จุดอ่อน ของการชี้วัดเศรษฐกิจ ด้วย GDP

จุดอ่อน ของการชี้วัดเศรษฐกิจ ด้วย GDP

21 ธ.ค. 2020
จุดอ่อน ของการชี้วัดเศรษฐกิจ ด้วย GDP /โดย ลงทุนแมน
ถ้าพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ คำแรกๆ ที่เราจะได้ยิน
คงหนีไม่พ้น คำว่า “GDP”
GDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product
ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ”
คือ มูลค่าตลาดของสินค้า และบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ
แม้ GDP จะถือเป็นตัวชี้วัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด
ในการวัดขนาด และการเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า วิธีวัดแบบนี้จะดี จนไม่มีจุดอ่อนเลย
แล้วจุดอ่อน ของการชี้วัดเศรษฐกิจ ด้วย GDP คืออะไร?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
แนวคิดเรื่อง GDP ถูกนำมาพัฒนาอย่างจริงจัง
ในปี 1934 โดย Simon Kuznets นักเศรษฐศาสตร์ชาวรัสเซียผู้อพยพไปยังสหรัฐอเมริกา
โดยหลักการคำนวณ GDP จะนับมูลค่าขั้นสุดท้ายของสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้นภายในประเทศทั้งหมด
ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าวที่มาทำงานในประเทศ ผลผลิตหรือรายได้ที่คนเหล่านั้นผลิตได้ จะถูกนำไปคำนวณใน GDP ด้วย
จริงๆ แล้ว GDP สามารถวัดได้จากทั้งด้านรายได้ และด้านของรายจ่าย
แต่เนื่องด้วยการวัดทางด้านรายจ่าย เป็นวิธีที่เป็นพื้นฐาน และทำได้ง่ายกว่า
เราจึงสามารถบอกได้ว่า รายจ่ายในด้านต่างๆ ที่มารวมเป็น GDP สามารถเขียนเป็นสมการได้คือ
GDP = C+I+G+(X-M)
C = Consumption
คือ รายจ่ายเพื่อบริโภค หรือ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
I = Investment
คือ รายจ่ายเพื่อการลงทุน เช่น การลงทุนของบริษัทต่างๆ ในประเทศ
G = Government Spending
คือ รายจ่ายของรัฐบาล เช่น การลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐ
X-M = Exports – Imports หรือ การส่งออกสุทธิ
คือ มูลค่าการส่งออกของประเทศ หักด้วย มูลค่าการนำเข้าของประเทศ
โดยถ้าหากตัวเลข GDP ที่คำนวณออกมา
ของไตรมาสนั้นหรือปีนั้น สูงกว่าช่วงเวลาก่อนหน้าที่นำมาเปรียบเทียบ
ก็จะถือว่า เศรษฐกิจ เกิดการขยายตัว
แต่ถ้าหากน้อยกว่า ช่วงเวลาก่อนหน้าที่นำมาเปรียบเทียบ
ก็จะถือว่า เศรษฐกิจ เกิดการหดตัว นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม แม้การใช้ GDP วัดขนาดเศรษฐกิจ
หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวาง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การวัดแบบนี้ จะ Perfect ในทุกด้าน
แล้วอะไร ที่เป็นจุดอ่อนของการวัดเศรษฐกิจ ด้วย GDP?
