กรณีศึกษา ธุรกิจจัดอันดับเครดิต ที่ครองตลาดโดย 3 ราย

กรณีศึกษา ธุรกิจจัดอันดับเครดิต ที่ครองตลาดโดย 3 ราย

28 ต.ค. 2020
กรณีศึกษา ธุรกิจจัดอันดับเครดิต ที่ครองตลาดโดย 3 ราย /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงตลาดที่มีผู้แข่งขันน้อยรายในวงการการเงินโลก
หลายคนคงนึกถึง Big 4 แห่งวงการตรวจสอบบัญชี
ที่มี Deloitte, PwC, EY และ KPMG เป็นรายใหญ่ในตลาด
แต่รู้หรือไม่ว่า มีอีกตลาดที่ถูกครองโดยบริษัทเพียง 3 ราย
นั่นก็คือ ตลาด “จัดอันดับเครดิต”
3 บริษัท ที่ว่านี้คือบริษัทอะไรบ้าง
แล้วอะไรที่ทำให้ 3 บริษัทนี้ ยึดพื้นที่ในตลาดจัดอันดับเครดิตได้เกือบทั้งหมด?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
╚═══════════╝
บริษัทจัดอันดับเครดิต หรือ Credit Rating Agencies (CRAs)
บริษัทเหล่านี้ทำหน้าที่จัดอันดับความสามารถในการชำระหนี้คืน ของตราสาร หรือผู้ออกตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ เช่น หุ้นกู้, พันธบัตรรัฐบาล
การจัดอันดับ จะออกมาในรูปแบบของ “เรตติ้ง” ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ ของผู้ออกตราสารทางการเงินนั้นๆ
โดยเรตติ้งจะเริ่มตั้งแต่ระดับสูงสุดที่ AAA คือ ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระน้อยที่สุด
ไปจนถึง D คือ มีโอกาสสูงในการผิดนัดชำระ
(แต่ละบริษัท อาจมีการแบ่งระดับเรตติ้งแตกต่างกัน)
นอกจากการให้เรตติ้งกับตราสารทางการเงิน
บริษัทเหล่านี้ ยังสามารถให้เรตติ้งกับรัฐบาลประเทศต่างๆ
เพื่อสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้คืนของประเทศนั้นๆ ด้วย
คำถามต่อมาคือ แล้วบริษัทจัดอันดับเครดิตเหล่านี้ ทำรายได้อย่างไร?
รายได้หลักๆ ของธุรกิจนี้มาจาก
1. รายได้จากการ “เก็บค่าธรรมเนียมในการประเมินเครดิต” จากผู้ออกตราสารทางการเงิน
2. รายได้จากการ “ขายข้อมูลเครดิต” ที่ได้จากการรับประเมิน และข่าวสารต่างๆ ให้กับนักลงทุนหรือผู้ที่ต้องการข้อมูล ผ่านบริการอย่างเช่น ระบบสมาชิก (Subscription)
ที่น่าสนใจคือ ส่วนแบ่งทางการตลาดกว่า 95% ของตลาดจัดอันดับเครดิต ถูกครอบครองโดยบริษัทเพียง 3 ราย เท่านั้น
บริษัท 3 รายที่ว่า นั่นก็คือ
1. S&P Global Ratings
2. Moody’s Investors Service
3. Fitch Ratings
โดย S&P Global Ratings และ Moody’s Investors Service ครองส่วนแบ่งในตลาดนี้รวมกันประมาณ 80% และ Fitch Ratings ครองสัดส่วนอีก 15% ส่วนที่เหลืออีก 5% เป็นบริษัทอื่นๆ
ตลาดที่มีบริษัทใหญ่ๆ เพียงไม่กี่รายครองส่วนแบ่งเกือบทั้งตลาดแบบนี้ เราเรียกว่า “ตลาดผู้ขายน้อยราย (Oligopoly)”
ซึ่งจุดเด่นอย่างหนึ่งของตลาดผู้ขายน้อยราย
คือบริษัทไม่กี่รายที่เป็นผู้ครองตลาด
สามารถสร้างสิ่งที่ทำให้บริษัทรายอื่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้ยาก
สิ่งนี้เรียกว่า “Barrier to Entry”
และ Barrier to Entry ของตลาดประเมินเครดิตนี้ ก็คือ “ชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ”
แล้วบริษัทเหล่านี้สร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือขึ้นมาอย่างไร?
