กรณีศึกษา TQM นายหน้าประกัน ที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

กรณีศึกษา TQM นายหน้าประกัน ที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท

16 ก.ค. 2020
กรณีศึกษา TQM นายหน้าประกัน ที่มีมูลค่า 4 หมื่นล้านบาท /โดย ลงทุนแมน
หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นชื่อของบริษัท TQM
แต่รู้ไหมว่า TQM เป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดใน อุตสาหกรรมประกัน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หากเรามาดูมูลค่าบริษัทในอุตสาหกรรมประกัน 5 อันดับแรก ในตลาดหลักทรัพย์
ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) 4.35 หมื่นล้านบาท
กรุงเทพประกันภัย (BKI) 3.01 หมื่นล้านบาท
กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) 2.68 หมื่นล้านบาท
เครือไทย โฮลดิ้งส์ (SEG) 1.89 หมื่นล้านบาท
ทิพยประกันภัย (TIP) 1.35 หมื่นล้านบาท
เรื่องที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ TQM ไม่ได้เป็นบริษัทประกันชีวิต หรือ ประกันวินาศภัย
แต่ TQM เป็นนายหน้าประกันที่ขายประกันของบริษัทอื่นอีกที
ทำไมนายหน้า กลับใหญ่กว่า บริษัทประกัน?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
╚═══════════╝
TQM เพิ่งจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้เพียง 2 ปีเศษ
แต่จริงๆ แล้ว TQM ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 หรือ 67 ปีก่อน
โดย TQM เริ่มต้นทำธุรกิจนายหน้าขายประกันอัคคีภัย
สำหรับโมเดลธุรกิจของ TQM คือ
การเป็นตัวกลางมีพนักงานคอยแนะนำแบบประกันภัย หรือประกันชีวิต
ผ่านช่องทางโทรศัพท์ และออนไลน์
ซึ่งทางบริษัทมีบริการครอบคลุมตั้งแต่การรับส่งกรมธรรม์ให้ถึงที่บ้าน
คอยแจ้งเตือน และต่อกรมธรรม์ก่อนที่จะหมดอายุให้กับลูกค้า
จากรายงานประจำปี 2562 TQM จะมีสัดส่วนยอดขายเบี้ยประกัน แบ่งออกเป็น
ประกันภัยรถยนต์ 10,163 ล้านบาท
ประกันอุบัติเหตุและสุขภาพ 1,429 ล้านบาท
ประกันชีวิต 766 ล้านบาท
ประกันเบ็ดเตล็ด 377 ล้านบาท
ประกันทางทะเลและขนส่ง 47 ล้านบาท
และประกันอัคคีภัย 13 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้น คิดเป็นมูลค่ารวม 12,795 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น
การเติบโต 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
โดยจะเห็นได้ว่าตอนนี้ การเป็นนายหน้า ประกันภัยรถยนต์ ถือเป็นรายได้หลักของ TQM
อย่างไรก็ตาม ยอดเบี้ยประกันภัยที่ขายได้ จะไม่ได้ถือเป็นรายได้โดยตรงของบริษัท
เพราะ TQM เป็นนายหน้า
ดังนั้น TQM จะรับรู้รายได้เป็นค่าคอมมิชชันจากเบี้ยประกัน
ซึ่งก็จะแตกต่างออกไปตามประเภทของประกัน ยกตัวอย่างเช่น
กลุ่มประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ พ.ร.บ. ในอัตราไม่เกินร้อยละ 12 และภาคสมัครใจในอัตราไม่เกินร้อยละ 18
กลุ่มประกันชีวิต ในอัตราไม่เกินร้อยละ 40 ในปีแรก และจะลดลงในปีถัดๆ ไป
ทีนี้ เรามาดูภาพรวมผลประกอบการของ TQM ที่ผ่านมา
ปี 2560 รายได้ 2,281.7 ล้านบาท กำไร 268.3 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 2,525.0 ล้านบาท กำไร 404.3 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 2,783.8 ล้านบาท กำไร 507.2 ล้านบาท
รายได้เติบโตเฉลี่ย 10.5%
กำไรเติบโตเฉลี่ย 37.5%
