หนี้สาธารณะของไทย แบบเข้าใจง่ายๆ

หนี้สาธารณะของไทย แบบเข้าใจง่ายๆ

3 มิ.ย. 2020
หนี้สาธารณะของไทย แบบเข้าใจง่ายๆ /โดย ลงทุนแมน
หนี้สาธารณะของประเทศไทยตอนนี้สูงระดับไหน?
แล้วหนี้สาธารณะระดับไหนถือว่าสูง?
แล้วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ถือว่าสูงหรือไม่
หลายครั้ง เรื่องนี้มักเป็นเรื่องที่ถูกนำมาโจมตีในทางการเมืองของฝั่งตรงข้ามในทุกยุคทุกสมัย
ประเทศเราก่อหนี้ไว้มาก จนคนธรรมดาอย่างเราฟังแล้วไม่เข้าใจ
ลงทุนแมนจะมาอธิบายเรื่องนี้ แบบเข้าใจง่ายๆ ให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่าทำไมรัฐบาลจึงต้องมีหนี้สาธารณะ
ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศใดประเทศหนึ่ง ทุกประเทศจะใช้ 2 นโยบายหลัก ได้แก่
1. นโยบายการเงิน (Monetary Policy)
ดำเนินการโดยธนาคารกลางของประเทศนั้น ซึ่งเครื่องมือหลักคือ การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อให้สะท้อนกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ
เศรษฐกิจไม่ดีจะลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เศรษฐกิจดีจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอความร้อนแรง
2. นโยบายการคลัง (Fiscal Policy)
ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลผ่านมาตรการภาษีซึ่งเป็นด้านรายได้
รายได้ของรัฐบาลนั้น ถือเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดรายจ่ายที่รัฐบาลต้องการใช้ในการดำเนินนโยบายต่างๆ
รายได้หลักของรัฐบาลคือ รายได้จากภาษี อย่างไรก็ตาม มีหลายครั้งที่การจัดเก็บรายได้นั้นไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ซึ่งอาจเกิดจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ หรือเศรษฐกิจโลก
แต่เพื่อให้นโยบายต่างๆ สามารถดำเนินการต่อไปได้ รัฐบาลจึงจําเป็นต้องกู้เงินมาใช้จ่าย จนนำมาซึ่งหนี้สาธารณะ (Public Debt) ซึ่งก็มาจากการออกพันธบัตรรัฐบาล หรือกู้ยืมเงินจากคนอื่นนั่นเอง
สำหรับประเทศไทยนั้น ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะสามารถกู้เงินมาใช้จ่ายเท่าไรก็ได้
เพราะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยเฉพาะการที่ต้องคงสัดส่วนหนี้สาธารณะไม่เกิน 60% ของ GDP
ณ สิ้นไตรมาส 1/2563 หนี้สาธารณะของไทยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม
1. หนี้รัฐบาลจำนวน 5.8 ล้านล้านบาท
2. หนี้รัฐวิสาหกิจจำนวน 0.9 ล้านล้านบาท
3. หนี้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจในภาคการเงินจำนวน 0.3 ล้านล้านบาท
4. หนี้หน่วยงานของรัฐจำนวน 0.008 ล้านล้านบาท
รวมหนี้สาธารณะของประเทศไทยทั้งหมด 7 ล้านล้านบาท ซึ่งหนี้สาธารณะของไทยทั้งหมดนั้น 97% เป็นหนี้ในประเทศและ 3% เป็นหนี้ต่างประเทศ
โดยหนี้สาธารณะมีสัดส่วนประมาณ 41% ของ GDP ทั้งประเทศที่ 17 ล้านล้านบาท
พอเรื่องเป็นแบบนี้ นั่นก็หมายความว่า
ณ วันนี้ประเทศไทยของเรามีกระสุนเหลือที่จะก่อหนี้สาธารณะเพื่อมาใช้ดำเนินนโยบายต่างๆ รวมทั้งรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท
รู้ไหมว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 สัดส่วนหนี้สาธารณะของไทยต่อ GDP เคยขึ้นไปถึง 58% ในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ
ก่อนที่จะลดลงมา โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2540-2562 หนี้สาธารณะต่อ GDP เฉลี่ยอยู่ที่ปีละประมาณ 45% และปัจจุบัน ลดลงมาอยู่ที่ 41%
แล้วปัจจุบัน หนี้สาธารณะของไทยถือว่าสูงไหมเมื่อเทียบกับที่อื่นในปัจจุบัน?
