กรณีศึกษา Grammarly โปรแกรมตรวจไวยากรณ์ ภาษาอังกฤษ

กรณีศึกษา Grammarly โปรแกรมตรวจไวยากรณ์ ภาษาอังกฤษ

22 มิ.ย. 2020
กรณีศึกษา Grammarly โปรแกรมตรวจไวยากรณ์ ภาษาอังกฤษ /โดย ลงทุนแมน
มนุษย์ได้เปลี่ยนพฤติกรรมการสื่อสารไปอย่างสิ้นเชิงโดยไม่รู้ตัว
จากที่เคยพูดและเขียน เป็นส่วนใหญ่ของชีวิต
ในวันนี้ ถ้าถามว่ามนุษย์สื่อสารในรูปแบบไหนมากที่สุด
สิ่งนั้นน่าจะเป็น “การพิมพ์ตัวหนังสือ”
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า
ทุกวันนี้ สมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์ ได้กลายเป็นเสมือนปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์
ทั้งแช็ตข้อความ, เล่นโซเชียลมีเดีย, ค้นหาข้อมูล หรือทำงาน
แต่ปัญหาที่กลับพบได้บ่อยคือ การพิมพ์ผิด จนสื่อความหมายออกไปไม่ถูกต้อง
ทำให้โปรแกรมตรวจสอบไวยากรณ์ภาษาอังกฤษชื่อว่า “Grammarly” ได้รับความนิยม จนธุรกิจมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท
นอกจากให้คำแนะนำเรื่องภาษาแล้ว
Grammarly ยังเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจในแง่ของธุรกิจอย่างไร
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
Grammarly เป็นสตาร์ตอัปจากประเทศยูเครน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2009 หรือ 11 ปีที่แล้ว
โดยกลุ่มเพื่อน 3 คน คือ คุณ Alex Shevchenko, Max Lytvyn และ Dmytro Lider
บริษัททำธุรกิจพัฒนาซอฟต์แวร์ สำหรับตรวจและแก้ไขไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ รวมทั้งยังสามารถเช็กการคัดลอกผลงานได้อีกด้วย
แต่ฟีเจอร์ที่โดดเด่นกว่าโปรแกรมอื่น
คือการใช้อัลกอริทึม AI (Artificial Intelligence) เรียนรู้คำศัพท์ วลี และประโยคต่างๆ
แล้วมาประมวลผล เพื่อแนะนำรูปแบบการเขียนที่ถูกต้องเหมาะสมให้
ซึ่งที่ผ่านมา Grammarly มีจำนวนผู้ใช้งานประจำ หรือ Active Users เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด
ปี 2015 อยู่ที่ 1 ล้านรายต่อวัน
ปี 2017 อยู่ที่ 7 ล้านรายต่อวัน
ปี 2019 อยู่ที่ 20 ล้านรายต่อวัน
ด้วยเหตุนี้ ในการระดมทุนรอบล่าสุดเมื่อปี 2019 บริษัทจึงถูกประเมินมูลค่าธุรกิจเอาไว้ที่ 31,300 ล้านบาท
ถือเป็นสตาร์ตอัปยูนิคอร์นแห่งแรกของประเทศยูเครน
แต่กว่าจะประสบความสําเร็จระดับนี้ได้ บริษัทต้องผ่านการปรับตัวมาตลอด..
ในอดีต ผู้ร่วมก่อตั้ง เคยสร้างซอฟต์แวร์ตรวจเช็กไวยากรณ์มาก่อน ชื่อว่า MyDropbox โดยขายให้กับมหาวิทยาลัยได้ถึง 800 แห่ง ครอบคลุมนักเรียนกว่า 2 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม พวกเขากลับพบว่า การออกแบบโปรแกรมสำหรับลูกค้าสถาบันการศึกษาเพียงกลุ่มเดียว ค่อนข้างจำกัดศักยภาพทางธุรกิจ จึงได้ตัดสินใจขายกิจการไป
เพราะจริงๆ แล้ว คนทั่วไปก็ต้องการใช้ภาษาอังกฤษอย่างถูกต้องเหมือนกัน เช่น เขียนอีเมล, จัดทำรายงานเสนอที่ประชุม, โพสต์คอนเทนต์ลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือแม้แต่แช็ตคุยกับเพื่อนฝูง
พวกเขาเลยหันมาพัฒนาซอฟต์แวร์ตัวใหม่ นั่นคือ Grammarly
แต่ในช่วงแรก บริษัทยังคงโมเดลธุรกิจแบบเดิมอยู่ โดยขายขาดโปรแกรมให้กับมหาวิทยาลัย 250 แห่ง ครอบคลุมนักเรียนกว่า 3 แสนคน
เนื่องจากต้องการสร้างฐานลูกค้าและสถานะทางการเงินที่มั่นคงให้ได้เสียก่อน
รวมทั้งเก็บข้อมูล เพื่อปรับปรุงบริการให้พร้อมสำหรับการขยายสู่ตลาดใหญ่ในอนาคต
