั่นอัตราดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์จาก 1% เหลือ 0%
รวมกับการอัดฉีดเงินเข้าระบบเพื่อเพิ่มสภาพคล่องอีก 22.4 ล้านล้านบาท
เรย์ ดาลิโอ นักคิดระดับโลกผู้เขียนหนังสือขายดี Principles
ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ผ่านบทความ
“The Implications of Hitting the Hard 0% Interest Rate Floor”
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์
เจาะลึกแบบ deep content
ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรย์ ดาลิโอย้ำว่าเขาไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลยในสภาวะตลาดแบบนี้
เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่มันแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ที่ผ่านมา
เรย์ ดาลิโอมีความกังวลว่าเศรษฐกิจตกต่ำรอบต่อไป
จะนำพาเราไปสู่การทำให้ดอกเบี้ยเหลือ 0%
และโลกของเราก็ยังมีหนี้มหาศาลในระบบ
ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และการปกครอง
ในลักษณะเดียวกันกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1930
ดาลิโอประหลาดใจเช่นกันว่า โคโรนาไวรัสกลายมาเป็นสาเหตุของเศรษฐกิจตกต่ำในรอบนี้
ในขณะที่โคโรนาไวรัสสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจร้ายแรง แต่เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวกลับไม่ได้ทำให้เรย์ ดาลิโอหวาดกลัว
แต่เมื่อมันรวมเข้ากับอัตราดอกเบี้ย 0% มันกลับทำให้เรย์ ดาลิโอกังวล..
การลดอัตราดอกเบี้ยให้ติดพื้นจนเหลือ 0%
หมายความว่ามูลค่าสินทรัพย์ทุกประเภทมีโอกาสร่วงลง
และผลกระทบเชิงบวกของการลดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
นอกจากนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0%
ยังหมายความว่าเครื่องมือกระตุ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารทุกประเทศก็จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไปแล้ว
การพิมพ์ธนบัตรและการไล่ซื้อตราสารหนี้ก็ไม่ได้ผลอีกเช่นกัน..
เหตุผลก็เพราะว่าพันธบัตรไม่สามารถถูกดันขึ้นไปได้มากกว่านี้อีกแล้ว และมีโอกาสเพียงน้อยนิดที่จะถูกขายเพื่อนำไปซื้อสินทรัพย์อื่นๆ ของหน่วยงานที่กำลังประสบปัญหา
สิ่งที่ตามมาภายหลังอัตราดอกเบี้ย 0% ก็คือ..
ดอกเบี้ยที่แท้จริง (ดอกเบี้ยหักเงินเฟ้อ) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น
เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อติดลบ หรือที่เรียกกันว่าเงินฝืด
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินฝืด ก็คือ
ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ตกต่ำลง
เศรษฐกิจชะลอตัว และปัญหาเรื่องสินเชื่อ
ทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ช่องว่างของ Credit Spreads ที่จะกว้างขึ้น
Credit Spreads ก็คือส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนระหว่างตราสารหนี้เอกชนกับพันธบัตรรัฐบาล
เมื่อส่วนต่างมากขึ้น
ภาระการจ่ายดอกเบี้ยก็จะยิ่งสูงขึ้น
ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อลดลงในที่สุด
เรื่องนี้จะส่งผลให้
สภาวะการปล่อยสินเชื่อตึงตัว
เกิดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืด
และการเติบโตติดลบ..
เรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อ mark to market หรือ วัดมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด หลังจากที่ราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกลดลง จะมีบางบริษัทที่อยู่ไม่ได้
สำหรับกองทุนบำเหน็จบำนาญ และบริษัทประกันที่มีหนี้สินระยะยาว
บริษัทเหล่านี้จะไม่มีเงินเพียงพอต่อภาระหนี้สินในระยะยาว
สำหรับบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน (ทั้งที่เป็นประเทศและบริษัท)
ค่าใช้จ่ายจะมีมูลค่ามหาศาลมากกว่ารายได้
แล้วพวกเขาจะทำอย่างไร?
อีกหลายบริษัทกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเดียวกันนี้
ราคาตลาดที่ลดลงของสินทรัพย์ต่างๆ จะกลายมาเป็นความกังวลอย่างจริงจัง
แต่เดิมนักลงทุนส่วนใหญ่และธุรกิจอยู่ในสภาวะผู้ซื้อ การถือสินทรัพย์เพื่อหวังว่าราคาในอนาคตจะเพิ่มขึ้น และผู้ซื้อโดยส่วนใหญ่กู้เงินมาซื้อ ซึ่งการกู้มาซื้อจะได้รับผลกระทบหนักกว่ามาก ถ้ามูลค่าสินทรัพย์ลดลง
อย่างไรก็ตาม ตลาดจะมีผลต่อเศรษฐกิจมากกว่า เศรษฐกิจที่ผลกระทบต่อตลาด
ด้วยเหตุผลนี้ การคำนวณว่าใครกำลังมีสถานะอะไรอยู่ในตลาด และกำลังจะทำอะไรกับสถานะนั้น เป็นสิ่งสำคัญ เช่น ใครจะตัดค่าใช้จ่าย ใครจะขายสินทรัพย์
สิ่งที่จำเป็นกับสถานการณ์ตอนนี้ คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้น..
เรย์ ดาลิโอมองว่า ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจ มาจากผู้บริหารประเทศจัดการสถานการณ์นี้ได้ไม่ดีพอ..
เพราะสำหรับวิกฤตครั้งยิ่งใหญ่นี้
มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าเราต้องจัดการอย่างไร รวมถึงต้องมีความกล้าที่จะลงมือทำ
ซึ่งถ้ามีปัจจัยเรื่องความแตกแยกทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็จะทำให้เรื่องนี้ยากขึ้นไปอีก
แม้ว่ามาตรการกระตุ้นทางการคลังจะถูกนำมาใช้บ้างแล้ว
แต่ยังไม่เพียงพอต่อการถอนพิษจากการแพร่กระจายของไวรัสที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจได้
และนี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นตอนนี้
ในสหรัฐอเมริกา:
จนถึงตอนนี้ การตอบสนองของนโยบายด้านการคลังและการเงินของสหรัฐอเมริกามาช้าและน้อยเกินไป
แต่ตอนนี้พวกเขา กำลังเข้าสู่ภาวะ “ยอมทำทุกอย่าง”
จนถึงตอนนี้งบประมาณการคลังที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ
3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีน, ชุดตรวจโรค และการรักษาอื่น
2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับศูนย์ควบคุมและป้องโรค
1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยต่อสู้กับการแพร่กระจายของไวรัสในต่างประเทศ
1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์, การเตรียมการทางด้านสาธารณสุข และศูนย์ชุมชน
1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับช่วยเหลือ SME ด้านเงินกู้
500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับบริการการรักษาทางไกล
300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการส่งมอบวัคซีนไปยังประชาชนด้วยต้นทุนที่ต่ำสุดหรือไม่มีเลย
ยังมีการพูดคุยถึงเรื่องการลดภาษีเงินได้ ซึ่งก็ไม่น่าใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด
มันเหมือนการลดภาษีในช่วงปี 2011-2012 ซึ่งคิดเป็นประมาณ 0.6% ของ GDP
(โดยหากเป็นปัจจุบันจะคิดเป็นประมาณ 0.75% ของ GDP)
อย่างไรก็ตาม เราได้ยินประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สนับสนุนให้ยกเว้นภาษีจนถึงช่วงหลังการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน (เรื่องนี้ยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัด แต่อาจเป็นไปได้ว่าจะครอบคลุมทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง และคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
