ทำไม มาตรการ QE ของสหรัฐ ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ขั้นรุนแรง

ทำไม มาตรการ QE ของสหรัฐ ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ขั้นรุนแรง

14 ก.ย. 2020
ทำไม มาตรการ QE ของสหรัฐ ไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ ขั้นรุนแรง /โดย ลงทุนแมน
Quantitative Easing หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า QE
คือเครื่องมือหนึ่ง ที่ธนาคารกลาง ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยการอัดฉีดเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจ ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
แต่ผลที่หลายคนกังวลตามมาก็คือ
ปริมาณเงินจะเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะนำมาซึ่งภาวะเงินเฟ้อ
และอาจรุนแรง จนเกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง หรือที่เรียกว่า “Hyperinflation”
ช่วงที่ผ่านมา เราเห็นหลายประเทศทำ QE กันอย่างหนัก
แล้วเรื่องนี้ จะนำไปสู่ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงในอนาคตหรือไม่
ลงทุนแมนจะลองวิเคราะห์ให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า Hyperinflation กันก่อน
Hyperinflation คือ สภาวะที่ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทำให้มูลค่าเงินของประเทศนั้น ลดลงอย่างมาก
สาเหตุที่มูลค่าของเงินลดลง
เป็นผลมาจากปริมาณเงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเป็นจำนวนมากและรวดเร็ว
เมื่อเทียบกับปริมาณสินค้าและบริการที่ยังมีอยู่เท่าเดิมในระบบเศรษฐกิจ
ทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ตัวอย่าง เหตุการณ์ Hyperinflation ที่รุนแรงในอดีต
เช่น ในประเทศฮังการี และ ประเทศเวเนซุเอลา
Hyperinflation ในประเทศฮังการี เกิดขึ้นในปี 1946
ในช่วงนั้น ฮังการี ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากสงครามโลกครั้งที่ 2
โดยเฉพาะระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ
รัฐบาลฮังการี ขาดแคลนงบประมาณในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
จึงตัดสินใจพิมพ์เงินมหาศาล เพื่อนำมาใช้ซ่อมแซมบ้านเมือง และกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทำให้เงินในระบบของประเทศฮังการี เพิ่มขึ้นอย่างมาก
พอปริมาณเงินเพิ่มขึ้นมาก แต่สินค้าในประเทศยังคงมีเท่าเดิม
ก็เลยทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
เร็วถึงขนาดที่ว่า ราคาสินค้าโดยเฉลี่ยของฮังการีปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า ในทุกๆ 15 ชั่วโมง
โดยในช่วงที่เกิด Hyperinflation
อัตราเงินเฟ้อของประเทศฮังการี เพิ่มขึ้นถึง 150,000% ภายในวันเดียว
ส่วน ประเทศเวเนซุเอลา ในช่วงสิ้นปี 2019
อัตราเงินเฟ้อของเวเนซุเอลา พุ่งไปถึง 10,000,000%
สาเหตุของเรื่องนี้ ก็คล้ายกันกับกรณีของประเทศฮังการี
คือมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจที่มากเกินไป
ทั้งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ชะลอตัวจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำ
รวมทั้งเพื่อใช้สำหรับนโยบายประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาล
เราจะเห็นว่าทั้ง 2 เหตุการณ์มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน
คือมีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล
ซึ่งนำไปสู่การเกิดภาวะ Hyperinflation
กลับมาที่ปัจจุบัน ช่วงวิกฤติ COVID-19
หลายประเทศมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้วยการอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา
ใช้มาตรการ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน
จากเดิมที่กำหนดไว้ที่ปีละประมาณ 22 ล้านล้านบาท
ธนาคารกลางญี่ปุ่น
เป็นอีกประเทศที่ใช้มาตรการ QE แบบไม่จำกัดวงเงิน
จากเดิมที่กำหนดไว้ปีละประมาณ 24 ล้านล้านบาท
ธนาคารกลางยุโรปประกาศโครงการเพิ่มเติม
ในการเข้าซื้อสินทรัพย์ฉุกเฉิน โดยมีมูลค่ากว่า 27 ล้านล้านบาท
จะเห็นว่า ในตอนนี้ หลายประเทศกำลังอัดฉีดเงินเข้าระบบจำนวนมาก
และในหลายประเทศ เคยทำ QE หนักๆ มาแล้วก่อนหน้านี้
ยกตัวอย่างเช่น กรณีของสหรัฐอเมริกา
มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา
ตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ในสหรัฐฯ ปี 2008
ที่น่าสนใจคือ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ กลับไม่ได้ปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก เหมือนกับกรณีของฮังการีและเวเนซุเอลา
ปี 2010 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของสหรัฐฯ เท่ากับ 1.6%
ปี 2019 อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของสหรัฐฯ เท่ากับ 1.8%
ญี่ปุ่น ก็เป็นอีกประเทศที่มีการใช้มาตรการ QE อย่างหนัก
แต่อัตราเงินเฟ้อ ก็ยังอยู่ในระดับต่ำใกล้ 0% เช่นกัน
ทำไมเรื่องถึงเป็นแบบนี้?