ต่อมาในปี 2012 บริษัทก็ได้เปิดตัวบริการตรวจไวยากรณ์ภาษาอังกฤษบนเว็บไซต์ ในรูปแบบระบบสมาชิก หรือ Subscription โดยคิดราคาราว 370 บาทต่อเดือน และทดลองใช้ก่อนได้เป็นเวลา 7 วัน
นอกจากนี้ ยังได้เชื่อมต่อซอฟต์แวร์เข้ากับ Microsoft Office เพื่อให้สามารถแนะนำไวยากรณ์ได้ทันทีตั้งแต่ที่ผู้ใช้พิมพ์ตัวหนังสือ
ผลปรากฏว่า Grammarly ได้รับกระแสตอบรับที่ดี จนรายได้จากค่าสมาชิก มีสัดส่วนเป็น 80% ของรายได้ทั้งหมด แซงหน้าการขายขาดให้ลูกค้าสถาบันศึกษาไปอย่างสิ้นเชิง
จากตัวเลขดังกล่าว พวกเขาจึงเล็งเห็นโอกาสว่า หากลูกค้าได้ลองใช้จริงก่อน ก็จะมีแนวโน้มสมัครเป็นสมาชิกมากขึ้น ทำให้ในปี 2015 บริษัทเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์การขายแบบ Freemium แทน
โดย Grammarly เปิดบริการขั้นพื้นฐานให้ใช้ได้ฟรี แต่ถ้าจ่ายค่าสมาชิกราว 370-940 บาทต่อเดือน ก็จะสามารถใช้ฟีเจอร์พิเศษเพิ่มเติม เช่น การให้ AI แนะนำรูปประโยคที่เหมาะกับเนื้อหา หรือตรวจเช็กเรื่องคัดลอกผลงาน
และในขณะนั้น ผู้คนไม่ได้พิมพ์ตัวหนังสือบนโปรแกรมออฟไลน์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเริ่มไปทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น เช่น Facebook, Google Docs, Gmail
นอกจากนั้น Grammarly ยังพัฒนาการเชื่อมต่อกับเบราว์เซอร์อินเทอร์เน็ต และคีย์บอร์ดของระบบปฏิบัติการในสมาร์ตโฟน เพื่อรองรับพฤติกรรมตลาดที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ บริษัทยังเลือกมุ่งเน้นพัฒนาบริการเพียงแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะมองว่าเป็นภาษาหลักของการติดต่อสื่อสาร โดยคอนเทนต์บนโลกอินเทอร์เน็ตกว่า 59% ถูกเขียนขึ้นด้วยภาษาอังกฤษ
จากการปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ Grammarly เติบโตอย่างรวดเร็ว จนมีผู้ใช้งานรวมทุกแพลตฟอร์มสูงถึง 20 ล้านบัญชี ในปัจจุบัน
เราได้เรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง?
หลายครั้งที่บริษัทเทคโนโลยี เร่งเปิดตัวแพลตฟอร์มในตลาดใหญ่ เพื่อให้มีคนมาใช้งานเยอะๆ
แต่ถ้ามันไม่เป็นอย่างที่คิด บริษัทนั้นไม่สามารถสร้างรายได้จากฐานลูกค้าในมือได้
สุดท้ายธุรกิจอาจมีแต่ค่าใช้จ่าย จนขาดทุนมหาศาล
ตัวอย่างของ Grammarly แสดงให้เห็นถึงการค่อยๆ สร้างความแข็งแกร่ง
ค่อยๆ ทดลองตลาดจากกลุ่มเล็กๆ และปรับตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภค
จากนั้นถึงเริ่มขยายตลาดเมื่อมีความพร้อม
ซึ่งการทดลองจากสิ่งเล็กๆ แล้วขยายเป็นใหญ่
อาจเป็นทางเลือกที่จะเจ็บตัวน้อยกว่า ใช้เงินทุนน้อยกว่า และสำเร็จได้เร็วกว่าก็เป็นได้
เพราะอย่าลืมว่า คนที่เข้าเส้นชัย ไม่จำเป็นต้องวิ่งเร็วเสมอไป
คนที่วิ่งช้า แต่วิ่งให้ถูกทาง และยืนระยะได้นาน
ก็ก้าวถึงเป้าหมายได้เหมือนกัน..
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Grammarly
-https://venturebeat.com/2019/10/10/grammarly-raises-90-million-for-ai-that-spots-grammar-errors-and-plagiarism/
-https://techcrunch.com/2019/10/10/grammarly-raises-90m-at-over-1b-valuation-for-its-ai-based-grammar-and-writing-tools/
-https://producthabits.com/how-grammarly-quietly-grew-its-way-to-7-million-daily-users/
-https://en.wikipedia.org/wiki/Languages_used_on_the_Internet
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.