ไม่ใช่ทุกธุรกิจ จะเหมาะกับโมเดล Subscription

ไม่ใช่ทุกธุรกิจ จะเหมาะกับโมเดล Subscription

4 มิ.ย. 2020
ไม่ใช่ทุกธุรกิจ จะเหมาะกับโมเดล Subscription /โดย ลงทุนแมน
รูปแบบการเก็บค่าบริการในโลกนี้หลักๆ มีอยู่สองแบบ
แบบเหมาจ่ายหรือที่เรียกกันว่า “Subscription” กับแบบ “ตามการใช้งาน”
ถ้าเอาแนวคิดเรื่องโครงสร้างต้นทุน มาวิเคราะห์ธุรกิจที่เก็บค่าบริการแตกต่างกันสองแบบนี้
จะเห็นความสัมพันธ์ได้ง่าย
แล้วการเก็บค่าบริการแต่ละแบบเหมาะกับธุรกิจแบบไหน
ลงทุนแมนจะวิเคราะห์ให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ถ้าพูดถึงต้นทุน ส่วนใหญ่แล้วจะประกอบด้วย
1. ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost)
2. ต้นทุนแปรผันตามการให้บริการ (Variable Cost)
ธุรกิจประเภทแรก คือธุรกิจที่เก็บค่าบริการแบบเหมาจ่ายหรือค่า Subscription
ตัวอย่างเช่น Netflix, Spotify
ข้อสังเกตของธุรกิจประเภทนี้ คือไม่มีต้นทุนที่แปรผันตามการใช้งานจึงสามารถเก็บค่าบริการเหมาจ่ายแบบ Subscription ได้
ยกตัวอย่างเช่น Netflix แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงออนไลน์
ที่การเพิ่มขึ้นของการใช้งาน ไม่ได้เพิ่มต้นทุนในการให้บริการอย่างมีนัยสำคัญ
ไม่ว่าจะมีสมาชิก 100 คน หรือ 1,000 คน ที่เข้ามาชมภาพยนตร์ ซีรีส์
Netflix จะยังมีค่าใช้จ่ายหลักคล้ายเดิม
เช่น ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาแอปพลิเคชัน ดูแลระบบ สร้างคอนเทนต์ ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์
อาจจะมีต้นทุนเพิ่มบางส่วน เช่น ค่าทราฟฟิก ค่าเซิร์ฟเวอร์ต่างๆ ที่ต้องจ่ายเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้มีนัยสำคัญ
พูดง่ายๆ คือ ต้นทุนส่วนใหญ่ของ Netflix คือต้นทุนคงที่
ในขณะที่ต้นทุนแปรผันตามการใช้งานมีน้อย
Netflix จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มจากจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น
และสามารถเก็บค่าบริการได้ในราคาเหมาจ่าย
ส่วนผู้ใช้งาน ก็รับชมคอนเทนต์ได้เต็มที่
ไม่ต้องกังวลว่าดูมากแล้วจะเสียเงินมาก
ส่วนธุรกิจอีกประเภท คือธุรกิจที่คิดค่าบริการตามการใช้งาน
เช่น GrabFood, Kerry
ข้อสังเกตของธุรกิจประเภทนี้คือมีต้นทุนแปรผันตามการให้บริการ
ยกตัวอย่าง เช่น GrabFood แอปพลิเคชันสั่งอาหารออนไลน์ และบริการจัดส่งอาหาร
ที่การเก็บค่าบริการจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระยะทางที่ให้บริการ
เพราะระยะทางในการจัดส่งที่ไกลขึ้น มีต้นทุนค่าน้ำมัน และเวลาที่ต้องเสียมากขึ้น
พูดง่ายๆ คือ นอกเหนือจากต้นทุนคงที่ เช่น ต้นทุนการพัฒนาแอปพลิเคชัน สวัสดิการของพาร์ตเนอร์คนขับ
ยังมีต้นทุนที่แปรผันตามการให้บริการเพิ่มขึ้นมา
ทำให้ GrabFood ต้องคิดค่าบริการตามระยะทางหรือตามการใช้งาน
เพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนในการให้บริการแต่ละครั้ง
แต่เมื่อมีซ้ายสุดและขวาสุด ก็ย่อมมีตรงกลาง
ธุรกิจบางประเภท สามารถเก็บค่าบริการได้ทั้งสองแบบ
ทั้งแบบเหมาจ่าย และแบบคิดตามการใช้งาน เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีตัวเลือกมากขึ้น
แล้วอาศัยการนำรายได้จากทั้งสองแบบมารวมกัน
ตัวอย่างเช่น ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต
มีทั้งคิดค่าบริการแบบเหมาจ่ายรายเดือน และตามการใช้งานหรือแบบเติมเงิน
โดยบริษัทที่ให้บริการจะใช้ค่า Average Revenue Per User (ARPU)
หรือรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้งาน มาเป็นเครื่องมือบริหารรายได้
จากมุมมองโครงสร้างต้นทุนของแต่ละธุรกิจ
ก็สรุปได้ว่า ธุรกิจที่มีโครงสร้างต้นทุนต่างกัน เหมาะกับการคิดค่าบริการกันคนละแบบ
ธุรกิจที่ไม่มีต้นทุนแปรผันตามการใช้งานอย่าง Netflix
เหมาะกับการเก็บค่าบริการแบบเหมาจ่าย
ส่วนธุรกิจที่มีต้นทุนแปรผันตามการให้บริการอย่าง GrabFood
เหมาะกับการคิดค่าบริการตามการใช้งาน
ถ้าให้ GrabFood คิดค่าส่งเหมารวมราคาเดียวก็คงจะลำบาก
เพราะต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการให้บริการแต่ละครั้งนั้นไม่เท่ากัน
ผู้บริโภคก็คงไม่ชอบใจ หากต้องจ่ายค่าส่งอาหารที่สั่งจากร้านที่ระยะทางขนส่ง 2 กิโลเมตร
เท่ากันกับอีกคนที่สั่งจากร้านที่ระยะทางขนส่ง 10 กิโลเมตร
โจทย์ของผู้ให้บริการ คือจะจัดการรายรับอย่างไร ให้เหมาะสมกับรูปแบบต้นทุนที่สุด
นั่นหมายความว่า
ไม่ใช่ทุกธุรกิจบนโลกจะเหมาะกับการเก็บค่าบริการแบบ Subscription ไปเสียทั้งหมด
ท้ายสุดแล้ว
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้คุณภาพของสินค้าหรือบริการ คือการบริหารรายได้ให้สัมพันธ์กับโครงสร้างต้นทุน
ไม่เช่นนั้นแล้ว ต่อให้มีผู้ใช้บริการมากมายแค่ไหน
ธุรกิจก็คงอยู่ไม่ได้ ถ้ารายได้น้อยกว่าต้นทุน..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.