แผนนี้มีโอกาสที่จะไม่เกิดขึ้นเนื่องจาก ส.ส.จากเดโมแครต รวมถึง ส.ส.รีพับลิกันบางคนไม่เห็นด้วย
เพราะการลดภาษีเงินได้ ไม่ส่งผลดีต่อกองทุนประกันสังคม และเอื้อประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจมากเกินไป
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นว่าทรัมป์ อาจต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณแน่ชัดว่า มันจะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดหรือไม่
เพราะสิ่งแรกที่ทรัมป์คิดตอนนี้คือ “การได้รับเลือกตั้ง”
และการที่เขาต้องการได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกครั้ง เขาจึงยอมทำทุกอย่าง
ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนด้านภาษี
สำหรับตอนนี้ เรย์ ดาลิโอ มองว่า สหรัฐอเมริกายังไม่มีมาตรการที่มาแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
แม้ว่าจะทำทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น แต่ทั้งหมดก็ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในระดับกลางเท่านั้น
เพราะฝั่งที่ต้องการความช่วยเหลือมากสุดตอนนี้คือ “ปัญหาหนี้สินและเศรษฐกิจ”
ซึ่งเรย์ ดาลิโอมองว่ามาตรการที่ออกมา ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหานี้
ตอนนี้ยังไม่มีการปล่อยเงินกู้ให้กับภาคอุตสาหกรรมมากพอ
ดังนั้นวิธีที่ดีสุดที่เป็นไปได้ คือ การรับประกันความปลอดภัยของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อใหม่
โดยเฉพาะกับบริษัทที่กู้เต็มวงเงินกับธนาคารแล้ว
แม้ว่าเรื่องนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ธนาคารต้องการ แต่ก็เป็นหนึ่งวิธีที่เงินจะไหลเข้าสู่ธุรกิจที่มีปัญหา
เรย์ ดาลิโอ เรียกวิธีการนี้ว่า “โปรแกรมป้องกันเงินให้กู้ยืม”
โดยให้ธนาคารกลางสหรัฐจัดหาเงินกู้ที่มีต้นทุนต่ำมาก รวมถึงการปกป้องธนาคารที่จะปล่อยสินเชื่อเหล่านี้
แม้ว่าการนำเงินไปให้กับบริษัท จะไม่ใช่งานที่เหมาะสมของธนาคารกลาง
แต่มันก็ช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับธนาคาร
เพื่อจะนำเงินเหล่านี้ไปปล่อยกู้กับผู้ที่ต้องการ
โดยสิ่งที่ผู้คุมนโยบายต้องทำก็คือ การป้องกันไม่ให้ธนาคารล้มละลาย
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกบริษัทที่มีวงเงินกู้กับธนาคารอยู่แล้ว
ดังนั้นเรื่องนี้จึงยังมีช่องว่างอยู่ และจะทำให้เกิดต้นทุนที่สำคัญตามมา
เรย์ ดาลิโอ กล่าวว่าเขาไม่รู้ว่าประธานาธิบดีหรือผู้กำหนดนโยบายการคลังได้ตรวจสุขภาพทางการเงินของหลายๆ บริษัทหรือไม่ แต่เขาเป็นกังวลมากว่า จำนวนหนี้สินในบริษัทเหล่านี้กำลังเป็นปัญหา และกำลังจะทำให้บริษัทเหล่านี้ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
เราอาจคาดได้ว่าบริษัทเหล่านี้จะคงดำเนินธุรกิจต่อไป แม้ว่าจะอยู่ในภาวะล้มละลาย
เรื่องนี้จะส่งผลด้านลบ เพราะนโยบายการเงินไม่มีประสิทธิภาพ และความเปราะบางทางการเมือง
ซึ่งถ้าบริหารจัดการไม่ดี เรื่องนี้ย่อมกลายเป็นปัญหาด้านการเมืองและสังคมที่ยิ่งใหญ่
สำหรับทรัมป์ เรย์ ดาลิโอก็รู้สึกเห็นใจ
โดยเฉพาะเมื่อข่าวเพิ่มความรุนแรง ในช่วงเวลาที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง
แต่เขาก็ยังคาดหวังนโยบายที่ดีสุดสำหรับประเทศอยู่
สำหรับธนาคารกลางสหรัฐ เรย์ ดาลิโอมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐได้ทำสิ่งที่สามารถทำได้ไปหมดแล้ว
โดยยังไม่เข้าสู่สิ่งที่เขาเรียกว่า “นโยบายทางการเงินขั้นที่ 3”
ขั้นแรกคือ (และเป็นสิ่งที่ควรทำ) การใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมระบบการเงิน เรียกว่า “นโยบายทางการเงินขั้นที่ 1”
เมื่อวิธีนี้เริ่มไม่ได้ผลจึงเริ่มใช้ “นโยบายทางการเงินขั้นที่ 2” ซึ่งก็คือการพิมพ์ธนบัตรออกมาเพื่อซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน
และถ้ายังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายขาดดุลมากๆ และรัฐบาลต้องออกพันธบัตรขายให้ธนาคารกลาง (และหลังจากนั้นรัฐบาลก็นำเงินมาใช้จ่าย) ซึ่งนี่เองที่เรย์ ดาลิโอเรียกว่า “นโยบายทางการเงินขั้นที่ 3”
ตอนนี้เรากำลังอยู่ในวงจรหนี้ระยะยาว และเราต้องรอดูต่อไปว่าผู้กำหนดนโยบายการเงินและการคลัง จะร่วมมือกันแก้ปัญหาได้หรือไม่
ซึ่งในมุมมองของเรย์ ดาลิโอ ทางที่ดีสุดคือการสนับสนุนธนาคาร ให้ความปลอดภัยด้านการเงิน
เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่ต้องการมันมากที่สุด
ในส่วนของยุโรป:
ทางคณะกรรมาธิการยุโรปก็จะมีการผ่อนปรนกฎระเบียบต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะกฏระเบียบด้านการคลัง
ดังนั้นนโยบายทางการคลังเวลานี้จะเน้นในการช่วยเหลือ บริการด้านสุขภาพต่างๆ และธุรกิจภาคส่วนอื่นๆ ที่กำลังเดือดร้อนในเวลานี้
โดยมีมาตรการในการลดภาษีและค่าธรรมเนียม รวมไปถึง ให้เงินชดเชยช่วยเหลือ และมาตรการอื่นๆ สำหรับกลุ่มธุรกิจที่กระทบหนัก เช่น การท่องเที่ยว การขนส่ง และยานยนต์
โดยล่าสุดทางคณะกรรมาธิการยุโรปก็เพิ่งเสนอการอัดฉีดเงินกว่า 25,000 ล้านยูโร เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะชัดเจนขึ้นหลังจากการประชุมในวันที่ 16 มีนาคมนี้
แต่เรย์ ดาลิโอเชื่อว่า ท้ายที่สุดหลายๆ ประเทศใน EU จะยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศตัวเองอยู่รอด
และเมื่อถึงจุดนั้น ECB ก็อาจช่วยเหลือได้ไม่เต็มที่เพราะมีข้อจำกัดอยู่มาก
อย่างในตอนนี้ที่ต้องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมาก แต่ก็ต้องออกขายพันธบัตรอีกจำนวนมากเช่นกัน (กู้เพิ่ม) ซึ่งหาก ECB ไม่ซื้อพันธบัตร ก็จะทำให้อัตราดอกเบี้ยนั้นสูงขึ้น
แต่ ECB เองก็ไม่มีอำนาจในการลดดอกเบี้ยแล้ว และยังไม่สามารถซื้อพันธบัตรคืนตามปริมาณที่ต้องการได้อีกด้วย
และถึงแม้ ECB จะไม่ได้ออกมาแถลงปัญหานี้ตรงๆ แต่จากการกระทำในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ดูจะพูดแทนทั้งหมด เพราะ ECB ก็ไม่ได้มีการประกาศลดดอกเบี้ย โดยคงไว้ที่ -0.5% เหมือนเดิม แต่ก็มีนโยบายบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโคโรนาไวรัส โดยการทยอยซื้อพันธบัตรคืนมูลค่ารวมกว่า 1.2 แสนล้านยูโรภายในสิ้นปี และยังมีนโยบายปล่อยกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้กับธนาคารต่างๆ ในอัตรา -0.75%
และนี่ก็ดูเหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่ ECB ทำได้เพราะปรับดอกเบี้ยลงมากกว่านี้ (ต่ำกว่า -0.5%) อาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี
โดยตอนนี้ประธาน ธนาคารกลางยุโรปก็ได้เน้นย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือนโยบายการคลัง และมันจะเห็นผลมากกว่านี้หากรัฐบาลให้ความร่วมมือกับพวกเขามากขึ้นด้วย โดยให้ความมั่นใจว่าพวกเขาจะยังให้ธนาคารต่างๆ ปล่อยกู้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อไป
และบททดสอบต่อไปก็คือ การตัดสินใจว่าจะเพิ่มขีดจำกัดในการซื้อคืนพันธบัตรหรือไม่เพื่อพยุงอัตราดอกเบี้ยและ ลด Credit Spread ลง เพราะมันจะช่วยซื้อเวลาในการเยียวยาไปได้อีก แต่มันก็อาจจะยังไม่พอในระยะยาว
ในอิตาลี:
เริ่มมีนโยบายอย่างการลดภาษีในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบแล้ว เช่น การลดภาษี ช่วยเหลือสวัสดิการด้านสุขภาพ หรือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจที่มีรายได้ลดลง 25%
ซึ่งเรย์ ดาลิโอคิดว่านี่เป็นไอเดียที่ดีและหลายๆ ประเทศควรนำไปปรับใช้ในประเทศของตน
นอกจากนี้ทางอิตาลีก็ยังเตรียมนโยบายอื่นๆ เช่น ดึงให้ต่างชาติมาลงทุน ซึ่งจะพิจารณาต่อไป
อย่างไรก็ตามรัฐก็มีแผนที่จะอัดฉีดเงินเพิ่มขึ้น ทำให้ยิ่งขาดดุลงบประมาณมากขึ้นไปอีก
ซึ่งถึงแม้ธนาคารกลางยุโรป จะให้ความยืดหยุ่นแล้วแต่การกู้จำนวนมากขนาดนี้ก็จะทำให้อิตาลีนั้นยิ่งมีภาระหนี้สูงขึ้น ซึ่งก็อาจจะต้องขอความช่วยเหลือจาก ธนาคารกลางยุโรปต่อไป
และก็ต้องมาติดตามต่อไปว่า ทางรัฐบาลของอิตาลีจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร
ในเยอรมนี:
ชาวเยอรมันมีนิสัยประหยัดอดออม ซึ่งพวกเขาไม่ได้พิมพ์เงินและก่อหนี้มากเท่าไรในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าพวกเขาจะเดินเข้าสู่ภาวะ “ยอมทำทุกอย่าง” เช่นกัน
จากแถลงของกระทรวงการคลัง “รัฐบาลเยอรมันตัดสินใจและดำเนินการอย่างจริงจังในการต้านทานผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก coronavirus”
รัฐบาลได้พยายามสร้างเกราะปกป้องพนักงานและบริษัทต่างๆ ซึ่งเป้าหมายคือให้ธุรกิจเกิดสภาพคล่องและผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้ด้วยดี พวกเขาได้เริ่มแผนงานบางอย่างซึ่งเฉพาะเจาะจง และในอนาคตก็จะขยายให้กว้างขึ้น
มาตรการเหล่านี้รวมถึงการลดชั่วโมงการทำงาน และค่าตอบแทนจากชั่วโมงที่น้อยลง และจัดหาสภาพคล่องทางการเงินผ่านธนาคาร
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการยืดเวลาจ่ายภาษี และค่าปรับสำหรับการจ่ายภาษีที่ล่าช้าต้องถูกยกเลิก ซึ่งมันจะยังสามารถสร้าง “เกราะป้องกัน” สำหรับธุรกิจ
ในฝรั่งเศส:
จนถึงปัจจุบันการมุ่งเน้นไปยังความช่วยเหลือในการผ่อนชำระหนี้และการบรรเทาในรูปแบบต่างๆ เช่น ความช่วยเหลือในการผ่อนชำระหนี้ตั้งแต่ 70% ของหนี้ขึ้นไป การยกเลิกค่าปรับจากการชำระที่ล่าช้าในสัญญาของรัฐและภาษีต่างๆ
ฝรั่งเศสมีโครงสร้างของสถาบันที่รวมศูนย์มากกว่าเยอรมนี และวัฒนธรรมของฝรั่งเศสมีความเป็น อนุรักษ์นิยมทางการคลังที่ตึงเครียดน้อยกว่า
ซึ่งหมายความว่านโยบายที่ขัดขวางการช่วยเหลือในฝรั่งเศสนั้นมีความอ่อนกว่า
ทำให้รัฐบาลสามารถบังคับใช้นโยบายความร่วมมือเชิงลึกในหลายๆ ภาคส่วนของเศรษฐกิจ และรัฐบาลก็ตอบสนองมากขึ้นต่อเสียงร้องของประชาชน