ซึ่งก็ต้องถามกลับว่าเทียบกับใคร
ถ้าเทียบหนี้ทั่วโลก หนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อ GDP จะอยู่ที่ 80%
แต่ถ้าเทียบกับประเทศในอาเซียน หนี้สาธารณะเฉลี่ยต่อ GDP จะอยู่ที่ 46%
ถ้าดูแบบนี้คงต้องบอกว่า สถานะการเงินและการคลังของประเทศยังถือว่าอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร
ในตอนนี้มีหลายประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงจนมีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น
เลบานอน มีหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 150% ซึ่งนับแค่เฉพาะดอกเบี้ยที่รัฐบาลต้องจ่ายเจ้าหนี้ ก็มากกว่า 50% ของรายได้ของรัฐบาล ทำให้รัฐบาลเหลืองบประมาณไม่มากในการพัฒนาประเทศ จนเกิดวิกฤติในประเทศขึ้นเมื่อปี 2019 จนมาถึงปัจจุบัน
เปอร์โตริโก ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของสหรัฐอเมริกา ก็มีหนี้สาธารณะกว่า 119% ของ GDP การจากที่รัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลด้วยวิธีการออกพันธบัตรอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี การมีหนี้สินมหาศาลโดยที่รัฐบาลขาดความสามารถในการชำระคืนหนี้ จนประเทศเกือบที่จะล้มละลายก่อนหน้านี้
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าหนี้สาธารณะของประเทศยังถือว่าไม่สูง แต่สิ่งที่ท้าทายพวกเราในอนาคตคือ ประชากรวัยแรงงานซึ่งเป็นฐานภาษีที่สำคัญของประเทศมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับสัดส่วนผู้สูงอายุ
นั่นหมายว่า รายได้จากภาษีของรัฐบาลมีแนวโน้มลดลง ขณะที่รายจ่ายอาจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจสร้างความไม่สมดุลระหว่าง รายได้และรายจ่ายของรัฐบาล
เมื่อเป็นแบบนั้น รัฐบาลก็ควรทำ 2 เรื่องคือ
1. พยายามใช้จ่ายในโครงการต่างๆ ที่จำเป็น และมีประโยชน์ในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
2. พยายามลดรายจ่ายในบางโครงการที่ไม่จำเป็น เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสังคมผู้สูงอายุในอนาคต
ซึ่งทั้ง 2 เรื่องจะทำให้เราคงสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ โดยที่เรารับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้
คำถามที่สำคัญคือ
รัฐบาลตอนนี้รู้ตัวหรือยังว่า
1. อะไรคือค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
2. อะไรคือค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
เพราะถ้ายังไม่รู้
คนที่จะมารับภาระในอนาคต
ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน
แต่เป็นลูกหลานของพวกเรานั่นเอง..
----------------------
Blockdit แหล่งรวมบทความวิเคราะห์ เจาะลึกแบบ deep content ล่าสุดมีฟีเจอร์พอดแคสต์แล้ว
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/parbudget/ewt_dl_link.php?nid=432&filename=document
-https://www.pdmo.go.th/th/public-debt/debt-outstanding
-https://tradingeconomics.com/thailand/government-debt-to-gdp
-https://blogs.imf.org/2019/12/17/new-data-on-world-debt-a-dive-into-country-numbers/
-https://www.statista.com/statistics/804337/national-debt-of-the-asean-countries-in-relation-to-gross-domestic-product-gdp/
-https://www.ft.com/content/caa28d20-4b94-11ea-95a0-43d18ec715f5
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.