ปรากฏการณ์นี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า
ธนาคารกลางสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทำ QE ผ่านการซื้อสินทรัพย์
ทั้งพันธบัตร หุ้นกู้ จากธนาคารพาณิชย์
และธนาคารพาณิชย์ ก็มีหน้าที่นำเงินไปปล่อยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอีกที
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้ส่งต่อเงินที่ได้จากธนาคารกลาง
ไปยังภาคธุรกิจและครัวเรือน ตามที่ทุกคนคิดไว้ตอนแรก
สาเหตุก็เพราะว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอตัว
ภาคครัวเรือน มีแนวโน้มที่จะออมเงินมากกว่านำเงินออกมาใช้จ่าย
เนื่องจากไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจในอนาคต
ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา
ปริมาณเงินฝากในระบบก่อนเกิด COVID-19 อยู่ที่ประมาณ 416 ล้านล้านบาท
แต่เมื่อ COVID-19 ระบาด ปริมาณเงินฝากในระบบเพิ่มสูงขึ้นเป็นเกือบ 500 ล้านล้านบาท
ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน
ขณะเดียวกัน สถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดีนัก
ทำให้การขายสินค้าและบริการ ของภาคธุรกิจ ทำได้ยาก
ทำให้กำลังการผลิตและบริการยังคงมีเหลืออยู่มาก
ภาคธุรกิจ จึงอาจไม่จำเป็นต้องกู้เงินมาเพื่อขยายธุรกิจ
พอความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น
ก็ส่งผลให้ราคาสิ่งของต่างๆ ไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากนัก
แม้จะมีเงินอยู่ในระบบจำนวนมากก็ตาม
อีกประเด็นก็คือ
ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น
เป็นเจ้าของสกุลเงินหลักของโลก ที่มีความน่าเชื่อถือสูง
คนส่วนใหญ่จึงยังเชื่อมั่น และยังมีความต้องการถือครองสกุลเงินเหล่านี้อยู่มาก
สรุปก็คือ ถ้าถามว่าการทำ QE ของประเทศใหญ่ๆ ในวันนี้
จะนำไปสู่ เงินเฟ้อขั้นรุนแรง ในอนาคตหรือไม่
ก็คงต้องบอกว่า ปัญหานี้จะเกิดขึ้นได้ยากกับประเทศใหญ่ๆ อย่าง สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น
แต่ประเด็นก็คือ วิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงเมื่อไร
และประเทศต่างๆ พากันอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ
สำหรับประเทศที่ยังไม่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเท่าประเทศใหญ่ ก็อาจจะต้องระวัง
เพราะประเทศเหล่านั้น อาจเกิดเงินเฟ้อขั้นรุนแรง ที่ต่างจากกรณีนี้ ก็เป็นได้..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperinflation
-https://nomadcapitalist.com/2014/04/20/top-5-worst-cases-hyperinflation-history/
-https://www.businessinsider.com/hungarys-hyperinflation-story-2014-4
-https://en.wikipedia.org/wiki/Hyperinflation_in_Venezuela
-https://www.thestreet.com/investing/federal-reserve-unveils-unlimited-qe-to-confront-coronavirus
-https://www.schroders.com/en/bm/asset-management/insights/economic-views/bank-of-japan-ramps-up-qe-again-amid-dismal-outlook/
-https://www.federalreserve.gov/monetarypolicy/bst_recenttrends.htm
-https://www.focus-economics.com/countries/japan/news/inflation/core-consumer-prices-hold-steady-in-june-in-annual-terms
- https://www.ecb.europa.eu/pub/projections/html/ecb.projections202006_eurosystemstaff~7628a8cf43.en.html#toc3
-https://www.economicshelp.org/blog/2900/inflation/inflation-and-quantitative-easing/
-https://fred.stlouisfed.org/series/DPSACBW027SBOG
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.