1. GDP ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม
GDP เป็นการรวมรายได้ของทุกคนในประเทศ โดยไม่ได้สนใจว่า ใครมีรายได้มากน้อยแค่ไหน
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ
กรณีของประเทศไทย ที่มีมูลค่า GDP ประมาณ 16 ล้านล้านบาท ในปี 2019
ซึ่งมูลค่าประมาณ 48% จาก 16 ล้านล้านบาทนั้น กระจุกตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
และถ้ายิ่งเจาะไปที่ 10 ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย ซึ่งมีทรัพย์สินรวมกันกว่า 3.3 ล้านล้านบาท
ก็จะคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5 ของมูลค่า GDP ทั้งประเทศไทย เลยทีเดียว
2. GDP ไม่ได้คำนึงถึงเรื่อง คุณภาพของสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่เสื่อมโทรม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในเรื่องนี้ คือ อินเดีย และจีน
2 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 และ 6 ของโลก
โดยจีนมีมูลค่า GDP กว่า 444 ล้านล้านบาท ขณะที่อินเดียมีมูลค่า GDP กว่า 78 ล้านล้านบาท
ในช่วงระหว่างปี 2000-2019
จีนมี GDP เติบโตปีละ 9%
ขณะที่อินเดียมี GDP เติบโตปีละ 6.5%
ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
แต่รู้ไหมว่า ทั้งจีนและอินเดียคือ ประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 และ 3 ของโลก
ปริมาณที่เพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เพียงแต่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้น แต่ยังกระทบต่อระบบนิเวศ ผลผลิตทางการเกษตร และสุขภาพของประชากรในประเทศอีกด้วย
3. GDP ไม่ได้คำนึงถึงเรื่องความสุขทางจิตใจ ของคนในประเทศ
กรณีศึกษาของประเด็นนี้ คือ ประเทศญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมูลค่า GDP กว่า 147 ล้านล้านบาท
ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก
รายได้เฉลี่ยของคนญี่ปุ่นอยู่ที่คนละประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อปี ทำให้ญี่ปุ่นถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประชากรมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศ
แต่รู้ไหมว่า ในปี 2017 ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงมากเป็นอันดับที่ 7 ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และปัญหาดังกล่าวก็ยังคงดำเนินต่อมาจนถึงปัจจุบัน
เฉพาะแค่เดือนตุลาคมปี 2020 ญี่ปุ่นมีจำนวนคนที่ฆ่าตัวตาย มากถึง 2,153 คน ซึ่งแทบไม่ต่างจากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดของญี่ปุ่นจากโควิด 19
และอีกปัญหาทางสังคมของญี่ปุ่นอย่าง “ฮิคิโคโมริ ซินโดรม” หรือโรคกลัวการเข้าสังคม ซึ่งอาจเกิดมาจากการถูกกลั่นแกล้ง หรือแรงกดดันต่างๆ ทางสังคม ซึ่งมีการประเมินกันว่า มีคนญี่ปุ่นกว่า 2 ล้านคน ที่กำลังเผชิญกับโรคนี้
จากเรื่องทั้งหมดนี้
เราจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ GDP ยังเป็นตัวชี้วัดการเติบโตเศรษฐกิจ และฐานะความเป็นอยู่ของประชากรแต่ละประเทศได้ดีกว่าตัวชี้วัดอีกหลายตัว
แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า GDP มันก็มี “จุดอ่อน” ในการนำมาใช้งาน เช่นกัน
การนำ GDP มาใช้เป็นเกณฑ์เพื่อพัฒนาประเทศเพียงมิติเดียว
มันก็อาจจะมีมุมมองด้านอื่นที่ เราอาจลืมนึกถึงไป
ถ้าให้เปรียบประเทศ เป็นครอบครัวก็คงเปรียบได้กับ
การใช้ตัววัดคือ “รายได้ของครอบครัว”
ถึงครอบครัวของเรามีรายได้มาก แต่มันไม่ได้บอกว่า การกระจายของรายได้ให้แต่ละคนในครอบครัวเป็นอย่างไร
รายได้ของครอบครัวมาก ไม่ได้แปลว่า สมาชิกทุกคนในครอบครัว ได้ทานอาหารที่ดี ได้ออกกำลังกาย ได้อยู่ร่วมกันพร้อมหน้า
และสุดท้าย รายได้ของครอบครัวที่มาก ไม่ได้หมายความว่า
เราจะมีความสุขมากตาม..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.