เส้นทางของ IKEA จากอดีตสู่ปัจจุบัน

เส้นทางของ IKEA จากอดีตสู่ปัจจุบัน

2 ต.ค. 2020
เส้นทางของ IKEA จากอดีตสู่ปัจจุบัน /โดย ลงทุนแมน
ถ้าถามว่า บริษัทขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือใคร
คำตอบนั้นก็คือ IKEA
แต่รู้ไหมว่า IKEA กำลังทดลองโมเดลธุรกิจใหม่
คือ ธุรกิจลีสซิ่ง หรือการให้เช่าซื้อเฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์มือสอง
สองโมเดลใหม่ ที่ IKEA กำลังทดลองอยู่นี้ น่าสนใจอย่างไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับ IKEA กันก่อน..
IKEA ก่อตั้งขึ้นในปี 1943 โดยนักธุรกิจชาวสวีเดน ที่ชื่อว่า อิงวาร์ คัมพรัด
คุณอิงวาร์ เกิดในครอบครัวชาวนา
และเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ด้วยการขายไม้ขีดไฟ
เขาเดินทางไปกรุงสต็อกโฮล์มที่อยู่ห่างจากบ้านของคุณอิงวาร์ในชนบทถึง 500 กิโลเมตร
เพื่อที่จะได้ซื้อไม้ขีดไฟในราคาขายส่ง มาขายปลีกในชนบท
เมื่อธุรกิจขายไม้ขีดไฟไปได้ดี คุณอิงวาร์ ก็เริ่มนำสินค้าอื่นมาขายเพิ่มมากขึ้น เช่น ต้นคริสต์มาส เมล็ดพืช ปากกา ดินสอ
หลังจากที่ คุณอิงวาร์ ทำงานเก็บเงินตั้งแต่เด็ก และได้รับเงินสนับสนุนบางส่วนจากคุณพ่อ
ทำให้เมื่ออายุ 17 ปี คุณอิงวาร์ ตัดสินใจรวบรวมเงินที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อนำไปเป็นทุนในการเปิดร้านขายสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน
และร้านนั้นก็ชื่อว่า IKEA..
โดยตอนแรก IKEA เริ่มจากการขายโต๊ะที่ใช้ภายในครัว
ก่อนที่จะเริ่มแตกไลน์ไปขายเฟอร์นิเจอร์อื่น
IKEA มีชื่อเสียงและเติบโตในสวีเดนอย่างรวดเร็ว
จนสามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศได้ในปี 1963
โดย ณ สิ้นปี 2019 IKEA มีสาขาทั้งหมด 433 สาขา
ซึ่งกระจายอยู่ใน 52 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานรวมกว่า 211,000 คน
ถ้าถามว่า ทำไม IKEA ถึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก?
