โมเดลที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยหลุดพ้น กับดักรายได้ปานกลาง

โมเดลที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยหลุดพ้น กับดักรายได้ปานกลาง

14 ส.ค. 2020
โมเดลที่จะช่วยทำให้ประเทศไทยหลุดพ้น กับดักรายได้ปานกลาง /โดย ลงทุนแมน
ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง
เราคงเคยได้ยินคำนี้บ่อยๆ แต่อาจยังไม่รู้ความหมายลึกซึ้ง
อธิบายง่ายๆ คือ ประเทศไทยเราก้าวข้ามจากประเทศที่มีรายได้น้อย
สู่รายได้ปานกลางอย่างรวดเร็ว แต่สุดท้ายตัวเลขรายได้กลับเติบโตแบบชะลอตัวอยู่นาน
จนไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงสักที
ซึ่งประเทศไทยเราติดกับดักนี้มานานกว่า 20 ปี
โดยในปี 2019 ประชากรไทยมีรายได้เฉลี่ย 248,257 บาทต่อปี
และหากอยากหลุดพ้นกับดักนี้ รายได้ประชากรไทยต้องมากกว่า 382,000 บาทต่อปี
เพื่อก้าวสู่ประเทศรายได้สูง ตามกฎเกณฑ์ของธนาคารโลก
ซึ่งนั้นหมายถึงเราต้องเพิ่มรายได้ประชากรไทยอีกถึง 54%
เรื่องนี้ก็เลยทำให้ภาครัฐคิดค้นแผนเศรษฐกิจที่ชื่อ BCG Economy Model
หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
แล้วแผนนี้เป็นอย่างไร
จะทำให้ประเทศไทยมีรายได้สูงเหมือนประเทศชั้นนำอื่นๆ ได้จริงหรือ?
ลงทุนแมน จะวิเคราะห์ให้ฟัง
╔═══════════╗
สัมผัสเทคโนโลยีรูปแบบใหม่จากสตาร์ตอัปไทย
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ปัญหานี้หลายคนอาจจะบอกว่ามาจากประเทศเราเน้นผลิตสินค้าเกษตร
ไม่มีแบรนด์สินค้าเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง
ทำให้สินค้าส่งออกส่วนใหญ่ติดอยู่กับดักเดิมๆ
คือแม้ปริมาณสินค้าส่งออกจะมีจำนวนมาก แต่กลับมีรายได้เข้าประเทศน้อย
ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้สูงเน้นส่งออกสินค้าเทคโนโลยีจำนวนมาก และมีรายได้มหาศาล
ทีนี้หลายคนอาจคิดว่า เรื่องนี้ง่ายนิดเดียวก็แค่เปลี่ยนให้ประเทศไทย
หันมาผลิตหรือเป็นเจ้าของสินค้าเทคโนโลยีให้มากขึ้น
คำถามคือ หากสมมติเราเปลี่ยนมาผลิตสินค้าเทคโนโลยีเต็มตัว
ด้วยการมาทีหลัง เราจะสามารถเทียบชั้นกับคู่แข่งในตลาดโลกได้หรือไม่
ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือแม้แต่ประเทศจีน
เรื่องนี้ทุกคนน่าจะมีคำตอบอยู่ในใจ
โจทย์ก็คือ..ทำไมเราไม่ทำสิ่งที่เราแข็งแกร่งและถนัดที่สุดให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมา
ในวันนี้ประชากรไทยมีถึง 27 ล้านคนที่อยู่ในภาคการเกษตร
หรือคิดเป็น 69% จากจำนวนแรงงานทั้งหมดในประเทศ
แต่กลับสร้างรายได้แค่ 8% จากมูลค่า GDP ทั้งหมดในประเทศ 1.68 ล้านล้านบาท
เรื่องนี้..เลยทำให้ภาครัฐกำลังคิดจะเปลี่ยนวิธีการทำเกษตร
จากเดิม “ผลิตมาก รายได้น้อย” ให้เป็น “ผลิตน้อย รายได้มาก”
ซึ่งหากจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรจนถึงอาหารทุกชนิดด้วยการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งการ ลดต้นทุน ลดการสูญเสีย เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร
และส่วนสำคัญอีกอย่างคือเราต้องคิดค้นนวัตกรรมตัวเอง ลดการพึ่งพาต่างประเทศ
ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เห็นภาพชัดเจน
อ้อย หากแปรรูปขั้นต้นก็คือ น้ำตาล ซึ่งราคาขายคือ 23 บาทต่อกิโลกรัม
หากอัปเกรดไปสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องด้วยเทคโนโลยีแปรรูปขั้นสูง
มาเป็น อาหารสัตว์เลี้ยง 100 บาทต่อกิโลกรัม หรือหลอดจากชานอ้อย 160 บาทต่อกิโลกรัม
จะเห็นว่ามูลค่าเพิ่มขึ้น 300 - 600% เลยทีเดียว
