ทำไม เงินเฟ้อต่ำ ถึงทำให้ เงินบาทแข็ง

ทำไม เงินเฟ้อต่ำ ถึงทำให้ เงินบาทแข็ง

10 ธ.ค. 2020
ทำไม เงินเฟ้อต่ำ ถึงทำให้ เงินบาทแข็ง /โดย ลงทุนแมน
เงินบาทกำลังกลับมาแข็งค่าอีกครั้งหนึ่ง
กำลังเป็นเรื่องที่หลายคนและหลายฝ่ายกำลังจับตามอง
เพราะการที่เงินบาทแข็งค่า คือเท่ากับว่า
สินค้าและบริการของไทย จะแพงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ
ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับผู้ส่งออก และการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาไทยในอนาคต
การแข็งค่าของเงินบาทเกิดมาจากหลายปัจจัย
และปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจ คือ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำมาอย่างต่อเนื่องของประเทศไทย
ทำไมเงินเฟ้อต่ำ ถึงทำให้เงินบาทแข็งค่าได้?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ค่าเงินบาทอยู่ที่ประมาณ 29 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะอ่อนค่าลงไปประมาณ 33 บาท ในช่วงไตรมาสที่ 2
ที่ช่วงนั้นเงินบาทอ่อนค่าลงก็เนื่องมาจาก ความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติขายทั้งหุ้นและตราสารหนี้ในตลาดการเงินของไทยรวมกันกว่า 324,400 ล้านบาท
ซึ่งหลายคนคิดว่าการขายเงินลงทุนของต่างชาติและนำเงินกลับไปประเทศของพวกเขา จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง
แต่รู้ไหมว่า ตอนนี้ ค่าเงินบาทกำลังแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด 19 ในประเทศไทยแล้ว
หนึ่งในสาเหตุหลักที่นักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า ทำให้เงินบาทแข็งค่า แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างช้าๆ ก็ตาม นั่นคือ “อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ต่ำมาเป็นเวลานาน”
ในทางเศรษฐศาสตร์ เงินเฟ้อ หมายถึง การด้อยค่าลงของเงินสกุลนั้น ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าภายในประเทศ
ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพคือ
ถ้าปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 5% แล้วเราถือเงินเอาไว้เฉยๆ ในมือ 100 บาท
ในปีหน้า เงินที่อยู่ในมือของเรา จาก 100 บาท จะด้อยค่าลงเหลือเพียง 95 บาท
ถ้ามองในมุมมองของนักลงทุน ประเทศไหนที่เงินเฟ้อสูงนักลงทุนจะไม่ค่อยอยากถือครองเงินสกุลนั้น
เพราะเงินจะด้อยค่าลงอย่างมากถ้าหากถือเงินไว้เฉยๆ หรือนำเงินไปลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนไม่มากพอ
ซึ่งพอคนไม่อยากถือเงินประเทศนั้น สุดท้ายค่าเงินของประเทศนั้นก็จะอ่อนค่าลง
ในทางตรงกันข้าม ประเทศไหนที่เงินเฟ้อต่ำ เงินจะด้อยค่าเพียงเล็กน้อยถ้าถือเงินเอาไว้ ซึ่งจะดึงดูดให้นักลงทุนจากต่างประเทศนำเงินมาแลกเป็นสกุลเงินนั้นมากขึ้น และจะทำให้เงินของประเทศนั้นแข็งค่าในที่สุด
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือ เวเนซุเอลา ประเทศที่ประสบภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรง จนทำให้เงินโบลิวาร์ไม่ต่างจากแผ่นกระดาษที่ไร้ค่าในช่วงที่ผ่านมา
ปี 2016 อัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลาเท่ากับ 255% ขณะที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 9.9 โบลิวาร์
ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อในเวเนซุเอลา สูงถึงประมาณ 15,000%
ทำให้ค่าเงินโบลิวาร์อ่อนค่าลงอย่างหนักไปอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 915,400 โบลิวาร์
พอเรื่องเป็นแบบนี้ก็ไม่มีใครอยากถือครองเงินสกุลโบลิวาร์
ตัดกลับมาที่ประเทศไทย ที่ในช่วงที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อของประเทศนั้นถือว่าต่ำมาก
ปี 2018 อัตราเงินเฟ้อของไทยเท่ากับ 1.1%
ปี 2019 อัตราเงินเฟ้อของไทยเท่ากับ 0.7%
และในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2563 อัตราเงินเฟ้อของไทยนั้นเท่ากับ -0.9%
โดยปรากฏการณ์เงินเฟ้อติดลบ ในทางเศรษฐศาสตร์เราจะเรียกว่า “ภาวะเงินฝืด”
ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อระดับราคาสินค้าและบริการลดลงอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ในมุมของธนาคารกลาง ผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลและควบคุมการไหลเข้าและออกของเงิน
ถ้าธนาคารกลางอยากให้ค่าเงินในประเทศอ่อนค่าลง
ก็จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ลดต่ำลง
เพื่อกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศลดลง
ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนไหลออก เพราะนักลงทุนไม่อยากได้ผลตอบแทนจากการลงทุนน้อยลง
ในทางกลับกัน ถ้าธนาคารกลางอยากให้ค่าเงินในประเทศแข็งค่าขึ้น
ก็จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เพิ่มสูงขึ้น
เพื่อดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มขึ้น
ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้า เพราะนักลงทุนอยากได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากจากประเทศนั้น
และอัตราดอกเบี้ยที่นักลงทุนมองกันก็คือ “อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate)”
ซึ่งก็คืออัตราดอกเบี้ยที่ระบุไว้ (Nominal interest rate) ลบด้วย อัตราเงินเฟ้อ
เมื่อมองไปที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ปัจจุบัน อยู่ที่ 0.5% อัตราเงินเฟ้อของไทยนั้นเท่ากับ -0.94% นั่นหมายว่า จริงๆ แล้ว อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของประเทศไทยจะอยู่ที่ 1.44%
เมื่อเทียบกับประเทศอื่น อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา
10 เดือนแรกของปีนี้ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกาเท่ากับ 1.2%
และปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อยู่ที่ 0.0% ถึง 0.25%
ดังนั้น จริงแล้วๆ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของสหรัฐอเมริกา จึงอยู่ในช่วง -0.95% ถึง -1.25% ซึ่งต่ำกว่าประเทศไทย
ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่รวมถึงประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ประมาณ 0%
จริงๆ แล้วมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็ง เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัด หรือ รายได้สุทธิที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ที่ได้จากการส่งออกสินค้า และบริการ
แต่เรื่องเงินเฟ้อต่ำ และ ดอกเบี้ยที่แท้จริง จะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ดึงดูดให้มีเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงสูงกว่า
ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
ส่งผลทำให้ค่าเงินบาทนั้นแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
และ เราก็คาดเดาได้ยากว่า เหตุการณ์แบบนี้จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่
ดังนั้นใครที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับค่าเงิน เช่น ผู้ส่งออก และผู้นำเข้า คงต้องมาวางแผนปิดความเสี่ยงเรื่องนี้ กันดีๆ..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.