รู้จัก สุขภัณฑ์ American Standard ที่คนอเมริกัน ไม่ได้เป็นเจ้าของ

รู้จัก สุขภัณฑ์ American Standard ที่คนอเมริกัน ไม่ได้เป็นเจ้าของ

18 พ.ย. 2020
รู้จัก สุขภัณฑ์ American Standard ที่คนอเมริกัน ไม่ได้เป็นเจ้าของ /โดย ลงทุนแมน
หากเราไปเข้าห้องน้ำตามห้างสรรพสินค้า
หนึ่งในแบรนด์สุขภัณฑ์ที่เราพบ น่าจะมีชื่อของ American Standard
รู้หรือไม่ว่าแบรนด์ดังแบรนด์นี้เป็นหนึ่งในแบรนด์สุขภัณฑ์ที่เก่าแก่ ทำธุรกิจมาแล้วกว่า 145 ปี
หากเทียบกับประเทศไทยในยุคนั้น ก็คือสมัยรัชกาลที่ 5
เป็นยุคที่ประเทศไทยของเรามีทางรถไฟสายแรก
แม้ว่า American Standard จะแปลตรงตัวได้ว่า มาตรฐานอเมริกัน
แต่แท้จริงแล้ว ไม่ได้มีผู้ก่อตั้งเป็นคนอเมริกัน
แล้วตอนนี้คนอเมริกันก็ไม่ได้เป็นเจ้าของ
สรุปแล้วแบรนด์นี้มีต้นกำเนิดมาจากใคร
แล้วยังมีเรื่องราวอะไรน่าสนใจอีกบ้าง?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ย้อนกลับไป 145 ปี หากเราพูดถึงสิ่งที่เป็นนวัตกรรมในยุคนั้น
จะไม่ใช่รถยนต์ไฟฟ้า นวัตกรรม 5G
แต่เป็นเรื่องของ “สุขภัณฑ์” หรือสิ่งของที่ใช้ในห้องน้ำ..
โดยแบรนด์ American Standard ก็ได้มีจุดเริ่มต้นมาจากชาวไอริช 2 คน ก็คือ James Arnott และ Francis J. Torrance ที่ได้ก่อตั้งบริษัท Standard Manufacturing ขึ้นเพื่อผลิตเหล็กหล่อสำหรับสุขภัณฑ์ อ่างล้างหน้า และ อ่างอาบน้ำ ในปี 1875
หลังจากเป็นผู้ผลิตเหล็กหล่อมา 8 ปี Standard Manufacturing ก็ได้ประดิษฐ์ “สารเคลือบสีขาวบนสุขภัณฑ์” สำหรับป้องกันแบคทีเรียและการผุกร่อน
โดยสารที่ว่านี้มีคุณสมบัติทำให้เราสะดวกต่อการทำความสะอาดผลิตภัณฑ์มากขึ้น
ซึ่งสารนี้ก็ถือเป็นนวัตกรรมในยุคนั้นเลยทีเดียว
แต่ผู้ผลิตในตลาดห้องน้ำก็ไม่ได้มีแค่ Standard Manufacturing เพียงบริษัทเดียว
เพราะยังมีคู่แข่งที่ทำธุรกิจเดียวกันอีก 2 บริษัท นั่นก็คือ
บริษัท Dawes and Myler Manufacturing ที่ผู้ก่อตั้งก็เป็นอดีตพนักงานของ Standard Manufacturing และอีกบริษัทหนึ่ง คือ Ahrens and Ott Manufacturing
แต่แข่งกันได้ไม่นาน ทั้ง 3 บริษัทกลับตัดสินใจที่จะควบรวมกิจการกันเป็น Standard Sanitary Manufacturing ในปี 1899
โดยการควบรวมครั้งนั้นจึงทำให้ Standard Sanitary Manufacturing กลายมาเป็นผู้ผลิตสินค้าสุขภัณฑ์
รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมียอดผลิตอ่างอาบน้ำ 150 ชิ้นต่อวัน..
และก็ดูเหมือนว่า Standard Sanitary Manufacturing ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นผู้ผลิตสุขภัณฑ์
ในปี 1929 ทางบริษัทก็ได้ตัดสินใจควบรวมกิจการอีกครั้ง
คราวนี้เป็นการควบรวมกับ American Radiator บริษัทผลิตอุปกรณ์ทำความร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ทำให้ทั้งสองบริษัทมีชื่อว่า American Radiator and Standard Sanitary Corporation
ซึ่งภายหลังก็ได้กลายมาเป็น American Standard ที่เรารู้จักกันในยุคปัจจุบัน นั่นเอง..
American Standard ก็ได้เติบโตมาตั้งแต่ยุคหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง
เพราะอุตสาหกรรมบ้านและที่อยู่อาศัยฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ American Standard ก็ได้หันมาผลิตอุปกรณ์สำหรับห้องครัว เช่น อ่างล้างจาน เครื่องล้างจาน เครื่องคัดแยกขยะระบบไฟฟ้า ก๊อกน้ำ รวมถึงชักโครกกำจัดกลิ่น และก็ได้ขยายกิจการไปกว่า 20 ประเทศทั่วโลก
แม้ว่าช่วงหนึ่ง American Standard จะเผชิญเข้ากับวิกฤติน้ำมัน แต่บริษัทก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสินค้าสุขภัณฑ์ยังเป็นสินค้าที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น และทางบริษัทไม่ได้มีอัตราการเติบโตแบบแต่ก่อน
ทำให้ท้ายที่สุดแล้ว American Standard Companies จึงได้ตัดสินใจปรับโครงสร้างบริษัท
และนำไปสู่การขายส่วนธุรกิจ Bath and Kitchen ออกไป ซึ่งนั่นก็รวมไปถึงธุรกิจสุขภัณฑ์แบรนด์
American Standard
หลังจากนั้นมา American Standard ก็ได้ถูกขายกิจการต่อเนื่องไปอีกหลายครั้ง
จนปัจจุบันก็ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ Lixil Group บริษัทญี่ปุ่นที่เป็นหนึ่งในผู้นำอุตสาหกรรมด้านที่อยู่อาศัย และอาคารระดับโลก
ถึงตรงนี้ เราก็คงสรุปได้ว่า American Standard ก็ถือเป็นหนึ่งในแบรนด์
ที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน และก็ได้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมานับครั้งไม่ถ้วน
และแม้ว่าวิกฤติจะทำให้แบรนด์ ต้องถูกขายออกไป และเปลี่ยนมือไปแล้วหลายครั้ง
แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ และไม่เคยเปลี่ยนไป
ก็คือความแข็งแกร่งของแบรนด์ American Standard
ที่ยังอยู่ได้มากว่า 145 ปี..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.