ที่น่าสนใจก็คือ ยังมีสินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ อีกมากมาย
ที่สามารถใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้
รู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกใบนี้
ที่ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารได้มากกว่าการบริโภคในประเทศตัวเอง
แต่เรากลับขายสินค้าเหล่านี้ได้ในราคาที่ไม่สูง
และในอนาคตอันใกล้อีก 30 ปีข้างหน้าหรือในปี 2050
โลกเราจะมีความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นจากเดิม 60%
แผนเศรษฐกิจนี้ ก็เลยทำให้หน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ เตรียมความพร้อมให้ความรู้และเทคโนโลยีเกษตรชั้นสูง จนถึงสร้างระบบนิเวศโครงสร้างขั้นพื้นฐานเพื่อเอื้อต่อนวัตกรรมเกษตรรูปแบบใหม่ เพื่อรองรับความต้องการอาหารที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
หากทำสำเร็จจะทำให้ภาคการเกษตรมีมูลค่า GDP สูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท
และเพิ่มสัดส่วนการส่งออกสินค้าในกลุ่มมูลค่าสูง
จาก 20% เป็น 30% ในอีก 5 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตามการจะเปลี่ยนสถานะมาสู่ประเทศที่มีรายได้สูง
หากประชากรในประเทศสุขภาพไม่แข็งแรงตามฐานะการเงินที่ดีขึ้น
ประเทศก็จะเปราะบางดูดีแค่ภายนอกเท่านั้น
ดังนั้นนอกจากกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร จะถูกพัฒนาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาพคนไทย
การจัดทำ Thailand Genomic Databank และศูนย์พัฒนานโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมบริการทางการแพทย์ครบวงจร จึงถูกบรรจุเข้าสู่แผนเศรษฐกิจนี้ด้วย
ซึ่งนอกจากทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตยาและอุปกรณ์การแพทย์
ที่สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี
ส่วนอีกมุมหนึ่ง ก็ต้องการต่อยอดให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub
ที่สำคัญโครงการนี้ยังทำให้ประชากรในประเทศ
สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น
ที่กล่าวมาทั้งหมด หลายคนคงน่าจะมีคำถามเดียวกันก็คือ
ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงเมื่อไร
อีกสัก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า
ก็ต้องบอกว่าเวลานี้ทั้งภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย,สถาบันวิจัย, ตลอดจนภาคเอกชน
กำลังร่วมมือกันขับเคลื่อนและพัฒนาระบบแผนเศรษฐกิจนี้อย่างจริงจัง
นับเป็นอีกหนึ่งความหวังเพื่อให้ประเทศเราสามารถหลุดพ้น
จากกับดักรายได้ปานกลางที่เป็นอยู่มาอย่างยาวนาน
แต่...สุดท้ายแล้วนอกจากการร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ อาจไม่เพียงพอ
เพราะอีกหนึ่งคนสำคัญที่จะทำให้ฝันนี้เป็นจริงขึ้นมาก็คือ
คนไทยทั้งประเทศที่ต้องร่วมมือกัน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ
สรุปแล้วก็คือ มันก็เหมือนเราต่อจิกซอว์ภาพหนึ่ง
หากขาดชิ้นส่วนใดชิ้นหนึ่ง
ภาพนั้น ก็จะไม่สมบูรณ์..
----------------------
สัมผัสเทคโนโลยีรูปแบบใหม่จากสตาร์ตอัปไทย
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://www.nstda.or.th/th/nstda-strategy-plan/nstda2/12785-bcg-economy
-https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_7Nov2017.pdf
-https://www.facebook.com/watch/live/?v=297993291559280&ref=watch_permalink
-https://www.onlinenewstime.com/สภาพัฒน์-เผยเศรษฐกิจไทย/news-update/
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.