กรณีศึกษา การขาดทุน ที่ไม่ขาดทุน ของ เจ้าของอุบลพรรณ

กรณีศึกษา การขาดทุน ที่ไม่ขาดทุน ของ เจ้าของอุบลพรรณ

18 ก.ย. 2020
กรณีศึกษา การขาดทุน ที่ไม่ขาดทุน ของ เจ้าของอุบลพรรณ / โดย ลงทุนแมน
ไม่กี่วันก่อน หนึ่งในไวรัลการตลาดบนโลกออนไลน์
ที่น่าสนใจ ก็คือ การรีแบรนด์ของเจ้าของร้านอาหาร และร้านคาเฟ่เบเกอรี่
จาก Au Bon Pain ที่อ่านว่า โอ ปอง แปง
ไปเป็น นางสาวอุบลพรรณ หรือ น้องเฌอแปง
ไวรัลดังกล่าวเกิดขึ้นจากตัวเจ้าของแบรนด์ Au Bon Pain ที่มีแนวคิดที่จะสร้างความสดใหม่โดยเล่นกับอารมณ์สมัยก่อนของเรา ที่เคยสงสัยว่าแบรนด์นี้ อ่านว่าอะไร?
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ไม่รู้ว่าการตลาดแบบนี้จะสำเร็จในระยะยาวหรือไม่ แต่ในระยะสั้นนี้หลายคนก็ได้ให้ความสนใจและได้เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นกับโพสต์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ก็คือนางสาวอุบลพรรณ แท้จริงแล้วเป็นหนึ่งในเชนร้านอาหารภายใต้บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน) ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย
หากเราลองไปดูผลประกอบการ 3 ปีย้อนหลังของบริษัทแห่งนี้ จะพบว่า
ปี 2560 กำไรสุทธิ -50 ล้านบาท
ปี 2561 กำไรสุทธิ -12 ล้านบาท
ปี 2562 กำไรสุทธิ -19 ล้านบาท
ถึงตรงนี้เราคงเริ่มสงสัยแล้วว่า
ทำไมบริษัทนี้ถึงขาดทุนมาโดยตลอด
เรื่องนี้มีอะไรซ่อนอยู่
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาดูภาพรวมธุรกิจของบริษัทแห่งนี้กันก่อน
จริงๆ แล้ว บริษัท มัดแมน ได้จดทะเบียนจัดตั้ง
เป็นบริษัทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 หรือราว 14 ปีก่อน
และได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
โดยตลาด เอ็ม เอ ไอ มีความแตกต่างกับ SET หลักๆ ก็คือ ตลาดแห่งนี้เป็นแหล่งระดมทุนของธุรกิจขนาดเล็ก และกลาง ที่ยังต้องลงทุนสูง และบางครั้งก็ยังขาดทุนอยู่ แต่ธุรกิจมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในอนาคต
ตรงนี้จะแตกต่างจาก SET ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งระดมทุนระยะยาวของบริษัทขนาดใหญ่
ทีนี้ เรากลับมาที่บริษัท มัดแมน
บริษัทแห่งนี้ทำธุรกิจโฮลดิง หรือการถือหุ้นในบริษัทอื่น ซึ่งเราสามารถแบ่งประเภทธุรกิจตามโครงสร้างรายได้ของบริษัท ได้เป็น
ธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่มภายใต้สิทธิ์แฟรนไชส์ 3 แบรนด์ ได้แก่ โอ ปอง แปง, ดังกิ้น โดนัท และ บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์
ธุรกิจร้านอาหาร และเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ตัวเอง เช่น เกรฮาวด์ คาเฟ่, อะนาเตอร์ฮาวด์, กิน+เฮ และ Le Grand Vefour ร้านอาหารมิชลิน 2 ดาวบริเวณพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประเทศฝรั่งเศส
โดยตัวเลข ณ สิ้นปี 2562 ทางบริษัท มัดแมนมีจำนวนสาขาร้านอาหารรวมทั้งสิ้น 456 สาขา
ในขณะที่ธุรกิจอื่น ทางมัดแมนก็ยังมีแบรนด์แฟชั่นอย่างเกรฮาวด์ ออริจินอล และสไมลี่ฮาวด์
ถึงตรงนี้ เราจะเห็นได้ว่าจริงๆ แล้ว มัดแมน เป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์รอบตัวเรา
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ลักษณะธุรกิจของมัดแมนคือการเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ และเครื่องหมายการค้า โดยทางบัญชีถือเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน
โดยทรัพย์สินที่ไม่มีตัวตนดังกล่าวจะมีการบันทึก “ค่าตัดจำหน่าย” ลงในงบกำไรขาดทุน
แล้วแต่ละปี มัดแมน มีค่าใช้จ่ายประเภทนี้เท่าไหร่?
