บางสินค้าขึ้นราคา ก็ยังขายได้ แต่ทำไมบางสินค้า กลับขายไม่ได้

บางสินค้าขึ้นราคา ก็ยังขายได้ แต่ทำไมบางสินค้า กลับขายไม่ได้

8 พ.ย. 2020
บางสินค้าขึ้นราคา ก็ยังขายได้ แต่ทำไมบางสินค้า กลับขายไม่ได้ /โดย ลงทุนแมน
เคยรู้สึกไหมว่า ทำไมบางครั้งเวลาสินค้ามีราคาแพงขึ้นเพียงเล็กน้อย เรากลับไม่ต้องการซื้อสินค้านั้นแล้ว แต่กับสินค้าบางชนิด ต่อให้ราคาแพงขึ้นแค่ไหน เราก็ยังยินดีที่จะจ่ายเพื่อซื้อสินค้านั้นมา
เช่น ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ระบาดหนัก
ราคาของหน้ากากอนามัยแพงขึ้นเป็น 10 เท่า จากเดิมราคากล่องละไม่กี่สิบบาท พอเจอโควิดราคากลับพุ่งไปเป็นหลายร้อย แต่ความต้องการซื้อก็ยังคงสูงอยู่จนสินค้าขาดตลาด
ในทางกลับกัน หากราคาข้าวกะเพรา เพิ่มขึ้น 10 เท่า ความต้องการซื้ออาจจะลดลงไปอย่างมาก
หรือบางคนอาจจะหาสิ่งทดแทนได้ เช่น ข้าวมันไก่
แล้วทำไมเราถึงมีความต้องการต่อสินค้าแต่ละประเภทต่างกัน
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
เรื่องนี้สามารถอธิบายได้ด้วยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เรื่อง Price Elasticity of Demand หรือความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา
เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า อุปสงค์ คืออะไร
อุปสงค์ ก็คือ ความต้องการในการซื้อสินค้า และความสามารถในการซื้อสินค้านั้นได้
เช่น หากเรามีความต้องการซื้อไอโฟน 12 ในราคา 30,000 บาท
แต่เรามีเงินไม่พอ ในกรณีนี้ เราจะไม่นับว่า ความต้องการซื้อของเราเป็นอุปสงค์
แต่หากเรามีความต้องการซื้อไอโฟน 12 และมีเงินพอที่จะซื้อได้
แบบนี้ถึงจะเรียกว่า อุปสงค์
แล้วทีนี้ เรามารู้จักกับความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคากัน
ความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา ก็คือ ปริมาณความต้องการสินค้าที่เปลี่ยนไป จากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้า
โดยสินค้าแต่ละชนิดก็จะมีความยืดหยุ่นที่แตกต่างกันออกไป..
เราเคยสงสัยไหมว่าทำไมสินค้าบางประเภท เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับราคาที่เปลี่ยนไปเล็กน้อย
แต่ทำไมสินค้าบางประเภท เราเต็มใจจ่ายแม้ราคาจะแพงขึ้นแบบก้าวกระโดด
โดยหนึ่งในปัจจัยที่กำหนดความยืดหยุ่นของอุปสงค์ก็คือ “ความจำเป็นของสินค้านั้นๆ”
ถ้าสินค้าไหน มีความจำเป็นน้อย สินค้านั้นก็จะยืดหยุ่นมาก
หรือพูดง่ายๆ คือ หากราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย ความต้องการซื้อจะเปลี่ยนไปมาก
เช่น ในกรณีที่บางคนมองว่า รถยนต์ เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย
เมื่อราคาของ รถยนต์แพงขึ้น ความต้องการซื้อรถยนต์ จะลดลงไปอย่างมาก
ในทางกลับกัน หากรถยนต์ ลดราคา ความต้องการซื้อรถยนต์ก็จะเพิ่มขึ้นมาก เช่นกัน
ในทางกลับกัน ถ้าสินค้าไหนที่มีความจำเป็นอย่างมาก สินค้านั้นก็จะยืดหยุ่นน้อยลง
ดังนั้น แม้ราคาสินค้าประเภทนี้จะเปลี่ยนไปมาก
แต่ความต้องการซื้อสินค้านั้นๆ จะเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อย
เช่น ในกรณีของหน้ากากอนามัยช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ทำให้เราต้องใส่หน้ากากอนามัยในชีวิตประจำวัน หน้ากากอนามัยจึงเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการป้องกันโรคระบาด
ทำให้เมื่อราคาของหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปริมาณความต้องการซื้อก็ยังคงสูงอยู่
อย่างไรก็ตาม ความยืดหยุ่นที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดเพียงชั่วคราวก็ได้
ยกตัวอย่างเช่นในปีหน้า หากโรคระบาดโควิด 19 ได้จบลงแล้ว
ความจำเป็นของหน้ากากอนามัยก็มีแนวโน้มที่จะลดลง
ดังนั้นเทคนิคทางการตลาดอาจเอาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์นี้มาใช้ได้
เช่น การสร้างสิ่งที่ชวนเชื่อให้เห็นว่าสินค้านั้นจำเป็นต่อพวกเขา
ตัวอย่างก็คือ การสร้างแบรนด์ที่ทำให้ทุกคนเชื่อว่าใครๆ เขาก็มีสินค้าประเภทนั้นกัน
เมื่อคนที่ไม่มี ก็ไม่อยากพลาด และคิดว่ามันจำเป็นต้องมี ซึ่งเขาก็ยอมจ่ายในราคาที่สูง
หรืออีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ การบรรยายสรรพคุณว่าสินค้านั้น ประกอบไปด้วยสิ่งที่จำเป็นต่อร่างกาย
ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ บี ซี หรือ แร่ธาตุอะไรก็ตามแต่
ที่ทำให้คนคิดว่าพวกเขาจำเป็นต้องได้รับ
ถึงแม้ว่าตั้งราคาแพงแค่ไหน ถ้าเขาเชื่อว่ามันจำเป็น เขาก็จะยอมจ่าย
พออ่านมาถึงตรงนี้
ลองมองสิ่งของรอบตัวเรา ที่เราซื้อมา
จริงๆ แล้ว เราอาจจะพบว่า ที่เรายอมจ่าย
มันอาจเป็นสิ่งจำเป็น ที่คนอื่นหลอกว่ามันจำเป็น ก็เท่านั้นเอง..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.