กรณีศึกษา ทำไมประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน watchlist ประเทศที่แทรกแซงค่าเงินของสหรัฐอเมริกา

กรณีศึกษา ทำไมประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน watchlist ประเทศที่แทรกแซงค่าเงินของสหรัฐอเมริกา

19 ธ.ค. 2020
กรณีศึกษา ทำไมประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน watchlist ประเทศที่แทรกแซงค่าเงินของสหรัฐอเมริกา /โดย ลงทุนแมน
ประเทศไทย เพิ่งถูกสหรัฐอเมริกาจัดเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกเฝ้าระวังในเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน (watchlist of currency manipulators)
เรื่องนี้ มีความเป็นมาอย่างไร
และส่งผลต่อประเทศไทยมากแค่ไหน
ลงทุนแมนจะสรุป แบบเข้าใจง่ายๆ ให้ฟัง
╔═══════════╗
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
╚═══════════╝
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่ประสบปัญหาขาดดุลการค้ากับต่างประเทศในระดับสูงมาอย่างยาวนาน
และหนึ่งในนโยบายสำคัญในช่วงหาเสียง
ของประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์
คือต้องการ ลดการขาดดุลการค้า ของสหรัฐอเมริกากับนานาประเทศลงให้ได้
เนื่องจากเขามีมุมมองว่า ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกา ถูกประเทศคู่ค้าเอาเปรียบทางการค้ามาโดยตลอด
แล้วการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา สูงแค่ไหน?
ปี 2018 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 18.8 ล้านล้านบาท
ปี 2019 สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 18.5 ล้านล้านบาท
การขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาในแต่ละปี มีขนาดใหญ่กว่า GDP ไทยทั้งประเทศเสียอีก
หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทางสหรัฐอเมริกาเชื่อว่า
เป็นต้นตอของปัญหาการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ
คือการที่ประเทศคู่ค้า พยายามแทรกแซงค่าเงิน ผ่านนโยบายของธนาคารกลางด้วยการทำให้เงินของประเทศตนเองอ่อนค่าลง จนทำให้เกิดความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศ
ลองมาดูตัวอย่างนี้ เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ระหว่างการค้าของไทย กับ สหรัฐอเมริกา
สมมติว่า บริษัทของไทยส่งออกรองเท้าไปขายในสหรัฐอเมริกา ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 30 บาท
ต่อมาเมื่อเงินบาทอ่อนค่า อัตราแลกเปลี่ยน มาอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 33 บาท
หมายความว่า ตอนนี้ผู้นำเข้าในสหรัฐฯ จะใช้เงินน้อยลงเพื่อซื้อรองเท้าจากไทย ทำให้มีการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น และผู้บริโภคสหรัฐฯ ก็ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศตัวเองน้อยลง
ในทางกลับกัน สินค้าจากสหรัฐอเมริกาเริ่มดูแพงในสายตาคนไทย ทำให้เริ่มมีการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาในประเทศไทยน้อยลง
และเมื่อเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ สุดท้ายประเทศไทยในฐานะประเทศคู่ค้า จะได้เปรียบดุลการค้ากับทางสหรัฐอเมริกานั่นเอง
พอเรื่องเป็นแบบนี้ จึงทำให้กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา มีการจัดทำรายงานเพื่อประเมิน ว่ามีประเทศคู่ค้าของสหรัฐอเมริกาประเทศใดบ้างที่มีแนวโน้มแทรกแซงค่าเงิน ให้ค่าเงินของตัวเองอ่อนค่าเกินกว่ากลไกตลาด ซึ่งรายงานดังกล่าวมีการจัดทำปีละ 2 ครั้ง
สำหรับเกณฑ์ที่ทางกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกานำมาใช้ จะมีอยู่ 3 เกณฑ์ คือ
1. มีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกามากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของ GDP ประเทศนั้น
3. มีการสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อเนื่อง ในช่วงระหว่าง 6-12 เดือน ที่ทำการประเมิน โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% ของ GDP ประเทศนั้น
โดยหากประเทศไหนเข้าเกณฑ์ทั้งหมด ก็จะถูกจัดอยู่ใน “กลุ่มประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน” ทันที
ขณะที่ประเทศไหน เข้าเกณฑ์อย่างน้อย 2 ใน 3 ข้อ จะถูกสหรัฐอเมริกาขึ้นทะเบียนเป็นประเทศที่ถูกเฝ้าระวังในการบิดเบือนค่าเงิน หรือ watchlist of currency manipulators
แล้วที่ผ่านมาสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศของไทย เป็นอย่างไร?