ปี 2560 ค่าตัดจำหน่าย 67 ล้านบาท
ปี 2561 ค่าตัดจำหน่าย 48 ล้านบาท
ปี 2562 ค่าตัดจำหน่าย 44 ล้านบาท
นอกจากนี้ ทางบริษัทก็ยังมีค่าเสื่อมจากสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้จะส่งผลต่อกำไรสุทธิที่เราเห็นเป็นประจำในทุกไตรมาส เวลาที่บริษัทมหาชนแจ้งกำไรต่อตลาดหลักทรัพย์
โดยปกติแล้วธุรกิจที่มีค่าเสื่อม หรือ ค่าตัดจำหน่ายสูง ตัวเลขที่จะดูเพิ่มเติมก็คือ EBITDA หรือ กำไรก่อนดอกเบี้ยภาษีค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย
ซึ่ง EBITDA จะแสดงถึงกำไรที่ทางบริษัทได้จริงๆ ก่อนค่าตัดจำหน่ายที่บริษัทไม่ได้จ่ายออกไปจริง แต่ยังมีภาระต้องบันทึกในงบการเงิน
โดย 3 ปีที่ผ่านมา
บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน)
ปี 2560 รายได้ 2,962 ล้านบาท EBITDA 238 ล้านบาท
ปี 2561 รายได้ 3,233 ล้านบาท EBITDA 253 ล้านบาท
ปี 2562 รายได้ 3,060 ล้านบาท EBITDA 220 ล้านบาท
ตรงนี้จะเห็นได้ว่า จริงๆ แล้ว ภาพรวมของบริษัทมัดแมนยังทำธุรกิจที่มีกำไร
แต่เพราะบริษัทมีค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย ที่ทำให้เกิดการขาดทุนทางบัญชี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
อีกตัวอย่างหนึ่งในเรื่อง EBITDA ที่ถูกนำมาใช้ คือกรณีของ อีลอน มัสก์
ทุกคนรู้กันว่าบริษัท Tesla จะมีภาระการลงทุนที่หนัก และทำให้ต้องบันทึกค่าเสื่อมจำนวนมาก ซึ่งในทางบัญชี บริษัทอาจจะไม่สามารถทำกำไรได้
แต่บริษัท Tesla ก็ได้ใช้วิธีการประเมิน EBITDA เป็นเกณฑ์ในการประเมินให้ผลตอบแทนกับ อีลอน มัสก์ ซึ่งถ้า Tesla สามารถทำ EBITDA ได้ถึงเป้า อีลอน มัสก์ ก็จะได้ผลตอบแทนเพิ่มเติม
อ่านถึงตรงนี้ เราก็น่าจะได้เรียนรู้ ความแตกต่างระหว่าง กำไรสุทธิ กับ EBITDA ว่าจะมีเรื่องค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง และในบางครั้งมันอาจทำให้เราประเมินกิจการได้แตกต่างออกไป
ซึ่งเรื่องราวของเจ้าของอุบลพรรณคือ มัดแมน หรือ แม้แต่ Tesla ก็น่าจะเป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ดีให้กับเรา ในเรื่องนี้..
หมายเหตุ: บทความนี้มีเจตนาในการอธิบายเรื่อง EBITDA และ กำไรสุทธิ ซึ่งไม่ได้มีเจตนาชี้นำให้ซื้อหรือขายหุ้นเหล่านี้ การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนให้ครบถ้วนทุกครั้ง
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
References
-เว็บไซต์ทางการของแต่ละบริษัท
-ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
-แบบรายงาน 56-1 ปี 2562 บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน)
-รายงานประจำปี 2562 บริษัท มัดแมน จำกัด (มหาชน)
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.