ถ้าลองมาดูปีที่บริษัทเหล่านี้เริ่มทำธุรกิจ
- Standard and Poor’s มีจุดเริ่มต้นในปี 1860 หรือเมื่อ 160 ปีที่แล้ว
- Moody’s มีจุดเริ่มต้นในปี 1909 หรือเมื่อ 111 ปีที่แล้ว
- Fitch มีจุดเริ่มต้นในปี 1914 หรือเมื่อ 106 ปีที่แล้ว
จะเห็นว่า ทั้ง 3 บริษัท มีประสบการณ์มากกว่า 100 ปี
ซึ่งเราก็อาจสรุปได้ว่า ระยะเวลาในการดำเนินธุรกิจเป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยสร้างชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือให้กับทั้ง 3 บริษัท
ตรงนี้เองที่เป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้บริษัทจัดอันดับเครดิตที่เพิ่งก่อตั้งรายอื่นเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งได้ยาก
เพราะบริษัทที่จะมาใช้บริการในการประเมินเครดิต ก็จะเลือกใช้ 3 บริษัทนี้เป็นอันดับแรกๆ
แต่อีกมุมหนึ่ง การที่ 3 บริษัทนี้มีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือสูง มันก็มีประเด็นในด้านลบเกิดขึ้นเหมือนกัน
หลายครั้งที่บริษัทเหล่านี้ถูกกล่าวหาว่าให้เรตติ้งสูงเกินควรกับลูกค้าบางรายเพื่อแลกกับผลประโยชน์ เพราะไม่ว่าบริษัทไหน ก็อยากได้เรตติ้งที่ดีจากบริษัทจัดอันดับเครดิตชั้นนำกันทั้งนั้น
ถ้าใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง The Big Short
ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเกิดวิกฤติสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ หรือวิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2008
จะเห็นว่าบางช่วงในภาพยนตร์ พยายามนำเสนอว่าบริษัทจัดอันดับเครดิตเหล่านี้ ให้เรตติ้งกับตราสารทางการเงินที่มีสินเชื่อบ้านหนุนหลังในระดับที่สูงจนเกินไป และนำมาซึ่งปรากฏการณ์ฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ แตกในที่สุด
พอเป็นแบบนี้ หลายๆ ประเทศจึงมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาดูแลการดำเนินงานของบริษัทจัดอันดับเครดิต ให้รัดกุมมากขึ้น
อย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา หลังจากเกิดวิกฤติซับไพรม์ ก็มีการปฏิรูปกฎหมายสำหรับควบคุม และตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทจัดอันดับเครดิตให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น เช่น กำหนดให้บริษัทจัดอันดับเครดิตต้องเปิดเผยขั้นตอนและวิธีการของการประเมินเครดิตอย่างละเอียดให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีประเด็นในแง่ลบหลายครั้ง
แต่บริษัทจัดอันดับเครดิตรายใหญ่ทั้ง 3 เจ้านี้ ก็ยังครองตลาดนี้ได้เกือบ 100% ในปัจจุบัน
สรุปแล้ว ที่บริษัทจัดอันดับเครดิตทั้ง 3 แห่งสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดนี้ได้
สาเหตุหลักมาจากชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือ ที่สร้างขึ้นจากการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน
จนทำให้ไม่ว่าใครๆ ก็อยากได้การจัดอันดับเครดิตจาก 3 บริษัทนี้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับตนเอง
และเรื่องที่น่าสนใจของธุรกิจประเภทนี้คือ
ตราบใดที่สินทรัพย์ทางการเงินยังคงต้องการการรับรองความน่าเชื่อถือ
บริษัทจัดอันดับเครดิตเหล่านี้ ก็คงจะทำรายได้ต่อไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นเอง..
----------------------
อีกครั้งกับกรณีศึกษาธุรกิจมากมายที่จะช่วยเปิดกว้างมุมมองความรู้ของคุณ
ใน ลงทุนแมน 13.0 เล่มล่าสุด สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่
Lazada: https://www.lazada.co.th/products/130-i1587474257-s4309842746.html
Shopee: https://shopee.co.th/Longtunman-หนังสือลงทุนแมน-13.0-i.116732911.7453767586
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.