ทำไม สวิตเซอร์แลนด์ จึงมีฉายาว่า ประเทศแห่งนวัตกรรม

ทำไม สวิตเซอร์แลนด์ จึงมีฉายาว่า ประเทศแห่งนวัตกรรม

28 ก.ย. 2020
ทำไม สวิตเซอร์แลนด์ จึงมีฉายาว่า ประเทศแห่งนวัตกรรม /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่า ประเทศไหนบ้างที่ได้รับฉายาว่า ประเทศแห่งนวัตกรรม
“สวิตเซอร์แลนด์” ก็เป็นชื่อหนึ่ง ที่ได้รับฉายานั้น
ทำไม ประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าจำนวนคนในกรุงเทพฯ
และมีพื้นที่เล็กกว่าประเทศไทย 13 เท่า ถึงได้รับฉายาว่า ประเทศแห่งนวัตกรรม
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
╚═══════════╝
สวิตเซอร์แลนด์ ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปฝั่งตะวันตก
เป็นประเทศขนาดเล็กเพียง 41,285 ตารางกิโลเมตร
ซึ่งขนาดพื้นที่เท่านี้ เล็กกว่าประเทศไทยถึง 13 เท่า
และไม่มีทางออกสู่ทะเล
สวิตเซอร์แลนด์ มีประชากรเพียง 8.6 ล้านคน น้อยกว่าจำนวนคนในกรุงเทพฯ ที่ประมาณ 10 ล้านคน
แต่ในปี 2019 สวิตเซอร์แลนด์ มี GDP มากถึง 24 ล้านล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับที่ 20 ของโลก
และรายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวสวิสเท่ากับ 2.7 ล้านบาทต่อปี
ทำให้ที่นี่เป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุด เป็นอันดับที่ 2 ของโลก
ทำไมประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทางออกทะเล
มีจำนวนประชากรน้อยกว่าจำนวนคนในกรุงเทพฯ
และไม่ได้มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายเหมือนประเทศอื่นๆ
ถึงมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ขนาดนี้
คำตอบของเรื่องนี้ คือ “การสร้างนวัตกรรม”
รู้ไหมว่า งบประมาณสำหรับการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปี 2020 มีมูลค่าสูงถึง 720,000 ล้านบาท คิดเป็น 3% ของ GDP
ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีสัดส่วนงบประมาณด้านนี้ ต่อ GDP สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
โดยการลงทุนในด้านนี้ ก็เพื่อพัฒนาและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ
ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไปในอนาคต
ซึ่งจะช่วยให้ประเทศ มีสิ่งประดิษฐ์ ผลงาน หรือการบริการใหม่ๆ
ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาได้
ซึ่งที่ผ่านมา สวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาและสร้างนวัตกรรม จนทำให้สวิตเซอร์แลนด์สามารถครองอันดับ 1 ในด้านนวัตกรรม จากการจัดอันดับขององค์กร World Economic Forum ได้ถึง 10 ปีซ้อน
และเรื่องนี้ ก็กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ
ที่ดึงดูดบริษัทข้ามชาติ ให้มาทำธุรกิจในสวิตเซอร์แลนด์
ยกตัวอย่างเช่น
Nestlé บริษัทผู้นำด้านผลิตภัณฑ์อาหารระดับโลก
ปี 2019 มีรายได้ 3.2 ล้านล้านบาท กำไร 431,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทประมาณ 10.7 ล้านล้านบาท
Novartis บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ของโลก
ปี 2019 มีรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท กำไร 368,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทประมาณ 6.4 ล้านล้านบาท
ABB บริษัทวิศวกรรมระบบไฟฟ้าและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติรายใหญ่ของโลก
ปี 2019 มีรายได้ 879,000 ล้านบาท กำไร 45,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน มีมูลค่าบริษัทประมาณ 1.7 ล้านล้านบาท
ในปี 2019 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้การส่งออกให้แก่สวิตเซอร์แลนด์กว่า 3.7 ล้านล้านบาท หรือเกือบ 40% ของการส่งออกของประเทศ
สิ่งที่เราสังเกตได้จากตัวเลขนี้คือ
อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้จำนวนมากให้สวิตเซอร์แลนด์ อาศัยการใช้นวัตกรรมอย่างมาก
ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า งบประมาณที่สวิตเซอร์แลนด์ทุ่มลงไปในเรื่องการวิจัยและพัฒนา ก็ได้สร้างผลตอบแทนที่ดี ให้กับประเทศ
แม้ว่าในอดีต สวิตเซอร์แลนด์ จะมีอุปสรรคสำคัญ คือไม่มีพื้นที่ออกสู่ทะเลเพื่อทำการค้าขายผ่านการเดินเรือ
แต่เราก็ได้เห็นแล้วว่า สวิตเซอร์แลนด์ ปิดจุดอ่อนตรงนี้ ด้วยการสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ และสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศชั้นนำของโลกได้สำเร็จ
เรื่องนี้ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่า
งบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ เป็นเรื่องสำคัญ
และการให้ความสำคัญอย่างมากกับจุดนี้
ก็ได้ทำให้ สวิตเซอร์แลนด์ กลายมาเป็นประเทศที่ได้รับฉายาว่า “ประเทศแห่งนวัตกรรม” นั่นเอง..
----------------------
อยากรู้ความเป็นไปของเศรษฐกิจโลก ต้องเข้าใจอดีต
เศรษฐกิจโลก 1,000 ปี พิมพ์ครั้งที่ 6
สั่งซื้อได้ที่ (รับส่วนลด 10% จากราคาปก 350 บาท)
Lazada : https://www.lazada.co.th/products/1000-i714570154-s1368712682.html
Shopee : https://shopee.co.th/product/116732911/6716121161
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.