เราไม่ควร PANIC ขายกองทุน แบบเหมารวม

เราไม่ควร PANIC ขายกองทุน แบบเหมารวม

27 มี.ค. 2020
เราไม่ควร PANIC ขายกองทุน แบบเหมารวม / โดย ลงทุนแมน
ในช่วงนี้มีข่าวใหญ่สำหรับวงการกองทุนรวมบ้านเรา นั่นก็คือการปิดกองทุนถึง 4 กองทุนของ TMBAM Eastspring โดยนักลงทุนเร่งขายหน่วยลงทุนทำให้ผู้จัดการกองทุนคิดว่า การเร่งขายแบบนี้ ผู้ถือหน่วยโดยรวมจะเสียประโยชน์
TMBAM Eastspring จึงตัดสินใจปิดกองทุน ไม่ให้ซื้อขาย และค่อยๆ ทยอยขายสินทรัพย์ในราคาที่เหมาะสม และแจกจ่ายคืนให้ผู้ถือหน่วยทุกคนจะดีกว่า
เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร
แล้วถ้าเรามีซื้อกองทุนไว้อยู่ เราควรรีบขายหรือไม่?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
อ่านบทความนี้จบจะได้ความรู้เรื่องสินทรัพย์ทางการเงินไปด้วยในตัว
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์
เจาะลึกแบบ deep content
ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นจากสภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวมาระยะหนึ่ง และมาถูกเร่งตัวขึ้นด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงักในทันที ซึ่งกระทบกับทุกธุรกิจทั่วโลก
ในโลกของสินทรัพย์ทางการเงิน จะแบ่งประเภทแบบง่ายๆ ได้เป็น 2 แบบก็คือ
1. ตราสารทุน หรือหุ้นของบริษัทต่างๆ ที่เรารู้จัก ตราสารประเภทนี้ก็เปรียบเสมือนเราร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมหัวจมท้ายไปกับบริษัท ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุให้บ่อยครั้งที่เราเห็นราคาหุ้นขึ้นเร็วลงแรงตามแต่แนวโน้มผลกำไรของแต่ละบริษัท
2. ตราสารหนี้ หรือสัญญาทางการเงินที่บริษัทต่างๆ สัญญาว่าจะใช้คืนเงินต้นให้พร้อมดอกเบี้ย ตราสารประเภทนี้จะผันผวนน้อยกว่า เพราะผู้ลงทุนจะได้ดอกเบี้ยเป็นงวดๆ และได้เงินต้นคืนเมื่อครบกำหนด
ทีนี้ตราสารหนี้ก็แบ่งได้เป็นอีก 2 ประเภท ก็คือ
1. ตราสารหนี้จากภาครัฐ ตราสารหนี้ประเภทนี้เรียกว่า “พันธบัตร” ซึ่งจะปลอดภัยมาก เรียกได้ว่าปลอดภัยกว่าเงินฝากธนาคารเสียอีก เพราะรัฐเป็นผู้ค้ำประกัน
2. ตราสารหนี้จากภาคเอกชน ตราสารหนี้ประเภทนี้เรียกว่า “หุ้นกู้” ซึ่งจะขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของบริษัทเอกชนนั้นๆ ถ้าบริษัทนั้นมีฐานะการเงินมั่นคงก็จะมีเรตติ้งที่ดี ส่วนบริษัทไหนดูไม่มั่นคงเรตติ้งก็จะต่ำ
ทีนี้การดูเรตติ้งที่ลงทุนได้ ให้ดูที่เรตติ้ง BBB- ขึ้นไป ซึ่งเรียกว่า Investment Grade
ส่วนที่ไม่ใช่ Investment Grade เราจะเรียกว่า High-Yield Bond พูดง่ายๆ ว่าเป็นหุ้นกู้ที่ต้องให้ผลตอบแทนสูงเพื่อดึงดูดให้คนมาซื้อ หรือเราสามารถเรียกหุ้นกู้ประเภทนี้อีกชื่อหนึ่งว่า Junk Bond หรือตราสารหนี้ขยะนั่นเอง
ประเด็นมันอยู่ที่
กองทุนรวมเกือบทั้งหมดในประเทศไทยจะลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Investment Grade หรือเรียกว่าบริษัทที่มีฐานะมั่นคงอยู่แล้ว ซึ่งในยามปกติจะไม่มีปัญหาอะไร
แต่ทีนี้สถานการณ์ในช่วงนี้ทุกคนรู้ดีว่ามันไม่ปกติ
นักลงทุนจึงเกิดความกังวลแห่ขายกองทุนที่มีส่วนผสมของหุ้นกู้เอกชนอยู่มาก เพราะกลัวว่ามันจะไม่ปกติ ถึงแม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่าหุ้นกู้เหล่านี้ผิดนัดชำระหนี้แต่อย่างใด
ซึ่ง 4 กองทุนของ TMBAM Eastspring ที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้ก็คือ
1. กองทุนธนไพบูลย์
2. กองทุนธนเพิ่มพูน
3. กองทุนธนไพศาล
4. กองทุนธนพลัส
โดยเฉพาะกองทุนธนไพบูลย์ และ กองทุนธนเพิ่มพูน จะมีสัดส่วนหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศประมาณ 60% ซึ่งทำให้คนเร่งขายออกมา เพราะผู้ลงทุนไม่มั่นใจในบริษัทต่างประเทศที่ออกหุ้นกู้เหล่านี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้จัดการกองทุนเล็งเห็นว่าการเร่งขายในลักษณะนี้ จะทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนโดยรวมเสียประโยชน์ จึงปิดกองทุน และเลือกที่จะค่อยๆ ทยอยขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ในราคาที่เหมาะสม จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนมากกว่า เพราะรู้หรือไม่ว่า 4 กองทุนที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีมูลค่าหลักแสนล้านบาท