1. ตั้งแต่ปี 1998 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการเกินดุลการค้ามาตลอด เฉลี่ยแล้วประมาณ 4% ของมูลค่า GDP ของประเทศ
และปัจจุบัน ไทยได้เกินดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกากว่า 660,000 ล้านบาท (22,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา) ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
2. ปี 2014-2019 ประเทศไทย มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดทุกปี และเพิ่มขึ้นจาก 318,100 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,145,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า
สาเหตุหลักมาจากการเกินดุลการค้าและดุลบริการ โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ขณะที่ในปี 2019 การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทย สูงกว่า 7% ของ GDP
3. ระหว่าง มิถุนายน 2019 ถึง มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 300,000 ล้านบาท หรือ ประมาณ 1.8% ของ GDP
ซึ่งในมุมมองของสหรัฐอเมริกาอาจมองว่า
การเพิ่มขึ้นของทุนสำรองระหว่างประเทศ
อาจเกิดจากประเทศนั้นมีการเข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ และขายเงินสกุลท้องถิ่นออกมา
จนทำให้ค่าเงินท้องถิ่นนั้นอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่า กรณีของประเทศไทยยังไม่เข้าเกณฑ์ข้อที่ 3 ที่ทางกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกานำมาเป็นตัวชี้วัดว่า เป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงินของสหรัฐอเมริกา
จึงทำให้ไทย ยังถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่เฝ้าระวังเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน
เช่นเดียวกับ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินเดีย และไต้หวัน
ขณะที่ประเทศที่ถูกจัดในกลุ่มประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน ล่าสุดคือ สวิตเซอร์แลนด์ และ เวียดนาม
ถ้าไม่มีการปรับปรุงสถานภาพการค้าและการเงินระหว่างประเทศในปัจจุบัน ก็อาจโดนสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการลงโทษทางการค้ากับประเทศนั้นๆ ได้ อย่างเช่น โดนระงับสิทธิพิเศษทางการค้า
อีกคำถามที่น่าสนใจคือ แล้ววันนี้สหรัฐอเมริกา เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของประเทศไทยมากน้อยแค่ไหน
รู้ไหมว่า ในปี 2019 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกกว่า 942,000 ล้านบาท หรือประมาณ 13% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย
โดยสินค้าส่งออกของไทยที่สำคัญ ที่ถูกส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ก็อย่างเช่น เครื่องจักร, อุปกรณ์ไฟฟ้า, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องมือทางการแพทย์ รวมทั้งสินค้าเกษตรต่างๆ เช่น ข้าวสาร ผัก และผลไม้
แม้ว่าวันนี้ ประเทศไทย จะยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่สหรัฐอเมริกาเฝ้าระวัง
แต่เรื่องนี้ ก็คงทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจมีข้อจำกัด และต้องระมัดระวังมากขึ้นในการเข้าไปดูแล จัดการเรื่องค่าเงินบาทต่อจากนี้
ในการชั่งน้ำหนักว่าควรเข้าไปดูแล จัดการเรื่องค่าเงินบาทเพื่อไม่ให้แข็งค่ามากขึ้นไปกว่านี้ เพื่อดูแลภาคการส่งออกไทย
หรือยังไม่ควรใช้มาตรการใดๆ เพื่อให้เงินบาทอ่อนค่าลงในเวลานี้ เนื่องจากกำลังถูกสหรัฐอเมริกาจับตาดูประเทศไทยอย่างใกล้ชิด
ไม่ว่าจะเลือกทางไหน ก็คงเป็นเรื่องที่ท้าทาย สำหรับธนาคารแห่งประเทศไทย ไม่น้อยเลยทีเดียว..
----------------------
Blockdit เป็นแพลตฟอร์ม สำหรับนักอ่าน และนักเขียน
ที่มีผู้ใช้งาน 1 ล้านคน ลองใช้แพลตฟอร์มนี้เพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ
แล้วอาจพบว่าสังคมนี้เหมาะกับคนเช่นคุณ
Blockdit. Ideas Happen. Blockdit.com/download
----------------------
ติดตามลงทุนแมนได้ที่
Website - longtunman.com
Blockdit - blockdit.com/longtunman
Facebook - facebook.com/longtunman
Twitter - twitter.com/longtunman
Instagram - instagram.com/longtunman
Line - page.line.me/longtunman
YouTube - youtube.com/longtunman
© 2024 Longtunman. All rights reserved. Privacy Policy.