สงครามราคาน้ำมัน ทำให้ ปตท.สผ. บาดเจ็บแค่ไหน?

สงครามราคาน้ำมัน ทำให้ ปตท.สผ. บาดเจ็บแค่ไหน?

30 มี.ค. 2020
สงครามราคาน้ำมัน ทำให้ ปตท.สผ. บาดเจ็บแค่ไหน? /โดย ลงทุนแมน
ช่วงที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 18 ปี มาสู่ระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
โดยมีสาเหตุมาจาก สงครามราคารอบใหม่ ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย
เมื่อเกิดสถานการณ์เช่นนี้ ย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
และหนึ่งในนั้นคือบริษัทผลิตน้ำมันสัญชาติไทย อย่าง “ปตท.สผ.”
รู้หรือไม่ ต้นทุนขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของ ปตท.สผ. อยู่ที่ 32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
บริษัทนี้จะเอาตัวรอดจากสงครามนี้ไปได้อย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.
เป็นบริษัทพลังงานของประเทศไทย ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1985 หรือ 35 ปีที่แล้ว
โดยดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการสำรวจ พัฒนา และผลิตแหล่งปิโตรเลียม จากทั้งในอ่าวไทยและต่างประเทศ
เพื่อตอบสนองความมั่นคงทางพลังงาน
ในปี 2019 ปตท.สผ. มียอดขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ 351,000 บาร์เรลต่อวัน
ขณะที่มีปริมาณสำรองอยู่ที่ 1,140 ล้านบาร์เรล เหลือผลิตได้อีกราว 7.5 ปี
ทั้งนี้ผลการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ได้เติบโตต่อเนื่อง ตามแนวโน้มราคาพลังงานที่ฟื้นตัวเป็นขาขึ้น
ปี 2017 รายได้ 153,526 ล้านบาท กำไร 20,579 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 176,943 ล้านบาท กำไร 36,206 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 199,202 ล้านบาท กำไร 48,802 ล้านบาท
แต่แล้วท่ามกลางความสงบสุข จู่ๆ สงครามราคาน้ำมัน ระหว่างซาอุดีอาระเบียกับรัสเซีย ก็ได้ปะทุขึ้น
เพราะทั้งสองฝ่าย ไม่สามารถเจรจาตกลงเรื่องลดกำลังการผลิต เพื่อรับมือวิกฤต COVID-19 ได้
ทำให้ซาอุดีอาระเบีย เพิ่มกำลังการผลิต กดดันให้รัสเซียยอมกลับมาคุยกันใหม่
ด้วยเหตุนี้ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จากต้นปี 2020 อยู่ที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
จึงปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ทำจุดต่ำสุดราว 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
เรื่องนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ ปตท.สผ.
ที่ปัจจุบันมีต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ เฉลี่ยประมาณ 32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
เมื่อเห็นตัวเลขดังกล่าว ทุกคนคงมีคำถามว่า
ถ้าเหตุการณ์ยังยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ปตท.สผ. จะขาดทุนจนต้องหยุดผลิตหรือไม่?
ก่อนอื่น เราลองมาดูรายละเอียดต้นทุนการผลิตของ ปตท.สผ. ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ดังต่อไปนี้
15.88 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
คือต้นทุนที่ต้องจ่ายเป็นเงินสด (Cash Cost) เช่น ค่าดำเนินการผลิต, ค่าบริหารงานบนแท่น, ค่าใช้จ่ายทางการเงิน, ค่าภาคหลวงจากสิทธิ์สัมปทาน
15.83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
คือต้นทุนค่าเสื่อมราคาและตัดจำหน่าย จากเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในการสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม
หรือพูดง่ายๆ คือ ปตท.สผ. มีต้นทุนที่ต้องจ่ายเงินจริงอยู่ราวครึ่งหนึ่ง
ส่วนอีกครึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปแล้ว และเป็นการบันทึกค่าเสื่อมราคาทางบัญชี
ทีนี้ เราลองมาดูฝั่งราคาขายกันบ้าง
จริงๆ แล้ว ยอดขายผลิตภัณฑ์ของ ปตท.สผ. ส่วนใหญ่ 71% คือก๊าซธรรมชาติ
ส่วนน้ำมันดิบนั้น มีสัดส่วนเพียง 29%
ราคาขายผลิตภัณฑ์ของ ปตท.สผ. เมื่อปี 2019
ก๊าซธรรมชาติ 6.9 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู (ก๊าซ ซื้อขายกันที่ค่าความร้อน เรียกว่า บีทียู)
น้ำมันดิบ 61 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
เมื่อคิดเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ ราคาขายจะอยู่ที่ 47 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่ในปี 2020 บริษัทคาดการณ์ราคาขายก๊าซธรรมชาติไว้ที่ 6.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู
หรือลดลง 7% จากปีก่อนหน้า
ซึ่งสูตรราคาขายก๊าซธรรมชาติจากแท่นผลิต โดยเฉพาะในประเทศไทย จะอ้างอิงราคาน้ำมันย้อนหลัง
และกว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมันเต็มๆ คงเป็นช่วงปลายปี
ส่วนราคาน้ำมันดิบตลาดโลก ทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
หรือลดลง 67% จากปีก่อนหน้า
แต่เนื่องจากน้ำมันดิบ มีสัดส่วนในยอดขายของ ปตท.สผ. ไม่มาก
จึงทำให้ราคาขายเฉลี่ยทุกผลิตภัณฑ์ของ ปตท.สผ. อาจลดลง 20-25% มาอยู่ที่ราว 35 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ซึ่งก็อาจส่งผลให้ ปตท.สผ. มีโอกาสขาดทุน
แต่ถ้าไม่รวมค่าเสื่อมราคา บริษัทก็น่าจะยังมีกระแสเงินสดเป็นบวกอยู่ และไม่ต้องหยุดผลิต
เนื่องจากมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเงินจริงประมาณ 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
อย่างไรก็ตาม คนที่ได้รับบาดเจ็บหนักหนาสาหัสไม่แพ้กัน คงหนีไม่พ้น ผู้ถือหุ้น
เมื่อต้นปี หุ้นของบริษัท ปตท.สผ. มีมูลค่าตลาดอยู่ที่เกือบ 500,000 ล้านบาท
แต่จากปัญหาที่รุมเร้า จึงถูกเทขาย จนล่าสุดลดลงเหลือ 250,000 ล้านบาท
ผู้ถือหุ้นใหญ่สุด 64.79% ก็คือ บริษัทแม่อย่าง ปตท.
ปตท. ได้รับผลกระทบจากมูลค่าที่หายไป จนเสียตำแหน่งบริษัทใหญ่สุดของประเทศไทย ให้กับท่าอากาศยานไทย อยู่ช่วงหนึ่ง
นอกจากนี้ การเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ทำให้มีผู้สนใจเข้าลงทุนมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสถาบัน เช่น สำนักงานประกันสังคม หรือนักลงทุนรายย่อยอีกกว่า 44,000 คน
ทำให้ผู้ถือหุ้นเหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
ไม่มีใครรู้ว่าสงครามราคาน้ำมันครั้งนี้ จะจบลงเมื่อไหร่
และในอนาคต ก็ไม่มีอะไรรับประกันว่า
ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับต่ำ จนกลายเป็นเรื่องปกติ (New Normal)
ซึ่งคิดอย่างนี้แล้ว บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย
อาจจะต้องรีบหาวิธีรับมือ เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ถ้ามันเป็น New Normal จริงๆ..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.set.or.th/set/companyprofile.do?symbol=pttep
-https://www.pttep.com/th/Investorrelations/Eventsandpresentations.aspx
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.