กรณีศึกษา การใช้ SOFT POWER ของจีนในยุค COVID-19

กรณีศึกษา การใช้ SOFT POWER ของจีนในยุค COVID-19

12 พ.ค. 2020
กรณีศึกษา การใช้ SOFT POWER ของจีนในยุค COVID-19 /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงประเทศที่ใช้ Soft Power ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เราอาจนึกถึง ประเทศที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกทางวัฒนธรรม อย่างเกาหลีใต้หรือญี่ปุ่น
แต่จริงๆ แล้ว Soft Power ไม่ได้มีแค่เรื่องที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว
โดยเฉพาะในสถานการณ์ตอนนี้ ที่มีการระบาดอย่างหนักของ COVID-19
จีน กลับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทโดดเด่นสุด ตอนนี้
เรื่องนี้น่าสนใจอย่างไร? ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเรามาเริ่มจากการทำความเข้าใจกับคำว่า “Soft Power”
Soft Power มาจากแนวคิดของศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชื่อ Joseph Nye
เป็นการขยายอิทธิพล หรือทำให้ผู้อื่นคล้อยตาม โดยไม่ใช้วิธีการบังคับ
ซึ่ง Soft Power จะเกิดขึ้นจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ วัฒนธรรม ค่านิยม และนโยบายต่างประเทศ
ตัวอย่างประเทศ ที่ประสบความสำเร็จจากการใช้ Soft Power
ฝรั่งเศส ขึ้นชื่อเรื่องอาหาร โดยถือเป็นประเทศที่ได้มิชลินสตาร์มากสุดในโลก
มีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น หอไอเฟล พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์
ทำให้เป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางไปเยือนมากสุดในโลก
คิดเป็นจำนวนเกือบ 90 ล้านคน ในปี 2018
สหราชอาณาจักร มีสื่อที่ได้รับการยอมรับ อย่าง BBC
ซึ่งนับเป็นหนึ่งในสื่อทรงอิทธิพล ที่มีคนดูมากที่สุดในโลก
นอกจากนั้นยังมี Premier League ที่เป็นการแข่งขันฟุตบอลที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก
สหรัฐอเมริกา เรียกได้ว่าเป็นอีกประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเผยแพร่วัฒนธรรม
ผ่านอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพลง รวมถึงแบรนด์ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน
ด้านการศึกษา สหรัฐอเมริกา ถือเป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยระดับโลกมากสุดในโลก
รวมถึงด้านเทคโนโลยี ก็เป็นต้นกำเนิดของบริษัทอย่าง เฟซบุ๊ก แอปเปิล กูเกิล ไมโครซอฟต์
และอย่างที่รู้กันว่า คู่แข่งที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา ก็คือ “จีน”
โดยเฉพาะ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงอย่าง COVID-19
ซึ่งกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญ ในการแข่งขันทางขั้วอิทธิพลระหว่าง 2 ประเทศนี้
และก็ดูเหมือนว่าจีน กำลังทำคะแนนในด้านนี้ได้อย่างโดดเด่น
เพราะแม้ว่าจีน จะเป็นศูนย์กลางการระบาดแห่งแรกๆ
แต่ก็เป็นประเทศที่สามารถจัดการกับ COVID-19 ได้เป็นแห่งแรกๆ เช่นกัน
ซึ่งเมื่อการระบาดแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น
จีน ก็ใช้โอกาสนี้ ในการส่งความช่วยเหลือไปให้ทั่วโลก
โดยรัฐบาลจีน ได้มีการส่งอุปกรณ์ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันเชื้อโรค ชุดตรวจโรค รวมถึงทีมแพทย์ ไปให้กว่า 120 ประเทศ
มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตรวจหาโรค การรักษาโรค และการป้องกันโรค โดยอ้างอิงจากประสบการณ์ที่จีนได้รับมาก่อน
นอกจากนั้น ยังมีการอนุมัติวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และโครงการพักชำระหนี้
ให้กับประเทศซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ Belt and Road ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19
ในส่วนภาคเอกชนของจีนเอง ก็ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือในวิกฤติ COVID-19 นี้ไม่แพ้กัน
โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ การเงิน และการขนส่ง มีการบริจาคอุปกรณ์การแพทย์ ไปยังประเทศต่างๆ
นอกจากนั้นยังมีมูลนิธิของ Alibaba และ Jack Ma ซึ่งบริจาคหน้ากากอนามัยให้เกือบ 100 ประเทศ
มีการเผยแพร่สื่อที่เกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคใน 8 ภาษา ลงบนโลกออนไลน์
รวมถึงสร้างแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบเรียลไทม์ที่ชื่อว่า
Global MediXchange for Combating COVID-19 หรือ GMCC
ซึ่งในขณะที่จีนกำลังทำทุกอย่างนี้ สหรัฐอเมริกาที่เป็นพี่ใหญ่ของโลก กลับยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ในประเทศได้
ดังนั้น COVID-19 จึงเปรียบเหมือนโอกาสของจีน
ในการสั่นคลอนอิทธิพลของสหรัฐอเมริกา โดยใช้ Soft Power เป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ
และถ้าจีน สามารถผลิตวัคซีนได้สำเร็จเป็นประเทศแรก
ก็น่าสนใจไม่น้อยว่า สมดุลขั้วอำนาจระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกาจะเปลี่ยนไปอย่างไร
จริงๆ แล้ว ก่อนหน้า COVID-19 จีนได้เริ่มมีการใช้ Soft Power มาสักระยะหนึ่งแล้ว
ในด้านวัฒนธรรม เราจะเห็นได้ว่าทั้งวงการบันเทิง สถานที่ท่องเที่ยว และภาษาจีนที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ผ่านซีรีส์ ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงการให้ทุนการศึกษาจำนวนมากแก่นักเรียนต่างประเทศ
ในด้านการต่างประเทศ ก็มีโครงการ Belt and Road ที่เข้าไปช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในกว่า 60 ประเทศ
ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมาที่ไทย เราเองก็เป็นประเทศที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น
เรามีวัฒนธรรม มวยไทย อาหารไทย ที่ขึ้นชื่อ
เรามีภาพยนตร์ ละคร ศิลปิน ที่เริ่มเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ
เรามีสถานที่ท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
และไทยยังได้รับการจัดอันดับว่ามีความมั่นคงทางสุขภาพเป็นอันดับที่ 6 ของโลก
แปลว่าจริงๆ ถ้าเราสามารถวางกลยุทธ์เพื่อบริหารจัดการจุดเด่นเหล่านี้ได้
ประเทศไทยเรา ก็มีศักยภาพในการใช้ Soft Power ได้ไม่แพ้ใครเช่นกัน..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://softpower30.com
-https://www.statista.com/statistics/261726/countries-ranked-by-number-of-international-tourist-arrivals/
-https://www.weforum.org/agenda/2020/03/how-china-s-covid-19-recovery-could-bolster-its-global-influence/
-https://www.politico.eu/article/coronavirus-china-winning-propaganda-war/
-https://www.silkroadbriefing.com/news/2020/03/27/china-development-bank-provide-financial-support-belt-road-projects-affected-covid-19/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.