กรณีศึกษา บริษัท General Electric เลิกขายหลอดไฟ

กรณีศึกษา บริษัท General Electric เลิกขายหลอดไฟ

7 ก.ย. 2020
กรณีศึกษา บริษัท General Electric เลิกขายหลอดไฟ /โดย ลงทุนแมน
“General Electric” หรือ GE
บริษัทที่มีจุดเริ่มต้นจาก ทอมัส แอลวา เอดิสัน
นักประดิษฐ์ และนักธุรกิจชาวอเมริกัน
เขาคือผู้ที่ค้นพบว่าไส้หลอดคาร์บอน มีคุณสมบัติเหมาะกับการทำไส้หลอดไฟ เพราะให้แสงสว่างได้ยาวนานกว่า 1,200 ชั่วโมง
ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้น คือจุดเริ่มต้นของบริษัทไฟฟ้าที่ยิ่งใหญ่ ชื่อว่า General Electric หรือ GE
GE ดำเนินธุรกิจมาแล้ว 128 ปี และเคยก้าวขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงสุดในโลก
แต่ไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบัน พวกเขากำลังประสบปัญหาอย่างหนัก จนต้องทยอยขายสินทรัพย์
ซึ่งรวมไปถึง “ธุรกิจหลอดไฟ” ซึ่งเป็นธุรกิจแรกของบริษัท
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้แสงสว่างของ GE ดับลง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ในปี 1878 เอดิสัน ได้ก่อตั้งบริษัทไฟฟ้า Edison Electric Light
และหลังจากที่เขาจดสิทธิบัตรการค้นพบหลอดไฟไส้คาร์บอน
นักลงทุนชื่อดัง “เจ.พี.มอร์แกน” ก็สนใจเข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท
แต่ต่อมาเอดิสันที่สนับสนุนระบบไฟฟ้ากระแสตรง กลับพ่ายแพ้ให้กับไฟฟ้ากระแสสลับของบริษัท Westinghouse Electric ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ระยะทางไกลกว่า
ซึ่งการพ่ายแพ้ในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้ถือหุ้นกดดันเขาให้ออกจากตำแหน่ง
จนกระทั่งปี 1892 บริษัท Edison Electric Light ถูกนำไปควบรวมกับ Thomson-Houston Electric ที่ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ เกิดเป็นบริษัทใหม่ ซึ่งก็คือ General Electric หรือ GE นั่นเอง
จากนั้นตำนานของ GE ก็เริ่มต้นขึ้น..
บริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีการคิดค้นเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น หลอดไฟ, ตู้เย็น, เตาไฟฟ้า, โทรทัศน์, เครื่องซักผ้า
ในเวลาถัดมา GE ได้เล็งเห็นโอกาสใหม่ๆ ตั้งเป้าที่จะไม่จำกัดขอบเขตธุรกิจเอาไว้แค่ตลาดสินค้าผู้บริโภค แต่หันไปผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และขยายสู่ภาคบริการด้วย
โดยที่ GE ใช้กลยุทธ์การเข้าซื้อกิจการบริษัทอื่น
เพื่อครอบครองเทคโนโลยีหรือองค์ความรู้ที่ไม่เคยมี
ธุรกิจที่ GE เข้าไปซื้อกิจการ เช่น ธุรกิจผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน, ธุรกิจผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์, ธุรกิจพลังงานและโรงไฟฟ้า, ธุรกิจพลาสติก, ธุรกิจสถานีโทรทัศน์ NBC และธุรกิจการเงิน
กลยุทธ์นี้ได้สร้างชื่อแบรนด์ GE ให้แข็งแกร่งข้ามศตวรรษ
โดยในปี 2000 GE กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่สุดของโลก
ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์อยู่ที่ 15 ล้านล้านบาท
ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสูงสุดของประวัติศาสตร์บริษัท
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการขยายธุรกิจที่กระจายตัวหลากหลาย ทำให้การบริหารงานมีความซับซ้อน และยอดขายเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับธุรกิจนอกเหนือความชำนาญมากขึ้น
จนในที่สุด General Electric ก็ไม่ได้มีรายได้หลักมาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า..
