รู้จัก EECi เมืองนวัตกรรมแห่งใหม่ของประเทศไทย

รู้จัก EECi เมืองนวัตกรรมแห่งใหม่ของประเทศไทย

15 ก.ย. 2020
รู้จัก EECi เมืองนวัตกรรมแห่งใหม่ของประเทศไทย / โดย ลงทุนแมน
สหรัฐอเมริกามี ซิลิคอนวัลเลย์ เป็นเมืองเทคโนโลยี
จีนมี เซินเจิ้น ที่เปลี่ยนตัวเองจากอาณาจักรก๊อบปี้ มาเป็นดินแดนนวัตกรรมล้ำสมัย
ทีนี้หลายคนคงถามแล้วเมืองไทย สถานที่นี้อยู่ที่ไหน?
เราคงเคยได้ยิน EEC หรือ เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา
ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการระดับเมกะโปรเจกต์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0
โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรวม 1.5 ล้านล้านบาท
ที่จะมีทั้ง รถไฟความเร็วสูง, รถไฟรางคู่, สนามบิน และท่าเรือ
เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางให้สะดวก และยกระดับอุตสาหกรรมเมืองไทยเทียบชั้นระดับโลก
ซึ่ง 1 ใน 3 จังหวัดนี้ ก็จะมีอยู่พื้นที่หนึ่ง ที่ถูกยกให้เป็น เมืองแห่งนวัตกรรม
โดยใช้ชื่อว่า EECi หรือ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation) ซึ่งตั้งอยู่ในวังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง
มีพื้นที่ถึง 3,454 ไร่
แล้ว EECi จะมีโอกาสเป็น ซิลิคอนวัลเลย์ ของเมืองไทย ได้มากน้อยแค่ไหน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
EECi มีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมล้ำสมัย
เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศระยะยาว
พอเป็นแบบนี้คงเดาไม่ยากว่า EECi ต้องเป็นแหล่งรวมนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรเก่งๆ
มารวมคิดค้นสารพัดงานวิจัยเพื่อต่อยอดให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง
โดยเมืองนวัตกรรมแห่งนี้มี “6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย” ที่ทำหน้าที่แตกต่างกันไป
1. การเกษตรสมัยใหม่ ที่จะเปลี่ยนการเกษตรสมัยเก่าแบบสิ้นเชิง
เพราะรู้หรือไม่ว่า ประเทศไทยมีครัวเรือนที่ทำอาชีพเกษตร 6.8 ล้านครัวเรือน
แต่กลับสร้างรายได้แค่ 8% จากมูลค่า GDP ทั้งหมดในประเทศ 1.68 ล้านล้านบาท
จากข้อมูลดังกล่าว ก็แปลความหมายทางอ้อมว่า ครัวเรือนเกษตรกรไทยจะมีรายได้น้อยกว่าภาคอุตสาหกรรมอื่น พอเรื่องเป็นแบบนี้ก็เป็นผลทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากเป็นเกษตรกร
EECi จึงมีอีกหนึ่งภารกิจคิดค้นวิจัยเกษตรสมัยใหม่ Modern Farming
ที่จะมาแก้ปัญหานี้ด้วยการทำให้ผลผลิตมากขึ้น แต่ใช้คนน้อยลง แต่มีคุณภาพมากขึ้น
โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานผลิตพืช (Plant Factory)
เป็นเทคโนโลยีช่วยเกษตรกรยุคใหม่ให้สร้างผลผลิตมีประสิทธิภาพ
เพราะเป็นการปลูกพืชระบบปิดหรือกึ่งปิด ทำให้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อม
เช่น แสง อุณหภูมิ และธาตุอาหาร ให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช
โรงเรือนเทคโนโลยีฟีโนมิกส์ (Phenomics Greenhouse) จะมีอุปกรณ์ตรวจวัดลักษณะทางกายภาพของพืช
ที่ปลูกอยู่ในสภาวะต่างๆ ว่ามีความสูง และการเจริญเติบโตดีแค่ไหน
จากนั้นรวบรวมเป็นฐานข้อมูล เพื่อช่วยคัดเลือกพันธุ์พืชที่แข็งแรงนำไปเพาะปลูก
2. เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
แล้วเมื่อผลผลิตมาก ก็ต้องขายให้ได้ราคาแพงกว่าเดิม
พื้นที่นี้ก็จะทำหน้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ Biorefinery โรงกลั่นชีวภาพต้นแบบ ที่จะแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร
ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง
ซึ่ง ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารนา ผู้อำนวยการ EECi จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล EECi กล่าวไว้ว่า “EECi จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบในประเทศเพื่อไปสู่ตลาดโลก จากเดิมที่ไทยขายข้าวเป็น “ตัน” ก็จะสามารถขายสารออกฤทธิ์จากข้าวเป็น “กรัม” ที่มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า”
โดยโรงกลั่นชีวภาพต้นแบบนี้ จะเริ่มตั้งแต่ออกแบบการทดลองผลผลิตทางการเกษตร
มาถึงกระบวนการหมัก จากนั้นจะแยกผลผลิตออกเป็น 2 ส่วน
คือส่วน Non-GMP ที่จะให้ผลผลิตเป็นเชื้อเพลิง และวัสดุชีวภาพ
และส่วน GMP จะให้ผลผลิตเป็นอาหาร เครื่องสำอาง และอาหารเสริม
3. แบตเตอรีประสิทธิภาพสูงและการขนส่งสมัยใหม่
หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าประเทศเราเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับ 11 ของโลก
แต่วันนี้.เทคโนโลยีรถยนต์วิ่งไปไกลกว่าที่เราคิด
เทรนด์ของโลกที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือเครื่องยนต์สันดาปจะค่อยๆ สูญพันธุ์
และจะถูกแทนที่ด้วยรถไฟฟ้า BEV Car
และหากเราไม่อยากเสียรายได้มหาศาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ก็ต้องให้ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถแห่งอนาคต
โดยหนึ่งในโครงสร้างสำคัญก็คือ “การผลิตแบตเตอรีประสิทธิภาพสูง”
จากเหตุผลดังกล่าว ก็เลยทำให้ EECi จะเป็นพื้นที่ในการระดมวิศวกร และผู้เชี่ยวชาญ ในภาครัฐและเอกชน ให้มาคิดวิธีทำให้ประเทศไทยเป็นฐานผลิตแบตเตอรี่ขนาดใหญ่อันดับต้นๆ ของเอเซีย ไปจนถึงพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ
4. ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
เราคงเคยได้ยินบ่อยครั้งว่าเทคโนโลยีจะมาแทนที่แรงงานคน
เพื่อให้ต้นทุนอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกลง และมีสินค้าคุณภาพมากขึ้น
เรื่องนี้ทาง EECi ก็ไม่มองข้ามด้วยการสร้างต้นแบบหุ่นยนต์ และจักรกลอุตสาหกรรมอัจฉริยะ เพื่อให้สามารถรองรับและทดสอบกระบวนการพัฒนาต้นแบบการผลิตสินค้าต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการ
ทำให้จัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) พัฒนาคนให้มีองค์ความรู้
จนถึงมีตัวอย่างสายการผลิต เพื่อให้ภาคผลิตทั้งเล็กและกลางได้ทดลองกระบวนการผลิตทั้งกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติ ทำให้รู้ว่าเหมาะกับธุรกิจตัวเองหรือไม่ เพื่อนำผลที่ได้มาเป็นข้อมูล ก่อนตัดสินใจลงทุนจริงในธุรกิจของตัวเอง
5. การบินและอวกาศ
หลายคนอาจตั้งคำถามว่าประเทศเราสามารถทำเรื่องนี้ได้จริงหรือไม่?
แต่ทางภาครัฐมองว่าในเมื่อประเทศไทย
เป็นฐานการผลิตและชิ้นส่วนยานยนต์ติดอันดับต้นๆของโลก
เราก็น่าจะสามารถพัฒนาอากาศยานและชิ้นส่วนอากาศยานในอนาคตได้ด้วย เช่นกัน