โดยรายได้ของบริษัทมาจาก
ธุรกิจนายหน้า และบริการประกันวินาศภัย 94.6%
ธุรกิจนายหน้า และบริการประกันชีวิต 2.8%
และรายได้อื่นๆ 2.6%
จริงๆ แล้ว ธุรกิจประเภทนี้ถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง
เพราะลูกค้ามีตัวเลือกตั้งแต่เดินเข้าไปหาบริษัทประกันเอง
หรือไปใช้บริการนายหน้าทั้งบุคคล และองค์กรอื่นๆ ได้
สิ่งที่จะคอยอุดช่องว่างทางการแข่งขันในธุรกิจแบบนี้
ก็คือ บริการที่มีประสิทธิภาพ ที่จะคอยดึงให้ลูกค้าอยู่กับเรา ไม่หนีไปไหน
ซึ่งจากตัวเลขผลประกอบการที่ผ่านมา TQM ก็เหมือนจะทำได้ดี
บริษัท TQM ไตรมาสที่ 1 ปี 2563
รายได้ 814.1 ล้านบาท เติบโต 23.8%
กำไร 179.3 ล้านบาท เติบโต 68.3%
สาเหตุหลักของการเติบโตในไตรมาส 1 ปี 2563 ก็คือ TQM เตรียมพร้อมธุรกิจไว้ก่อนแล้วสำหรับช่องทางการขายออนไลน์ที่ทางบริษัทคาดว่าจะเข้ามาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อธุรกิจ
ซึ่งการเกิดขึ้นของโควิด-19 ทำให้ TQM ได้ใช้ช่องทางออนไลน์ที่ได้เตรียมไว้ก่อนหน้าเพื่อเป็นช่องทางการขายประกันเจอ จ่าย จบ ที่เกี่ยวกับโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็ว
จากการเติบโตดังกล่าว
TQM จึงกลายมาเป็นหนึ่งในบริษัทที่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ให้ความสนใจ
จนหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็น 112% ตั้งแต่ต้นปี
และล่าสุดมีมูลค่าบริษัทมากถึง 4 หมื่นล้านบาท
ด้วยมูลค่าระดับนี้จึงทำให้ TQM กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากสุดใน อุตสาหกรรมประกัน ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ซึ่งหลายคนคงนึกไม่ถึงว่าบริษัทนายหน้าประกันจะใหญ่กว่าบริษัทประกันได้
แต่ก็อย่าลืมว่า ตอนนี้ P/E ของบริษัทได้พุ่งสูงขึ้นเป็น 70 เท่า ซึ่งถือเป็นระดับที่สูงมาก และถือว่าเป็นบริษัทที่นักลงทุนคาดหวังการเติบโตไว้สูงมากเช่นกัน ซึ่งถ้าบริษัทไม่สามารถมีผลงานตามคาดได้ ก็มีความเสี่ยงที่ราคาจะตกลงมาได้เช่นกัน
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
รู้หรือไม่ว่าบริษัทนายหน้าประกัน จะได้เปรียบบริษัทประกัน ตรงที่ไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการประกัน และรับรู้รายได้ทางบัญชีได้ทันที
เมื่อนายหน้าประกันขายประกันได้ นายหน้าจะรับรู้รายได้ค่าคอมมิชชันทันทีตั้งแต่แรก
แต่สำหรับบริษัทประกันแล้ว บริษัทจะทยอยรับรู้แบ่งตามงวดที่กรมธรรม์คุ้มครอง
ยกตัวอย่าง ประกันโควิด-19
เมื่อ TQM ขายประกันโควิด-19 ของ บริษัทประกัน AAA โดยมีระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี
TQM จะรับรู้ค่าคอมมิชชันเป็นรายได้ทันที และไม่ต้องรับความเสี่ยงเอง
แต่สำหรับบริษัทประกันที่ให้การคุ้มครองโควิด-19
นอกจากบริษัทประกันจะต้องรับความเสี่ยงที่จะต้องจ่ายค่าสินไหมให้แก่ลูกค้า
กว่าบริษัทประกัน จะรับรู้เบี้ยประกันเป็นรายได้ทั้งหมด ก็จะต้องรอครบปีเลยทีเดียว..
หมายเหตุ: บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยงโปรดศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง
----------------------
อัปเดตสถานการณ์และภาวะเศรษฐกิจกับ Blockdit มีพอดแคสต์ให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) ของ TQM
-รายงานประจำปี ของ TQM
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.