ปี 2008 บริษัท General Electric มีรายได้อยู่ที่ 5.7 ล้านล้านบาท โดยที่ทุกๆ 100 บาท มาจาก
ธุรกิจการเงิน (GE Capital) 37 บาท
ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี 26 บาท
ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน 21 บาท
ธุรกิจสถานีโทรทัศน์ NBC 9 บาท
ธุรกิจสินค้าผู้บริโภคและอุตสาหกรรม 6 บาท
และมีกำไรอยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท
ซึ่ง GE Capital คิดเป็นสัดส่วน 33% ของกำไร
ขณะที่สินค้าผู้บริโภคและอุตสาหกรรม มีสัดส่วนเพียงแค่ 1% ของกำไรเท่านั้น
จะเห็นได้ชัดเจนว่า ธุรกิจการเงินเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อบริษัทแทนที่ภาคการผลิต
แต่ในขณะที่ธุรกิจการเงินกำลังไปได้ด้วยดี ก็ได้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ Subprime ขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตกตั้งแต่ช่วงปี 2008 ทำให้สถาบันการเงินทั่วโลก รวมทั้ง GE Capital ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และมีหนี้เสียพุ่งขึ้น ถึงขั้นที่บริษัท GE เกือบจะต้องล้มละลาย
สุดท้ายเพื่อความอยู่รอด GE จึงตัดสินใจขายกิจการที่สร้างชื่อเสียงในอดีต ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า, ธุรกิจพลาสติก, สถานีโทรทัศน์ NBC รวมทั้งสินทรัพย์ส่วนใหญ่ของ GE Capital
หลังจากนั้น GE พยายามมองหาธุรกิจใหม่
โดยในปี 2015 GE ได้เข้าซื้อ Alstom บริษัทพลังงานและโรงไฟฟ้าสัญชาติฝรั่งเศส ในราคาสูงถึง 3 แสนล้านบาท
แต่ปรากฏว่าสถานการณ์ไม่เป็นดังหวัง เนื่องจากโลกหันไปมุ่งเน้นพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทน
มาลองดูผลประกอบการของบริษัท General Electric ในปัจจุบัน
ปี 2017 รายได้ 3.8 ล้านล้านบาท ขาดทุน 1.8 แสนล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 3.8 ล้านล้านบาท ขาดทุน 7.0 แสนล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 3.0 ล้านล้านบาท ขาดทุน 1.5 แสนล้านบาท
โดยรายได้ในทุกๆ 100 บาท ในปัจจุบันนั้นมาจาก
ธุรกิจผลิตเครื่องยนต์เครื่องบิน 34 บาท
ธุรกิจผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ 21 บาท
ธุรกิจพลังงานและโรงไฟฟ้า 19 บาท
ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน 16 บาท
ธุรกิจการเงิน 9 บาท
จะเห็นว่า รายได้หลักของ GE ในตอนนี้
เปลี่ยนมาเป็นรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน
แต่ฝันร้ายก็ยังไม่จบ
การระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้หลายประเทศต้องระงับเที่ยวบิน
คำสั่งซื้อเครื่องบิน รวมถึงเครื่องยนต์จากสายการบินต่างๆ ถูกยกเลิกไปเกือบหมด
ทำให้ GE ขาดรายได้จากการขายเครื่องยนต์เครื่องบิน ซึ่งถือเป็นรายได้หลัก
พอเป็นแบบนี้ จึงทำให้ GE ต้องตัดขายสินทรัพย์บางส่วนออกไปอีก
โดยล่าสุดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา บริษัทได้ตกลงขาย “ธุรกิจหลอดไฟ” ที่มีจุดเริ่มต้นมาจาก ทอมัส แอลวา เอดิสัน ซึ่งเปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของบริษัทมาอย่างยาวนาน
ด้วยเหตุนี้ มูลค่าหลักทรัพย์ของ GE จึงปรับตัวลดลงเหลืออยู่เพียง 1.8 ล้านล้านบาท หรือต่ำกว่าจุดสูงสุดเมื่อปี 2000 ถึง 88%
อีกเรื่องที่น่าตกใจคือ หุ้น GE นั้นอยู่ในดัชนี Dow Jones ซึ่งเป็นดัชนีที่สะท้อนถึงความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ มาตั้งแต่เริ่มคำนวณครั้งแรกเมื่อปี 1896
แต่ในปี 2018 บริษัทได้ถูกถอดออกจากการคำนวณดัชนีไปเสียแล้ว
เรื่องนี้บอกอะไรกับเรา?
ในโลกของธุรกิจ สิ่งสำคัญไม่แพ้การประสบความสําเร็จ คือ การยืนระยะ
ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องใช้จุดแข็งเพื่อสร้างข้อได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่น
แต่ความยากคือ ถ้าเราทำไม่ได้ต่อเนื่อง แม้ครองตลาดมาเกิน 100 ปี ก็มีโอกาสล้มลงได้
เดิมที GE มักจะคิดค้นสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้า ทั้งสำหรับครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นในตัวแบรนด์
แต่ในระยะหลัง GE เริ่มมองหาธุรกิจที่คิดว่าสร้างผลตอบแทนได้มาก ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องที่ถนัด
และเมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น
ก็กลับกลายเป็นว่า GE ต้องขายธุรกิจที่เป็นจุดเด่นของตัวเองไปแทน..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.