พอเป็นแบบนี้ EECi ก็จะเป็นที่ชุมนุมของวิศวกรเก่งๆ เพื่อมาพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน
อากาศยานไร้คนขับ ไปจนถึงดาวเทียม

6. เครื่องมือแพทย์
จากข้อเท็จจริงคือ ประเทศไทยเราผลิตถุงมือยาง และถุงยางอนามัย เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
แต่..อีกมุมหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนคือ
แต่ละปีเรานำเข้าอุปกรณ์การแพทย์เทคโนโลยีชั้นสูงปีละ 7 - 8 หมื่นล้านบาท
ซึ่งหากจะให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ในสายตาคนทั่วโลก
ก็จำเป็นที่ต้องลดการนำเข้า แล้วหันมาเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์แพทย์เทคโนโลยีขั้นสูง
ซึ่งก็จะทำให้ EECi มีทีมคิดค้นผลิตเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ในพื้นที่มากขึ้น
นอกจากนี้ ในพื้นที่ EECi จะมีเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนระดับพลังงาน 3 GeV
ซึ่งผลิตลำแสงได้สว่างกว่าแสงอาทิตย์ตอนกลางวันหลายล้านเท่า
ด้วยความสว่างขนาดนี้ เปรียบเสมือนกล้องจุลทรรศน์แบบพิเศษ
ที่เราสามารถมองเห็นโมเลกุลวัตถุทุกชนิดบนโลกใบนี้ได้อย่างละเอียด
ที่น่าสนใจคือ ลำแสง นี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ
ต่อการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย
เมื่อมองไปที่ EECi รอบด้าน ก็ต้องบอกว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของประเทศ
เรากำลังทำทุกวิถีทางเพื่อสร้างธุรกิจให้มีมูลค่าสูงขึ้น และมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ
เพื่อเพิ่มมูลค่าในระบบเศรษฐกิจไทย
เพราะถ้าเราไม่รีบทำในวันนี้.. ในวันข้างหน้า เราอาจเป็นประเทศที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
มารู้สึกตัวอีกทีก็ยากเกินจะวิ่งตามโลกที่ตอนนี้กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
ที่ผ่านมา ผลงานวิจัยไทยที่คิดค้นจนสำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ ยังมีข้อจำกัดในการพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อส่งต่อถึงมือผู้ใช้ประโยชน์ เพราะเรามีจุดอ่อนที่ไม่ได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและกลไกในการขยายผลงานวิจัย และอีกด้านหนึ่งก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศได้มากนัก เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่จะรองรับการปรับใช้เทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทของไทย
ซึ่งในอนาคตข้างหน้า EECi ก็น่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่สำคัญของประเทศที่จะมาปิดจุดอ่อนในเรื่องนี้..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
Reference
- www.eeci.or.th/th/home
- เอกสาร Fact Sheet EECi
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.