เรื่องนี้เป็นเพราะว่า การขนส่งเฟอร์นิเจอร์โดยเฉพาะของที่มีขนาดใหญ่ในอดีต จะมีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งยังอาจจะทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย
IKEA จึงเริ่มปรับโมเดลธุรกิจ
ด้วยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่สามารถแยกส่วนประกอบต่างๆ แล้วบรรจุให้เข้าไปอยู่ในกล่อง
ตรงนี้เอง ที่ทำให้เกิดเฟอร์นิเจอร์แบบกล่องแบน (Flat-Pack Furniture) ที่สร้างขึ้นเพื่อให้ขนส่งสะดวก ช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง และให้ลูกค้าสามารถประกอบด้วยตัวเองได้ที่บ้านแบบไม่ยาก
โมเดลธุรกิจนี้ทำให้ธุรกิจของ IKEA นั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก จนกลายมาเป็นบริษัทขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในปัจจุบัน
และเมื่อไม่นานมานี้ IKEA ก็กำลังทดลองโมเดลธุรกิจแบบใหม่
ปี 2019 IKEA เริ่มทดลองธุรกิจลีสซิ่งเฟอร์นิเจอร์ โดยเริ่มต้นจากเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้กันในสำนักงาน ซึ่งถูกนำไปใช้ที่สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศแรก
โมเดลธุรกิจแบบลีสซิ่งของ IKEA ก็คือ
IKEA จะให้ลูกค้าสำนักงาน เช่าซื้อเฟอร์นิเจอร์ไปใช้ และเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่า ลูกค้าสามารถเลือกได้ว่าจะคืน หรือจะซื้อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นนั้น
โดยโมเดลนี้ ถูกคิดมาเพื่อตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนแบบหรือเปลี่ยนรุ่นเฟอร์นิเจอร์บ่อยๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องทิ้งของเดิม
และเมื่อไม่นานมานี้ IKEA ยังเริ่มทดลองธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์มือสอง
โดยโมเดลนี้ จะเริ่มทดลองที่สวีเดนเป็นประเทศแรก ซึ่งถ้าได้รับการตอบรับที่ดี IKEA ก็จะเริ่มนำไปใช้ยังประเทศอื่น
ทั้ง 2 โมเดลที่ว่ามานี้ เป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมของ IKEA ที่ต้องการเป็นธุรกิจที่สนับสนุนเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นมิตรต่อสภาพอากาศอย่างสมบูรณ์ ภายในปี 2030 เพราะทั้ง 2 โมเดลจะทำให้ลดการทิ้งเฟอร์นิเจอร์ไปได้จากการนำไปให้คนอื่นใช้ต่อ
แล้วผลประกอบการของ IKEA เป็นอย่างไร?
ปี 2018 รายได้ 1.4 ล้านล้านบาท กำไร 54,300 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 1.5 ล้านล้านบาท กำไร 67,000 ล้านบาท
สำหรับประเทศไทย IKEA เข้ามาเปิดสาขา ตั้งแต่ปี 2011
โดยเป็นการร่วมทุนกันระหว่างตัวแทนของ IKEA ประเทศไทย คือ บริษัท อิคาโน่ (ประเทศไทย) จำกัด กับ บริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)
ปัจจุบัน IKEA ในประเทศไทยมี 2 สาขาใหญ่ คือ สาขาเมกาบางนา ซึ่งเป็นสาขาแรก
และสาขาที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา เวสต์เกต เป็นสาขาที่สอง ทั้งยังเป็นสาขาใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ส่วนอีกสาขาที่จังหวัดภูเก็ตจะเป็น ศูนย์บริการสั่งซื้อและรับสินค้าของอิเกีย
รายได้และกำไรของ บริษัท อิคาโน่ (ประเทศไทย) จำกัด (IKEA ประเทศไทย)
ปี 2018 รายได้ 5,946 ล้านบาท กำไร 52 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 6,154 ล้านบาท กำไร 133 ล้านบาท
ก็น่าสนใจเหมือนกันว่า
ถ้า IKEA ในประเทศไทย เริ่มให้บริการธุรกิจลีสซิ่งเฟอร์นิเจอร์ และธุรกิจขายเฟอร์นิเจอร์มือสอง จะตอบโจทย์คนไทยมากแค่ไหน
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ
ปัจจุบัน แม้ว่า IKEA จะเป็นบริษัทขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่นักลงทุน ไม่สามารถร่วมเป็นเจ้าของ IKEA ได้ เนื่องจาก IKEA ไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
และในปี 2019 ตระกูลคัมพรัด ของคุณอิงวาร์ ผู้ก่อตั้ง IKEA ก็มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 2.3 ล้านล้านบาท เลยทีเดียว..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์มของแหล่งรวมนักคิด
ที่ช่วยอัปเดตสถานการณ์ ในรูปแบบบทความ วิดีโอ
รวมไปถึงพอดแคสต์ ที่มีให้ฟังระหว่างเดินทางด้วย
ลองใช้กันที่ Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.