อย่างไรก็ตาม การขาดดุลงบประมาณอย่ามหาศาสของฝรั่งเศส และการละเมิดกฎเกณฑ์ทางการคลังของสหภาพยุโรป (3.2% ของ GDP) ทำให้ยังไม่มีการพูดถึงมาตการกระตุ้นทางการคลัง
ในญี่ปุ่น:
การตอบสนองของรัฐบาลในทางการคลังที่มีเป้าหมายในการสนับสนุนบริการด้านสุขภาพ บุคคลที่ได้รับผลกระทบ และบริษัทต่างๆ โดยเฉพาะใน SMEs
การใช้จ่ายล่าสุดมีมูลค่ารวม 4.5 แสนล้านเยน เช่น กองทุนคลินิกทางการแพทย์ใหม่ และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ปกครองที่ถูกบังคับให้ออกเนื่องจากโรงเรียนปิด และสนับสนุน SMEs
นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ให้งบพิเศษถึง 1.6 ล้านล้านเยน เพื่อช่วยเหลือ SMEs และธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด
การกระทำแบบนี้มันดูดีในสายตาของเรย์ ดาลิโอ แม้ว่าในภาพรวมมันจะยังดูชัดเจนไม่พอ
ญี่ปุ่นยังมีการกระตุ้นทางการคลัง ซึ่งเป็นเงิน 13.2 ล้านล้านเยน ที่ได้ประกาศไปแล้วในเดือนธันวาคม ซึ่งการใช้จ่ายจะค่อยๆ นำไปใช้ในหลายๆ ไตรมาส
ซึ่งรัฐบาลได้รายงานว่ากำลังพิจารณาแพ็กเกจทางการคลังในเดือนเมษายน ซึ่งเป็นเงินประมาณ 10-20 ล้านล้านเยน ซึ่งอาจรวมถึงการแจกเงินโดยตรงให้กับหลายครัวเรือน
BoJ หรือ ธนาคารกลางญี่ปุ่น กำลังถูกกดดันมากกว่าธนาคารกลางอื่นๆ ซึ่งมีปัญหาเดียวกันคือค่าเงินแข็ง ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะเงินฝืด และมีการเติบโตที่ชะลอลง
อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยังมีความยืดหยุ่นในการเลือกซื้อสินทรัพย์ รวมถึงปริมาณของการซื้อ ญี่ปุ่นซื้อหุ้นประเภท ETFs มากถึง 1 แสนล้านเยนต่อวัน เมื่อเทียบกับอัตราก่อนหน้าอยู่ที่ราว 7 หมื่นล้านเยนต่อวัน
ในจีน:
จีนมีการตอบสนองจากนโยบายทางการเงินที่แม่นยำและเหมาะสมที่สุด
นั่นเป็นเพราะประเทศจีนมีขีดความสามารถ
ในการประสานนโยบายการคลังและนโยบายทางการเงิน
ที่ไร้แรงเสียดทานจากข้อพิพาททางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว
และเรื่องนี้ถือเป็นนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชาญฉลาด
จนถึงปัจจุบัน ประเทศจีนได้มาจากประกาศมาตรการทางการคลังที่คิดเป็น
มูลค่าประมาณ 1.2% ของ GDP ทั้งประเทศไม่รวมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน
รวมไปถึงการยกเว้น และการลดค่าใช้จ่ายทางสังคม
(เช่น เงินบำนาญขององค์กร เงินชดเชยสำหรับการว่างงาน และเงินประกัน)
ลดเงินสมทบประกันสุขภาพ ลดภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบางองค์กร
ลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค ค่าไฟฟ้า ค่าแก๊ส
ทั้งนี้ยังมีการอัดฉัดเงินสนับสนุนระดับท้องถิ่น
ในส่วนของระดับประเทศ รัฐบาลก็ได้ออกมาตรการเพื่อสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับการประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมหลายอย่าง (เช่น ชะลอการรับรู้หนี้เสียของธุรกิจธนาคาร)
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ธนาคารกลางประเทศจีนจึงมีพื้นที่
ในการวางแผนอัตราดอกเบี้ยว่าควรขึ้น-ลงอยู่ในระดับใด
เมื่อเร็วๆ นี้มีการลดอัตราดอกเบี้ย ลดเกณฑ์เงินสำรองขั้นต่ำ