การที่ทุกคนเร่งขายและได้เงินภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็เปรียบเสมือนโรงภาพยนตร์ที่มีคนดูอยู่เต็มโรง มีประตูทางออกเล็กๆ อยู่บานเดียว การที่ทุกคนแย่งกันออก ทุกคนก็จะบาดเจ็บ ประตูก็ชำรุด
ถ้าเปลี่ยนใหม่ให้ทุกคนใจเย็น นั่งอยู่กับที่ และผู้ควบคุมดูแลให้คนออกตามสภาวะปกติ ก็จะมีคนบาดเจ็บน้อยลง ประตูไม่ชำรุดเหมือนอย่างเคย
ถ้าถามว่าแปลกไหมที่ผู้จัดการกองทุนไปลงทุนในหุ้นกู้ต่างประเทศที่เป็น Investment Grade บอกได้เลยว่าเป็นเรื่องปกติที่กองทุนทั่วโลกเขาลงทุนกัน เรื่องนี้จึงไม่แปลกอะไร
และถ้าถามว่าแปลกไหมที่ผู้จัดการกองทุนตัดสินใจปิดกองทุนเพื่อทยอยขายคืนแบบไม่ต้องเร่งรีบให้เสียราคา ก็ต้องตอบว่าผู้จัดการกองทุนทำไปเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วยลงทุนทุกคน ผู้จัดการกองทุนไม่ได้ผลประโยชน์อะไรจากตรงนี้ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องปกติที่ทั่วโลกก็ทำกันเวลาปิดกองทุน
ก็ต้องคอยติดตามว่าผู้จัดการกองทุนจะทยอยขายแล้วได้เงินมาแจกจ่ายคืนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนทุกคนได้เร็วแค่ไหน ตามที่คาดการณ์ เวลาที่คืนเงินให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนได้เร็วสุดคือ 10 วัน ที่ช้าสุดคือ 90 วัน แต่ทั้งนี้น่าจะขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดในช่วงนั้น
และนอกจากนั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยยังออกมาตรการพิเศษ ในการให้ธนาคารพาณิชย์ใช้กองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Investment Grade มาค้ำประกันในการขอวงเงินพิเศษจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นการรับรองว่าสภาพคล่องที่รองรับการขายคืนกองทุนจะมีเพียงพอในระยะยาว
แล้วในตอนนี้ถ้าเราถือกองทุนอยู่ เราควรทำอย่างไร?
ลำดับแรกเราควรมาดูก่อนว่า กองทุนที่เราถือเป็นกองทุนประเภทไหน
1. ถ้ากองทุนที่เราถือเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล จะปลอดภัย เพราะรัฐค้ำประกัน มีความเสี่ยงน้อยมาก
2. ถ้ากองทุนที่เราถือเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชน ให้ลองเปิดดูตัวอย่างสินทรัพย์กองทุนในเอกสารข้อมูลกองทุน จะมีชื่อบริษัทที่ออกหุ้นกู้เหล่านั้น
ถ้าบริษัทนั้นเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียง ทำธุรกิจที่มั่นคง ก็ไม่น่าจะต้องตกใจอะไร แต่ถึงแม้เราจะไม่รู้จักชื่อบริษัทเหล่านั้นก็ไม่ต้องรีบร้อนขาย ลองปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนว่าบริษัทมั่นคงแค่ไหน ในภาวะแบบนี้การเร่งขายแบบไม่ดูอะไรเลย น่าจะเป็นทางเลือกที่ไม่ดีนัก เพราะจะทำให้เราขายสินทรัพย์ได้ในราคาที่ไม่ดี
3. ถ้ากองทุนที่เราถือเป็นกองทุนตราสารทุน หรือหุ้น ก็จะแล้วแต่หุ้นที่แต่ละกองทุนถือ ซึ่งก็คิดแบบเหมารวมไม่ได้ บางกองทุนถือเน้นถือหุ้นที่ปลอดภัยได้รับผลกระทบน้อยจากภาวะวิกฤตินี้ บางกองทุนถือหุ้นที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ จากวิกฤติ
และส่วนใหญ่หุ้นที่ได้รับผลกระทบ ราคาก็จะลงมาเรียบร้อยแล้ว และสภาพคล่องของหุ้นก็ดูแล้วมีมากเพียงพอ ที่จะรองรับนักลงทุนที่เร่งขายได้ ไม่น่าจะเป็นประเด็น เปรียบเสมือนโรงภาพยนตร์ที่มีประตูหลายบาน เราเปิดออกได้ทุกเมื่อ
โดยสรุปแล้ว เหตุการณ์ในช่วงนี้ให้บทเรียนเราหลายเรื่อง การใช้เหตุผลมาประกอบในการตัดสินใจในภาวะนี้ จะทำให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงนี้ไปได้ในทางที่ถูกต้อง แต่ถ้าเรามัวแต่ตื่นตระหนกโดยไม่ได้ใช้เหตุผลมาร่วมวิเคราะห์ มันอาจทำให้เราบาดเจ็บหนักมากกว่าเดิม
ซึ่งเรื่องกองทุนก็เข้าข่ายในเรื่องนี้ เราไม่ควรจะ PANIC ขายกองทุน แบบเหมารวม เพราะคนที่จะเสียประโยชน์ไม่ใช่ตัวผู้จัดการกองทุน เพราะเขาไม่ได้รับรู้ผลขาดทุนไปพร้อมกับเรา
แต่คนที่รับรู้ผลขาดทุน จะเป็นตัวเรา ที่ขายกองทุนนั่นเอง..
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์
เจาะลึกแบบ deep content
ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.