กรณีศึกษา TOYS R US ล้มละลาย

กรณีศึกษา TOYS R US ล้มละลาย

24 ก.ย. 2017
ร้านขายของเด็กเล่นที่ใหญ่สุดในโลก
ทำไมถึงประกาศล้มละลาย
จริงๆแล้วเรื่องนี้มีบทเรียนอะไรซ่อนอยู่ให้เราเรียนรู้
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
TOYS “R” US ก่อตั้งขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2491 หรือเมื่อ 69 ปีที่แล้ว และถือเป็นเชนร้านค้าปลีกของเล่นที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีจำนวนสาขากว่า 1,600 สาขา และพนักงานถึง 64,000 คน ใน 38 ประเทศทั่วโลก
แต่ล่าสุด หลายๆ คนน่าจะได้เห็นกันในข่าวแล้ว คือ Toys R Us ได้ประกาศล้มละลาย และขอเข้าสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้
Toys R Us นั้นดำเนินธุรกิจขาดทุนมาหลายปีแล้ว โดย 3 ปีล่าสุดนั้น
ปี 2557 มีรายได้รวม 407,913 ล้านบาท ขาดทุน 9,504 ล้านบาท
ปี 2558 มีรายได้รวม 389,466 ล้านบาท ขาดทุน 4,092 ล้านบาท
ปี 2559 มีรายได้รวม 380,820 ล้านบาท ขาดทุน 957 ล้านบาท
และในไตรมาสล่าสุด มีรายได้รวม 72,798 ล้านบาท ขาดทุน 5,379 ล้านบาท
ซึ่งการล้มละลายในครั้งนี้ เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยหลัก
ข้อแรก บริษัทมีหนี้สินติดตัวอยู่มาก
โดยหลักๆ แล้วก็มาจากการเข้าซื้อกิจการ Toys R Us ของกลุ่ม Bain Capital Partners LLC, Kohlberg Kravis Roberts และ Vornado Realty Trust มูลค่า 217,800 ล้านบาท เมื่อปี 2548
คนมาซื้อกิจการแล้วทำไมบริษัทเป็นหนี้?
เพราะการซื้อกิจการในครั้งนั้น กลุ่มผู้ซื้อใช้เงินทุนตัวเอง 42,900 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 174,900 ล้านบาทนั้น ใช้สินทรัพย์ของบริษัทไปกู้มา (Leverage Buy Out)
และการ LBO ในครั้งนั้น ทำให้บริษัทที่จากเดิมมีหนี้สินรวมไม่ถึง 30,000 ล้านบาท กลายเป็น 204,600 ล้านบาท และมีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ยประมาณ 13,200-14,850 ล้านบาทต่อปี
(สังเกตว่าถ้าบริษัทไม่มีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย บริษัทจะไม่ขาดทุน)
ปัจจุบันก่อนการประกาศล้มละลาย Toys R Us มีหนี้สินระยะยาว 166,617 ล้านบาท มีหนี้สินระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระใน 1 ปี อีก 5,379 ล้านบาท และดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายอีก 13,200 ล้านบาท
ข้อที่ 2 คือ การแข่งขันกับบริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ และ การเติบโตของ e-commerce
ถึงแม้ว่า Toys R Us จะเคยขึ้นชื่อว่าเป็นสุดยอดร้านขายของเล่น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ายักษ์ใหญ่วงการค้าปลีกอย่าง Walmart และ Target จะทำบ้างไม่ได้ ซึ่งนอกจากจะเข้ามาร่วมตลาดของเล่นแล้ว ยังมีกลยุทธ์สู้ด้วยราคา และปรับราคาขั้นต่ำในการส่งฟรี ทำให้ Toys R Us ถูกแย่งส่วนแบ่งไป
แค่นั้นยังไม่พอ การซื้อของออนไลน์ในปัจจุบันนั้นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เท่ากับว่า สู้กับ Walmart ยังไม่พอ ยังต้องสู้กับ 1 ใน 5 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Amazon อีก
ยอดขาย “ทางออนไลน์” โดยประมาณของ ของเล่นและสินค้าสำหรับเด็กในอเมริกา ปี 2559
Toys R Us มียอดขาย 30,100 ล้านบาท
Walmart มียอดขาย 42,400 ล้านบาท
Amazon มียอดขาย 71,380 ล้านบาท
ซึ่งตอนที่เข้ามาซื้อกิจการเมื่อปี 2548 กลุ่มนายทุนอาจจะมองอนาคตของ e-commerce ผิดไป เพราะในสมัยนั้น Amazon ก็ยังไม่ได้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่แบบในปัจจุบัน
จริงๆ แล้วปัจจัยทั้ง 2 ข้อนี้ ก็เกี่ยวข้องกัน และก่อให้เกิดวงจรที่ทำให้บริษัทไม่สามารถเติบโตได้อย่างที่ควรจะเป็น
ผู้บริหารอาจจะมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของตลาดและการแข่งขันที่กำลังเกิดขึ้นก็จริง แต่จากที่บริษัทขาดอิสระทางการเงินเพราะหนี้สินก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายคืน ทำให้ไม่สามารถขยายธุรกิจ หรือ ลงทุนเพิ่มในส่วนที่จำเป็น (เช่น ทางออนไลน์) ได้อย่างเต็มที่
และเมื่อขาดการลงทุนที่เหมาะสม ก็กลายเป็นตามหลังคู่แข่ง ผลประกอบการก็แย่ลง และความสามารถในการจ่ายหนี้คืนก็ลดลงตามเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม นี่ยังไม่ใช่จุดจบของ Toys R Us เพราะนี่ไม่ใช่การเลิกกิจการ เพียงแต่ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์และปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทแม่ในอเมริกา ซึ่งก็มีรายงานว่า บริษัทจะได้รับเงินกู้จากสถาบันการเงินกว่า 99,000 ล้านบาท เพื่อนำมาฟื้นฟูกิจการ
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เวลาเราทำอะไร อย่ามั่นใจจนถึงขั้นกู้หนี้ยืมสินมาเกินตัว
ถ้ายกตัวอย่างให้เห็นภาพ ในกรณีนี้ผู้ซื้อกิจการ มีเงินทุนแค่ 1 ส่วน แต่กลับกู้ยืมมาถึง 4 ส่วน
ถ้ากิจการถดถอยลงไป 20% (1 ใน 5 ) จะหมายความว่าเงินทุน 1 ส่วนเราจะหายหมด และ คงเหลือแต่หนี้ 4 ส่วน
จากตัวอย่างนี้ เงิน 1 ส่วน ดูเหมือนจะน้อย แต่ในกรณี Toy R Us เงิน 1 ส่วนของเขาคือ 42,900 ล้านบาท ซึ่งหายไปหมด และ เหลือแต่หนี้มหาศาล 174,900 ล้านบาท
เรื่องนี้ก็อาจจะเป็นบทเรียนที่ดีให้กับคนที่ชอบคิดว่าตัวเองเก่ง มีประสบการณ์มาเยอะ มั่นใจว่าตัวเองจะได้กำไรแน่ๆ
ในทางกลับกัน
ถ้าเรายิ่งคิดว่าตัวเองฉลาดมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีโอกาสจะทำสิ่งที่ดูโง่ได้มากขึ้นเท่านั้น..
source: reuters, forbes, businessinsider
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.