เพื่อเพิ่มสภาพคล่องเข้าระบบ และเริ่มอัดฉีดเงินสนับสนุนให้กับบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าประเทศจีนบริหารประเทศ ด้วยความรอบคอบที่ยืดหยุ่นได้ตลอดเวลา
พร้อมกับนำเสนออีก 30 มาตรการ
เพื่อพยุงบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด (โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจ SMEs)
เช่น การปล่อยกู้เพิ่มเติม การลดอัตราดอกเบี้ยกู้ยืม
เหล่านี้ก็เป็นความคิดเห็นของเรย์ ดาลิโอในแง่ของภาพรวมทั้งหมด
ทีนี้ก็มาถึงบทสรุป
เรย์ ดาลิโอเชื่อว่า..
1. การทุบอัตราดอกเบี้ยเหลือ 0% โดยที่ขาดเครื่องมือทางการเงินที่มีประสิทธิภาพ
จำเป็นที่จะต้องมีการกระตุ้นจากนโยบายทางการคลังมหาศาล
ซึ่งต้องมีเป้าหมายที่จะเข้าถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นสำคัญ
ด้วยความร่วมมือของธนาคารกลางที่คงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ และเพิ่มสภาพคล่องให้กับระบบ
2. การตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่มากพอทั้งในเรื่องของขนาด จุดโฟกัส และความร่วมมือ
แต่เรื่องนี้มันก็แตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ
3. ไม่กี่วันที่ผ่านมา มีสัญญาณจากทั้งผู้กำหนดนโยบายทางการคลังและการเงินที่เกรี้ยวกราด
เสมือนว่าพวกเขากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อเดิมพันกับนโยบายที่ออกไป
4. ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และการปกครองจะเป็นบททดสอบความสามารถของสังคม และการเมืองในการร่วมมือ และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
แต่ถ้ามันไม่ผ่านบททดสอบ
ความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง และการปกครอง
จะยิ่งซ้ำเติมสิ่งที่เป็นอยู่ให้หนักขึ้น..
จะเห็นได้ว่าบทความของ Ray Dalio เป็นตัวอย่างการวิเคราะห์โดยใช้เหตุและผล รวมถึงใช้ประสบการณ์มาทำนายสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การเรียนรู้เรื่องราวในอดีตจะทำให้เราเข้าใจเหตุการณ์ และสามารถนำประสบการณ์ความรู้มาเชื่อมโยงกัน จะทำให้ภาพในหัวของเราชัดเจนขึ้น
และถ้าเราอยากเข้าใจเหตุการณ์ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลกแบบรวบรัดที่สุด ในเวลาน้อยที่สุด หนังสือ "เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี" ที่เพิ่งออกใหม่ของลงทุนแมน จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราไปถึงจุดนั้นได้
หนังสือเล่มนี้จะพูดถึงประวัติเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1100 ไล่ยาวไปจนถึง ค.ศ. 2019 โดยเรื่องจะถูกเล่าแบบกระชับ เรียบเรียงสนุก เหมือนเราได้เข้าไปอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ
ซื้อตอนนี้มีส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท สั่งซื้อได้ที่
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
ลงทุนแมนรับรองว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นเล่มที่ใช้ไปได้ตลอดชีวิต
โลกทั้ง 1,000 ปีจะถูกย่นย่อ สรุปความให้เหลือ 1 เล่ม
ด้วยถ้อยคำสไตล์ลงทุนแมนที่บรรจงเชื่อมโยงร้อยเรียงขึ้นมา
ถ้าใครได้อ่านแล้วจะสามารถเชื่อมโยง เข้าใจโลกได้ดีขึ้น
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.